Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 30/07/2563 ]
สสจ.สิงห์บุรีห่วงช่วงหน้าฝนยุงลายชุก ไข้เลือดออกระบาด

  แพทย์หญิงปาจรีย์ อารีย์รบ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสิงห์บุรี เปิดเผยเมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่า ประเทศไทยมีฝนตกในหลายพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ที่อาจทำให้เกิดมีการระบาดของโรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกาได้ โดยเฉพาะโรคไข้เลือดออก ซึ่งสถานการณ์โรคไข้เลือดออกของประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 21 กรกฎาคม 2563 พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก จำนวน 31,438 ราย เสียชีวิต 21 ราย กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ อายุ 15- 24 ปี ส่วนสถานการณ์โรคไข้เลือดออกจังหวัดสิงห์บุรี อยู่อันดับที่ 48 ของประเทศไทย โดยข้อมูล ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 23 กรกฎาคม 2563 พบ ผู้ป่วย 181 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต พบมากที่สุด ในกลุ่มอายุ 10-14 ปี กระจายอยู่ในทุกอำเภอ สูงที่สุดในอำเภออินทร์บุรี
          นอกจากนี้ ผลสำรวจลูกน้ำยุงลายจากสำนักระบาดวิทยา ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม- 19 กรกฎาคม 2563 ยังพบว่า บ้าน วัด โรงเรียน มีแนวโน้มค่าดัชนีลูกน้ำยุงลาย หรือค่าความชุกชุม ของลูกน้ำยุงลายสูงขึ้นตั้งแต่เดือนพฤษภาคม (เริ่มเข้าสู่ฤดูฝน) ซึ่งเดือนกรกฎาคม นี้ พบเกินเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด โดยบ้าน พบร้อยละ 13.95 วัดร้อยละ 5.89 โรงเรียนร้อยละ 3.92 แนวโน้มที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ นั่นหมายความว่า โอกาสการเกิดการระบาดของโรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา จะเพิ่มสูงขึ้นได้
          แพทย์หญิงปาจรีย์ อารีย์รบ กล่าวต่อไปว่า  สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสิงห์บุรี ขอความร่วมมือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และส่วนราชการทุกแห่ง ตลอดจนครู ผู้ปกครอง และประชาชน ร่วมกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ด้วยมาตรการ "3 เก็บ 3 โรค" 3 เก็บ คือ เก็บบ้าน วัด โรงเรียน ให้ปลอดโปร่งไม่ให้ยุงลายเกาะพัก เก็บขยะ เศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย โดยสำรวจทุกจุดที่มีน้ำขัง เช่น จานรองกระถาง ยางรถยนต์เก่า ภาชนะที่ไม่ใช้ ที่รองกันมด อ่างบัว อ่างน้ำ ใส่ทรายอะเบทในทุกภาชนะ ที่จำเป็นต้องรองน้ำไว้ใช้ และเก็บน้ำ ปิดให้มิดชิดหรือเปลี่ยนถ่ายน้ำทุกสัปดาห์ไม่ให้ยุงลายวางไข่ เพื่อลดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายและช่วยป้องกัน 3 โรค คือ ไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย และที่สำคัญหมั่นสังเกตอาการตนเอง และคนในครอบครัว โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง (เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว เป็นต้น) หากมีอาการไข้สูงมากโดยฉับพลัน ปวดเมื่อย หน้าแดง อาจมีผื่นขึ้นใต้ผิวหนังตามแขนขา ข้อพับ หรือมีไข้สูง 2-3 วันไม่หายหรือไม่ดีขึ้น ให้สงสัยว่าเป็นไข้เลือดออกไว้ก่อน ให้รีบไปพบแพทย์ ที่โรงพยาบาล เพื่อรับการวินิจฉัยโดยเร็ว ห้ามทานยาลดไข้แก้ปวด แอสไพริน และไอบูโพรเฟน โดยเด็ดขาด มีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลได้ที่ สถานบริการของรัฐทุกแห่ง หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422.

 pageview  1204962    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved