Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 23/07/2564 ]
แนะพักคลายเส้นเหล่า WFH สยบ โฮมซินโดรม นั่งผิดท่า

 จากสถานการณ์แพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ที่พบว่ายอดผู้ติดเชื้อยังพุ่งขึ้นในแต่ละวัน มาตรการหนึ่งในการควบคุมการแพร่ระบาดคือ งดเคลื่อนย้ายบุคคล งดเดินทาง ไม่ให้เชื้อแพร่กระจายเป็นวงกว้าง ซึ่งมาพร้อมกับการขอความร่วมมือประชาชนทำงานอยู่ที่บ้าน (Work from Home) อย่างไรก็ตาม การทำงานที่บ้านทั้งโต๊ะทำงาน อุปกรณ์ หรืออาจไม่มีความพร้อมเท่าที่ทำงาน และส่งผลถึงปัญหาสุขภาพ โดยเฉพาะท่านั่งที่ไม่เหมาะสม ต่อเนื่องเป็นเวลานานอาจเป็นสาเหตุการเจ็บป่วยอื่น ๆ ได้
          ทีมข่าวชุมชนเมือง มีโอกาสพูดคุยกับ อ.ฉัตรพร เรืองทอง และ อ.พัชรพร พ่อค้าชำนาญ อาจารย์ประจำโรงเรียนวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหวและสุขภาพ คณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ถึงปัญหาสุขภาพที่เหล่าหนุ่มสาวพนักงานออฟฟิศอาจต้องเผชิญมากขึ้นในช่วงที่ต้อง ทำงานที่บ้าน โดย อ.พัชรพร มองว่าการ ทำงานที่บ้านอาจทำให้บางคนมีพฤติกรรม นั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์นานกว่าปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่พักอาศัยอยู่ในคอนโดฯ หรือที่มีพื้นที่จำกัด ส่งผลให้พฤติกรรมการลุก เดิน หรือขยับร่างกายน้อยลง
          จากพฤติกรรมเหล่านี้ส่งผลให้เกิดอาการ "ออฟฟิศซินโดรม" ปวดบริเวณคอ บ่า ไหล่ รวมทั้งอาจจะ มีอาการชาร้าวลงขาได้ สำหรับการป้องกัน หรือลดอาการออฟฟิศซินโดรม แนะนำว่าควรยืดเหยียดกล้ามเนื้อ เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นของข้อต่อและกล้ามเนื้อ อย่างน้อยทุก 1 ชั่วโมง
          นอกจากนี้ควรออกกำลังกายแบบเวตเทรนนิ่ง (การออกกำลังกายโดยอาศัยน้ำหนักตัวเป็นแรงต้าน) เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ซึ่งสามารถทำได้ง่ายที่บ้าน และไม่ต้องใช้อุปกรณ์เสริม โดยเน้นที่กลุ่มกล้ามเนื้อหลังส่วนล่าง กล้ามเนื้อก้น และกล้ามเนื้อต้นขา
          ด้าน อ.ฉัตรพร เผยเพิ่มเติมว่า การนั่งทำงานอยู่กับบ้านมักเป็นท่านั่งที่ไม่เหมาะสม เช่น การนั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ หรือนั่งอยู่ในท่าเดิมเป็นเวลานาน โดยไม่ปรับเปลี่ยนอิริยาบถ ส่งผลให้กล้ามเนื้อมีอาการเกร็ง เกิดการตึงตัวมากเกินไป จนทำให้มีอาการปวด หรือที่เรียกว่า อาการออฟฟิศซินโดรม ซึ่งคนทั่วไปมักทราบว่าเป็นอาการปวดและเกร็งที่กล้ามเนื้อบริเวณคอ บ่า ไหล่ และอาจส่งผลให้เกิดอาการปวดศีรษะ รวมทั้งโรคไมเกรนได้ด้วย หรือลามเป็นอาการปวดร้าวและชาลงขาได้  โดยมักเกิดจากการนั่งที่ลงน้ำหนักผิดปกติ ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณลำตัวและกล้ามเนื้อบริเวณรอบข้อตะโพกเกิดการทำงานที่ไม่สมดุลกันจนปวดบริเวณหลังส่วนล่าง
          ที่สำคัญอาจเกิดการกดทับถึงเส้นประสาทบริเวณก้น ทำให้รู้สึกปวดและมีอาการชาร้าวลงขาได้ หากไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการ นั่งให้เหมาะสม ระยะยาวอาจส่งผลให้เกิดอาการปวดหลังส่วนล่าง (ตะโพก-ก้น) เรื้อรังได้
          พร้อมกันนี้ มีข้อแนะนำพื้นฐานสำหรับผู้ต้องทำงานที่บ้านให้สามารถออกกำลังกาย ดูแลตัวเองแบบง่าย ๆ ลดอาการสะสมที่อาจเกิดขึ้นจากการนั่งทำงานเป็นเวลานานได้ ดังนี้
          1. เปลี่ยนท่าทาง หรือมีการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างน้อยทุก 1 ชั่วโมง
          2. หาอุปกรณ์เสริม เช่น เบาะรองบริเวณหลังส่วนกลาง เพื่อรองรับกับความโค้งแอ่นของหลังส่วนล่างให้อยู่ในแนวปกติและช่วยลดแรงที่กดทับลงบนกล้ามเนื้อและกระดูกก้นกบ
          3. ปรับตำแหน่งท่านั่งให้ถูกต้องตามหลัก การยศาสตร์  (Ergonomics) ได้แก่
          -นั่งตัวตรง หลังชิดกับพนักพิง
          -วางข้อศอก ให้วางลงบนพนักที่วางแขน หรือวางให้อยู่ในระนาบที่ทำมุม 90 องศา และมือที่จับเมาส์ไม่ควรจะบิดข้อมือขึ้น หรือลงมากเกินไป เพราะอาจจะทำให้ปวดข้อมือได้
          -นั่งโดยวางแนวข้อเข่าให้ทำมุม 90 องศา ขณะที่เท้าต้องสามารถวางลงบนพื้นได้เต็มฝ่าเท้า (ในกรณีที่ระดับของเก้าอี้สูงจนไม่สามารถวางเท้าได้ เต็มบนพื้นควรหากล่องหรือที่วางเท้าเพิ่มเติม) ส่วนการออกกำลังกายจะเน้นท่ายืดเหยียด เสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อบริเวณก้น ตะโพก และหลังส่วนล่าง เช่น
          ท่ายืดกล้ามเนื้อบริเวณก้นและตะโพก นั่งหลังตรง ยกขาข้างหนึ่งพาดบนเข่าของขาอีกข้าง (คล้ายการนั่งไขว่ห้างผู้ชาย) จากนั้นโน้มตัวลงมาด้านหน้า ก้มหลังให้อยู่ในแนวตรง จากนั้นเปลี่ยนสลับขาที่พาด ท่านี้สามารถทำได้ทุก 1 ชั่วโมง หรือเป็นท่าพักระหว่างการทำงาน (5 ครั้งต่อข้าง ค้างไว้ครั้งละ 10 วินาที) จะรู้สึก ตึงบริเวณก้นของขาข้างที่ยกขึ้นมา
          ท่างู ยืดเหยียดกล้ามเนื้อบริเวณหน้าท้องส่วนล่างและด้านหน้าข้อตะโพก นอนคว่ำราบกับพื้น เท้าเหยียดตรงให้หลังเท้าแนบชิดกับพื้น มือทั้ง 2 ข้างวางไว้ข้าง บริเวณด้านหน้าของหัวไหล่เล็กน้อย จากนั้นหายใจเข้าพร้อมกับใช้มือทั้ง 2 ข้างดันพื้น เหยียดข้อศอกให้ยืดตรง ยกศีรษะ ไหล่ และหน้าอก สายตามองไปด้านหน้า ค้าง ไว้ 10 วินาที จากนั้นหายใจออกพร้อมกับคลายกล้ามเนื้อ และลดตัวลงราบกับพื้น (จำนวน 10-15 ครั้ง ทั้งหมด 3 เซต) จะรู้สึกตึงบริเวณหน้าท้องส่วนล่างและด้านหน้าตะโพก
          ท่าสะพานโค้ง เสริมสร้างความ แข็งแรงกล้ามเนื้อบริเวณตะโพก ด้วยการนอนราบกับพื้น ชันเข่าขึ้นทั้ง 2 ข้าง แขนวางแนบกับลำตัว หายใจเข้า พร้อมกับยกตะโพกขึ้นอย่างช้า ๆ ควบคุมให้หัวไหล่ ลำตัว และเข่าเรียงเป็นเส้นตรง เกร็งหน้าท้อง นับ 1-5 จากนั้นหายใจออกพร้อมกับลดตะโพกลงกลับสู่ท่าเริ่มต้น (จำนวน 10-15 ครั้ง ทั้งหมด 3 เซต)
          ท่ายืนย่อเข่า เสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อบริเวณต้นขา และก้น มีท่าเตรียมเริ่มจาก การยืน ขาทั้ง 2 ข้างห่างประมาณช่วงไหล่ ปลายเท้า ชี้ไปด้านหน้า ในจังหวะที่ย่อลง ให้งอเข่า งอตะโพก ลักษณะเหมือนหย่อนก้นนั่งลงบนเก้าอี้โดยหัวเข่า ต้องไม่เกินปลายเท้า ควบคุมให้แนวของหลังตรง อย่าก้มหลังหรือโค้งตัวมาด้านหน้า (จำนวน 15-20 ครั้ง ทั้งหมด 3-5 เซต)
          ท่าวอลล์สควอท เสริมสร้างความแข็งแรงกล้ามเนื้อบริเวณต้นขา และก้น ในกรณีต้องการเพิ่มความหนักและควบคุมท่าทางให้ถูกต้อง สามารถทำท่านี้ได้ โดยกำหนดให้ยืนพิงกำแพง แยกขาออกประมาณช่วงไหล่ จากนั้นย่อเข่าลง ให้ทำมุม 90 องศา (คล้ายกับท่านั่งเก้าอี้) ค้างไว้ 20-60 วินาที (ค่อย ๆ ทำการเพิ่มเวลาขึ้นไป) ทำ 3-5 ครั้ง.

 pageview  1205126    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved