Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 01/09/2564 ]
เยียวยาอีก1เดือนแรงงาน13จว.

แจงร้านค้า'คนละครึ่ง'ไม่มีเก็บภาษีย้อนหลัง
          "ครม." ไฟเขียวทุ่ม 4.4 หมื่นล้านบาท เยียวยาแรงงาน ม.39-40 เพิ่ม 13 จังหวัดอีก 1 เดือน พร้อมเคาะเงินกู้ 4,744 ล้าน จัดซื้อวัคซีนไฟเซอร์ 9.9 ล้านโด๊ส และขยายเวลาการเบิกจ่ายค่าตอบแทนของ อสม. จากเดิมสิ้นสุดในเดือน ก.ย.เป็น พ.ย. "สรรพากร" ปัดไม่ได้เรียกเก็บภาษีย้อนหลังร้านค้าคนละครึ่ง แจง แค่แจ้งเตือนปกติหากใครรายได้ครบต้องเสียภาษีอยู่แล้ว "คปภ." ไล่บี้บริษัทประกันเร่งจ่ายประกันโควิดเจอจ่ายจบ หลังแห่ร้องเรียนเพียบเตะถ่วงจ่ายเงินล่าช้า ขู่ เอกสารครบต้องจ่าย ใน 15 วัน พร้อมลุยตรวจเข้มฐานะการเงิน 4 บริษัท หากเข้าข่ายประวิงเวลางัดกฎหมายเล่นงานหนัก
          เมื่อวันที่ 30 ส.ค. นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ซึ่งมีมติอนุมัติที่ให้ขยายกรอบวงเงิน ในโครงการเยียวยาผู้ประกันตนมาตรา 39 และมาตรา 40 ในพื้นที่ 3 จังหวัด (พระนครศรีอยุธยา ชลบุรีและฉะเชิงเทรา)  และ 16 จังหวัดล่าสุดที่ได้ประกาศเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ให้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนรายใหม่ตามระยะเวลาที่เสนอ และขยายการให้ความช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ 13 จังหวัดแรกเพิ่มเติมอีก 1 เดือน ทำให้กรอบวงเงินของโครงการเพิ่มขึ้นอีก 44,314 ล้านบาท จากเดิม 33,471 ล้านบาท เป็น 77,785 ล้านบาท
          นอกจากนี้ยังมอบหมายให้กระทรวงคมนาคม ไปพิจารณาความเหมาะสมในการจัดทำข้อเสนอ โครงการเยียวยาผู้ขับขี่รถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกิน 7 คน และรถจักรยานยนต์สาธารณะ ที่ไม่สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 เพราะมีอายุเกิน เพื่อจะได้ช่วยเหลือแรงงานที่ได้รับผลกระทบครอบคลุมทุกกลุ่ม และ ครม. ยังอนุมัติโครงการจัดหาวัคซีนไฟเซอร์ สำหรับบริการประชากรในไทยเพิ่มเติม 9,998,820 โด๊ส ของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กรอบวงเงิน 4,744.9 ล้านบาท โดยให้ใช้จ่ายจากเงินกู้ภายใต้แผนงานที่ 1 เกี่ยวข้องกับสาธารณสุขเพื่อเป็นการจัดซื้อจัดหาวัคซีนตามนโยบายรัฐบาล ที่จะจัดหาวัคซีนให้ประชาชน 100 ล้านโด๊สภายในสิ้นปี 64 หลังจากรัฐบาลได้จัดหาวัคซีนไปแล้ว 80 ล้านโด๊ส วงเงิน 22,990 ล้านบาท
          สำหรับกลุ่มเป้าหมายกำหนดไว้ 6 กลุ่ม คือ 1.เด็กอายุ 12-17 ปี 2.หญิงมีครรภ์ที่มีอายุครรภ์ตั้งแต่ 12 สัปดาห์ขึ้นไป 3.บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า (ฉีดกระตุ้นภูมิคุ้มกัน 1 เข็ม) 4.ผู้สูงอายุและผู้อยู่ในกลุ่ม 7 โรคเสี่ยงที่มีสัญชาติไทย 5.ชาวต่างชาติที่อาศัยในประเทศไทย เน้นผู้สูงอายุและโรคเรื้อรัง  6.ผู้ที่มีความจำเป็นต้องฉีดวัคซีนเพื่อเดินทางไปต่างประเทศ เช่น นักเรียน นักศึกษา และนักการทูต นอกจากนี้ ครม.ยังอนุมัติขยายเวลาการเบิกจ่ายค่าตอบแทน เยียวยา ชดเชยและเสี่ยงภัยสำหรับการปฏิบัติงานของ อสม. ในการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคในชุมชน จากเดิมสิ้นสุดในเดือน ก.ย. 64 เป็นสิ้นสุดในเดือน พ.ย.64 กรอบวงเงินไม่เกิน 1,575 ล้านบาท รวมถึงให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปลี่ยนแปลงรายละเอียดสาระสำคัญของโครงการพัฒนาศักยภาพระบบบริการสุขภาพ รองรับสถานการณ์โควิดของหน่วยงานส่วนภูมิภาค โดยขยายเวลาโครงการจากสิ้นสุด ก.ย. 64 เป็น ธ.ค. 64
          ด้านนางสมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร ระบุถึงข้อกังวลเรื่องภาษีของผู้ค้าขาย เนื่องจากกรมสรรพากรส่งแบบประเมินภาษีปี 63 ให้พ่อค้าแม่ค้าที่เข้าร่วมโครงการของรัฐบาล เช่น คนละครึ่งทำให้เข้าใจผิดว่าถูกเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง ว่า กรมสรรพากรยืนยันว่าการส่งหนังสือแจ้งเตือนผู้ประกอบการ ไม่ได้มีเป้าหมายจะเรียกเก็บภาษีจากผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการของรัฐบาลโดยเฉพาะแต่อย่างใด แต่เป็นการแจ้งเตือนผู้ประกอบการ ว่าหากมีเงินได้ถึงเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด และมีหน้าที่ต้องยื่นแบบฯเท่านั้น และไม่ได้เป็นการประเมินภาษีแต่อย่างใด ทั้งนี้การประกอบกิจการในปี 63 ผู้ประกอบกิจการที่เป็นบุคคลธรรมดา ไม่ว่าจะประกอบกิจการที่เข้าร่วมโครงการของรัฐหรือไม่ หากมีรายได้ถึงเกณฑ์มีหน้าที่ต้องนำรายได้มายื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งปีนี้ได้ขยายเวลาการยื่นแบบฯ ไปเป็นวันที่ 30 มิ.ย. 64
          ขณะที่นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาฯคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยถึงกรณีร้องเรียนปัญหาบริษัทประกันภัยบางแห่ง จ่ายเคลมประกันภัยโควิดแบบเจอจ่ายจบล่าช้า ว่า คปภ. ไม่ได้นิ่งนอนใจและได้หารือกับภาคธุรกิจประกันภัยแล้ว พบว่าปริมาณเรื่องเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน มีเข้ามามากทำให้ไม่สามารถจ่ายค่าสินไหมได้ทันท่วงที ดังนั้น คปภ. ออกคำสั่งเรื่องให้แก้ไขเพิ่มเติมคู่มือ ระบบงาน และกระบวนการดำเนินการพิจารณา และจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัย โควิด ของบริษัทประกันวินาศภัย พ.ศ. 2564 โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 64 เพื่อให้บริษัทประกันวินาศภัยปฏิบัติตาม ได้แก่ หากมีปัญหาเรียกร้องค่าสินไหมโควิด 100 เรื่องขึ้นไปให้ตั้งหน่วยงานรับการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนประกันภัยโควิดโดยตรง
          นอกจากนี้ให้บริษัทประกันภัยตรวจสอบเอกสารหลักฐาน ประกอบการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนให้เสร็จภายใน 3 วัน กรณีที่เอกสารหลักฐานครบถ้วนให้บริษัทจ่ายค่าสินไหมทดแทนภายใน 15 วัน หากเอกสารหลักฐานไม่ครบถ้วน ให้แจ้งผู้เอาประกันภัยในวันเดียวกับที่ตรวจพบ  รวมถึงกรณีที่มีปัญหาการตีความ ให้บริษัทประกันเสนอความเห็นต่อ คปภ. ภายใน 7 วันนับรวมถึงให้รายงานข้อมูลข้อร้องเรียน เกี่ยวกับประกันโควิดให้ คปภ. ทราบทุก 15 วัน ที่สำคัญ คปภ. อยู่ระหว่างตรวจสอบเอกสารหลักฐาน หากพบว่ามีเจตนาประวิงการจ่ายสินไหมทดแทน จะบังคับใช้กฎหมายลงโทษต่อไป
          นายสุทธิพล กล่าวว่า คปภ. ยังได้เข้าตรวจสอบประเมินความเสี่ยงของ 4 บริษัทประกันภัย รวมถึงกระบวนการจัดการสินไหมทดแทน ของกรมธรรม์ประกันภัยโควิดจำนวนเรื่องที่คงค้างพิจารณา พร้อมทั้งเชิญผู้บริหารชี้แจงต่อ คปภ. เกี่ยวกับฐานะการเงินและความมั่นคงของบริษัท โดยกำชับให้ปรับปรุงวิธีการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย ขณะเดียวกันได้ออกมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพ ในการบริหารจัดการเรื่องร้องเรียน เช่น การแยกเรื่องร้องเรียนออกเป็นกลุ่ม หรือหากไม่พบปัญหาเรื่องเอกสาร บริษัทต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนภายใน 3 วัน เป็นต้น
          ส่วนนายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย และนายนพพร วิฑูรชาติ นายกสมาคมศูนย์การค้าไทย กล่าวว่า หลังจากรัฐบาลผ่อนคลายห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ร้านค้า และร้านอาหารให้ เปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.นี้ สมาคมฯ ได้หารือร่วมกับภาคีเครือข่าย สำหรับเดินหน้าเปิดธุรกิจอย่างปลอดภัย และยกระดับมาตรการป้องกันและคัดกรองขั้นสูงสุด เพื่อเป็นการช่วยฟื้นฟูธุรกิจของผู้ประกอบการและร้านค้า ที่อยู่ในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า และคอมมูนิตี้มอลล์  ให้กลับมามีรายได้ และช่วยพยุงการจ้างงานของแรงงานในระบบค้าปลีกและบริการ เชื่อมั่นว่าทางรอดของเศรษฐกิจไทย คือการ กลับมาเปิดธุรกิจอย่างปลอดภัย พร้อมการรองรับของระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็ง ผนึกกับการร่วมมือของทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ผู้ประกอบการ  ร้านค้าและประชาชน ที่ปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด  ทำให้เกิดขึ้นได้จริงจะช่วยให้การเปิดเมืองเปิดห้างในครั้งนี้  ไม่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดและต้องกลับมาล็อกดาวน์อีกครั้ง.

 pageview  1204399    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved