Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 20/03/2563 ]
งด สงกรานต์ สกัดตัวแปร เร่งสู่ระยะ3 สำเร็จ-ล้มเหลว ลุ้นความร่วมมือ


          งดหยุดเทศกาลสงกรานต์ 13-15 เม.ย. 2563 หนึ่งในมาตรการป้องกันที่ประกาศออกมาเพื่อลดความเสี่ยงการแพร่กระจายเชื้อโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ไปยังพื้นที่อื่นของประเทศ
          ในทุกปีประเทศไทยจะมีวันหยุดยาวต่อเนื่อง 2 เทศกาล ได้แก่ วันขึ้นปีใหม่และวันสงกรานต์  ข้อกังวลหลักที่ต้องงดประกาศให้เป็นวันหยุดคือเลี่ยงไม่ให้ประชาชนเดินทางออกนอกพื้นที่ หรือมีการเคลื่อนย้ายคนจำนวนมาก ๆ พร้อมกัน เพราะในจำนวนเหล่านั้นอาจเป็นผู้ติดเชื้อที่มีโอกาสแพร่กระจายเชื้อไปยังบุคคลอื่นโดยไม่รู้ตัว
          กลายเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้เชื้อกระจายสู่คนติดต่อกันเป็นวงกว้าง และรวดเร็วเกินรับมือ จนตกไปอยู่ในสถานการณ์เลวร้ายคือการแพร่ระบาดระยะ 3
          การแพร่ระบาดของโควิด-19 แบ่งออกเป็น 3 ระยะ
          ระยะที่ 1 ผู้ติดเชื้อเดินทางมาจากต่างประเทศ และมีการระบาดในวงจำกัด
          ระยะที่ 2 เริ่มมีการติดเชื้อในประเทศ  และยังสามารถสืบหาที่มาได้
          ระยะที่ 3 การระบาดเพิ่มขึ้นรวดเร็ว โดยไม่สามารถสืบหาแหล่งที่มาได้
          ระหว่างนี้เป็นที่ชัดเจนว่าประเทศไทยก้าวมาสู่ช่วงกลางของการระบาดคือ ระยะที่ 2 คือมีการระบาดในวงจำกัด และสามารถสืบสวนหาแหล่งต้นตอได้  ที่ผ่านมามีความพยายามย้ำว่าสถานการณ์ประเทศไทยยังอยู่ในระยะที่ 2  และจะพยายามชะลอสถานการณ์ให้อยู่ในระยะ 2 ได้นานที่สุด มาตรการที่ออกมาจึงมีลักษณะเกี่ยวข้องกับ "งดรวมตัว" ไม่ให้คนจำนวนมากไปอยู่ที่เดียวกัน ยับยั้งการแพร่ระบาดภายในประเทศ เสมือน "ชัตดาวน์" ทั้งการปิดสถานที่ชั่วคราว การระงับทำกิจกรรม และไม่ปิดกิจการแต่เพิ่มมาตรการป้องกัน ดังนี้
          ปิดสถานที่ชั่วคราว
          -มหาวิทยาลัย โรงเรียนนานาชาติ สถาบันกวดวิชา และทุกสถาบัน
          ปิดชั่วคราว 14 วัน ตั้งแต่วันที่ 18 มี.ค.
          -สนามม้า สนามมวย สนามกีฬา ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล
          ปิดจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย
          -สถานบันเทิง สถานบริการ ผับ นวดแผนโบราณ ฟิตเนส สปา และโรงมหรสพ ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล
          ปิดชั่วคราว 14 วัน ตั้งแต่วันที่ 18 มี.ค.
          งดกิจกรรม
          -คอนเสิร์ต งานแสดงสินค้า กิจกรรมทางศาสนา วัฒนธรรม กีฬา (ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดให้ความเห็นชอบ)
          ไม่ปิด แต่เพิ่มการป้องกัน
          -ห้างสรรพสินค้า ตลาด สถานที่ราชการ และรัฐวิสาหกิจ
          -ร้านค้า ร้านอาหาร
          -ค่ายทหาร เรือนจำ โรงเรียนต้องเพิ่มมาตรการป้องกัน หากมีการเคลื่อนย้ายระหว่างจังหวัด  แรงงานต่างด้าวต้องจำกัดการเคลื่อนย้าย
          -การเดินรถให้เพิ่มความถี่
          -สถานที่ทำงานพิจารณาการทำงานที่บ้าน หรือเหลื่อมเวลางาน
          ทั้งนี้ หากพิจารณาจากมาตรการที่ออกมา "งดหยุดวันสงกรานต์" เป็นหนึ่งตัวแปรสำคัญของการก้าวไปสู่ระยะ 3 เพราะอย่างที่รู้กันว่าวันสงกรานต์คือวันขึ้นปีใหม่ไทย ในแต่ละปีมีผู้คนออกเดินทางจากเมืองหลวง หรือหัวเมืองต่าง ๆ ที่ทำงานอยู่ มุ่งหน้าสู่บ้านเกิดไปหาครอบครัวที่กระจายทั่วประเทศพร้อม ๆ กันเกิน 10 ล้านคน
          ภาพความแออัดบนท้องถนนที่เนืองแน่นไปด้วยผู้คนทุกเส้นทางทั้งรถยนต์ รถไฟ รถทัวร์ รถตู้  เครื่องบิน หรือร้านค้า ร้านอาหาร ที่เต็มไปด้วยผู้ใช้บริการ การเฉลิมฉลองด้วยการจับกลุ่ม กินดื่ม การเล่นน้ำสงกรานต์ที่แออัด มีการสัมผัสเนื้อตัว มีกิจกรรมคอนเสิร์ต มหกรรมดนตรี ที่ล้วนเปิดช่องรวมกลุ่มคนจำนวนมากไว้ด้วยกัน ประกอบกับจำนวนวันหยุดติดต่อกันหลายวัน ยิ่งมีโอกาสคลุกคลีกันนาน
          ปัจจัยเหล่านี้เป็นอุปสรรคต่อมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคที่ยกระดับความเข้มงวดอยู่ในขณะนี้รวม 6 มาตรา  ประกอบด้วย
          1.มาตรการด้านสาธารณสุข หลักการคือป้องกันและสกัดกั้นการนำเชื้อเข้าสู่ประเทศไทย
          2.มาตรการด้านเวชภัณฑ์ป้องกัน เร่งผลิตในประเทศและจัดหาจากต่างประเทศเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการ
          3.มาตรการด้านข้อมูล การสื่อสารข้อมูลต่าง ๆ ของรัฐ
          4.มาตรการด้านต่างประเทศ จัดทีมงานดูแลคนไทยในต่างประเทศ
          5.มาตรการด้านการป้องกัน ลดโอกาสแพร่ระบาดของโรคในสถานที่มีความเสี่ยงสูง
          6.มาตรการเยียวยา กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์
          อย่างไรก็ตาม แม้จะออกประกาศงดให้วันสงกรานต์เป็นวันหยุด แต่ในสถานการณ์จริงยังไม่อาจคาดเดาผลลัพธ์ แต่อย่างน้อยก็บรรเทาและยับยั้งการเดินทางออกได้บางส่วน
          ทั้งนี้ ในช่วงสงกรานต์นอกจากปัญหาเฉพาะหน้าที่เผชิญกันอยู่  อุบัติเหตุเป็นอีกผลพวงผูกขาดมาพร้อมกันเสมอ เฉพาะ 7 วันอันตราย แต่ละปีมีความเสียหายทั้งชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินไม่น้อย สถิติย้อนหลัง 5 ปี (2555-2562) ดังนี้
          ปี 58 อุบัติเหตุ 3,373 ครั้ง เสียชีวิต 364 ราย บาดเจ็บ 3,559 ราย
          ปี 59 อุบัติเหตุ  3,447 ครั้ง เสียชีวิต 442 ราย บาดเจ็บ 3,565 ราย
          ปี 60 อุบัติเหตุ 3,690 ครั้ง เสียชีวิต 390 ราย บาดเจ็บ 3,808 ราย
          ปี 61 อุบัติเหตุ 3,724 ครั้ง เสียชีวิต 418 ราย บาดเจ็บ 3,897 ราย
          ปี 62 อุบัติเหตุ 3,338 ครั้ง เสียชีวิต 386 ราย บาดเจ็บ 3,442 ราย
          ทุกปีเทศกาลสงกรานต์มีโจทย์ความสูญเสียของประชาชนอยู่แล้ว  การร่วมมืองดเดินทางครั้งใหญ่รอบนี้จึงไม่เพียงช่วยรักษาความปลอดภัยของตัวเองแต่ช่วยลดโอกาสซ้ำเติมการแพร่ระบาดนอกพื้นที่ได้อีกทางด้วย.

 pageview  1204268    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved