Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 13/01/2563 ]
กำจัดลูกน้ำยุงลายป้องกัน 3 โรคร้าย

  ทีมเดลินิวส์ 38 article@dailynews.co.th
          ยุงลายเป็นพาหะของโรคติดเชื้อไวรัส ก่อให้เกิดโรค ต่าง ๆ มากมาย อาทิ  "โรคไข้เลือดออก" เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี แพร่เชื้อโดยยุงลายไปกัดคนป่วยไข้เลือดออก และเชื้อจะพักตัวในยุง เมื่อยุงไปกัดคนจะสามารถถ่ายทอดเชื้อจากต่อมน้ำลายไปสู่คน ซึ่งหลังจากได้รับเชื้อแล้ว 5-8 วัน จะมีอาการ ไข้สูงลอย ปวดเมื่อย เบื่ออาหาร อาจมีผื่นขึ้นตามลำตัว ต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อรักษาตามอาการ
          "โรคติดเชื้อไวรัสซิกา" เกิดจากการติดเชื้อไวรัสซิกา แพร่เชื้อโดยยุงลายที่มีเชื้อและไปกัดคน หลังจากได้รับเชื้อแล้วจะมีระยะฟักตัว 3-12 วัน  จึงจะมีอาการปวดศีรษะ เยื่อบุตาอักเสบ มีไข้อ่อนเพลีย มีผื่นแดง ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ อาจส่งผลตรงต่อระบบสมอง โดยเฉพาะเด็กที่มารดาได้รับเชื้อขณะตั้งครรภ์ ทารกอาจเกิดมามีความผิดปกติ เช่น สมองเล็ก แคระแกร็น พัฒนาการช้า
          "โรคไข้ปวดข้อยุงลาย" เกิดจากเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา แพร่เชื้อโดยยุงลายสวนและยุงลายบ้านที่มีเชื้อและไปกัดคน หลังจากได้รับเชื้อแล้วจะใช้เวลา 2-3 วัน จึงจะมีอาการป่วย โดยลักษณะอาการคล้ายไข้เลือดออก แต่จะปวดตามข้อจากอวัยวะหนึ่งไปยังอวัยวะหนึ่ง เช่น จากข้อมือ ไปข้อเท้า เลื่อนปวดไปทั้งตัวจนทำงานไม่ได้ระยะเวลานาน
          แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการรณรงค์กำจัดลูกน้ำยุงลายมาโดยตลอด แต่จากการสำรวจของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ยังพบลูกน้ำยุงลายในสถานที่สาธารณะ ได้แก่ วัด โรงเรียน โรงแรม โรงงาน มากกว่าร้อยละ 30 และชุมชนมากกว่าร้อยละ 20
          แสดงให้เห็นว่า การจัดการปัญหาโรคติดต่อนำโดยยุงลาย จำเป็นต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของชุมชนและประชาชน ในการช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในบ้าน ชุมชน และสถานที่ทำงานของตนเอง อย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการระบาดของโรคในทุกพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
          ปี 2562 ที่ผ่านมาสถานการณ์โรคติดต่อนำโดยยุงลาย เช่น โรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย สูงขึ้น โดยโรคไข้เลือดออกมีรายงานผู้ป่วยสะสม 128,964 ราย สูงกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี 2 เท่า และมีผู้ป่วยเสียชีวิต 133 ราย  ส่วนโรคไข้ปวดข้อยุงลายพบผู้ป่วยสะสม 11,484 ราย สูงกว่าปีที่ผ่านมา 3 เท่า
          ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในงานวิ่งไล่ยุง รณรงค์ชุมชนปลอดยุง ว่า ช่วงก่อนเข้าฤดูการระบาดในเดือนมกราคมถึงมีนาคม ซึ่งถือว่าเป็นช่วงเวลาทองที่สามารถตัดวงจรชีวิตยุงได้  เนื่องจากไข่ยุงลายสามารถอยู่ได้เป็นปี โดยเฉพาะตามภาชนะ เช่น โอ่ง แจกัน จานรองตู้กับข้าว จานรองกระถางต้นไม้ยางรถยนต์เก่า ถังเก็บน้ำในห้องน้ำ ที่มีน้ำขังจะมีไข่ยุงเกาะ สังเกตได้ง่าย ๆ ไข่ยุงจะเป็นขุยดำ ๆ เล็ก ๆ ติดอยู่ตามขอบ ต้องขัดไข่ยุงออก ดังนั้น ช่วงเวลานี้จึงเหมาะสมที่จะต้องช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ รวมทั้งให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ผู้นำชุมชน และประชาชน เฝ้าระวังโรคและออกสำรวจกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในชุมชนอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง
          "ขอให้ประชาชนทุกคนหันมาใส่ใจ เริ่มต้นจากดูแลบ้านตนเอง สำรวจภาชนะต่าง ๆ ไม่ให้มีน้ำขัง หากมีแม้เพียงเล็กน้อยก็สามารถเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงได้ ควรปิดฝาภาชนะให้มิดชิด หรือในแจกันดอกไม้ควรเปลี่ยนน้ำทุก ๆ 7 วัน เก็บทำลายเศษวัสดุต่าง ๆ ไม่ให้มีน้ำขัง และควรเก็บบ้านให้โปร่ง ไม่มีมุมอับที่เกาะพักของยุง ตัดวงจรชีวิตยุงลาย ลดการแพร่ระบาดของโรค ป้องกันตัวเองไม่ให้ถูกยุงกัด รวมทั้งออกกำลังกายสม่ำเสมอให้มีร่างกายแข็งแรง"
          ด้านนายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า "การวิ่งไล่ยุงเพียงวันเดียว ไม่สามารถกำจัดยุงได้ แต่จะเป็นการปลูกจิตสำนึก สร้างความตระหนักว่า ร่างกายที่แข็งแรงต้องควบคู่ไปกับสุขภาพดีไร้โรคภัยด้วย วิ่งออกกำลังกายหากเจอขยะ/ภาชนะที่สามารถรองรับน้ำเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ก็ให้ช่วยกันเก็บทำลาย เมื่อไม่มียุงลายก็จะไม่มีใครป่วยตายจากโรคไข้เลือดออก ไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา"
          กรมควบคุมโรคแนะนำมาตรการ 3 เก็บเพื่อป้องกันยุงลาย เก็บแรกคือ เก็บบ้าน ให้บ้านสะอาด ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง บ้านที่เป็นระเบียบเรียบร้อยนอกจากจะให้ความสวยงามแล้ว ก็ยังทำให้บรรยากาศมีความปลอดโปร่ง ไม่มีที่ให้ยุงลายหลบซ่อนอยู่ด้วย
          เก็บที่สองคือ เก็บขยะ เศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง กองขยะในบ้านนอกจากจะดูไม่สวยงามแล้ว เมื่อฝนตกลงมาอาจเกิดน้ำขังและกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายได้ในที่สุด เก็บสุดท้ายคือ เก็บน้ำ แหล่งน้ำในบ้านนั้นอาจกลายเป็นที่ที่ยุงลายใช้แพร่พันธุ์ได้หากไม่ดูแลให้ดี โดยเฉพาะแหล่งน้ำนิ่งที่ไม่มีการเคลื่อนไหว ต้องปิดให้มิดชิด ป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่ ควรเปลี่ยนน้ำอย่างสม่ำเสมอ หรือเลี้ยงปลาหางนกยูงในแหล่งน้ำเพื่อกำจัดลูกน้ำยุงลาย.

 pageview  1204511    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved