Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 14/01/2563 ]
ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสร้างสมดุลสุขภาพ

"อาหาร" หนึ่งในปัจจัยสี่เป็นสิ่งจำเป็นที่ไม่อาจขาดไปได้ และในความจำเป็นนี้จะทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์และมีคุณค่าอย่างที่สุด
          ปัจจุบันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ไม่ว่าจะเป็น โรคเบาหวาน โรคไขมันในเส้นเลือดสูง ฯลฯ ส่วนใหญ่มาจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม ไม่สมดุลกับความต้องการของร่างกาย พรชัย สว่างวงค์ แพทย์แผนไทยปฏิบัติการ โรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน (ยศเส) กระทรวงสาธารณสุขให้ความรู้ แนะนำการดูแลสุขภาพ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมรับประทานอาหาร แนะนำการรับประทานผักพื้นบ้านในชีวิตประจำวัน ในกลุ่มที่มีภาวะเสี่ยงต่อระดับน้ำตาลในเลือดสูงหรือกลุ่มที่เป็นโรคเบาหวานระยะเริ่มต้น ซึ่งสอดคล้องตามหลักสาธารณสุขโดย "การป้องกันย่อมดีกว่าการรักษา"
          "เบาหวานจัดอยู่ในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เป็นปัญหาสำคัญทางด้านสาธารณสุขของโลกที่ทุกประเทศกำลังเผชิญ โรคเบาหวานเมื่อเป็นแล้วไม่ได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้อง จะก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนในหลายระบบของร่างกาย ทั้งจอตาผิดปกติจากเบาหวาน โรคไตเรื้อรัง หลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง และภาวะแทรกซ้อนที่เท้าและขา ส่งผลกระทบต่อวิถีการดำรงชีวิต ภาระเศรษฐกิจของผู้ป่วย ครอบครัว"
          จากประเด็นดังกล่าวซึ่งมีความสนใจเรื่องการส่งเสริมสุขภาพ และด้วยที่เป็นแพทย์แผนไทยประยุกต์จึงนำองค์ความรู้สมุนไพรพื้นบ้านนำมาประยุกต์ใช้ แนะนำผู้ที่มีภาวะเสี่ยงเป็น โรคเบาหวาน หรือกลุ่มที่เป็นโรคเบาหวานในระยะเริ่มต้น ที่ระดับน้ำตาลในเลือดยังไม่สูงมาก ทั้งนี้ สมุนไพรพื้นบ้าน หมายถึง พืชผักพื้นบ้าน ในท้องถิ่น ที่นำมาบริโภคเป็นผักตามวัฒนธรรมการบริโภคของท้องถิ่น จากแหล่งธรรมชาติ สวน นา ไร่ หรือปลูกไว้ที่บ้าน เพื่อสะดวกในการนำมาบริโภค อีกทั้งเป็นพืชผักที่มีคุณค่าทางด้านยาสมุนไพรรักษาโรค
          สำหรับสมุนไพรพื้นบ้านที่สามารถนำมาประกอบอาหาร เพื่อใช้ลดระดับน้ำตาลในเลือด ได้แก่ มะระขี้นก โดยมะระขี้นกมีฤทธิ์เหมือนอินซูลินและกระตุ้นการหลั่งอินซูลิน เพิ่มการใช้น้ำตาลกลูโคสในเนื้อเยื่อ โดยมะระขี้นก สามารถนำมาปรุงประกอบอาหารได้หลากหลายเมนู ทั้งนำมาผัดไข่ หรือต้มลวกจิ้มน้ำพริก ฯลฯ
          ตำลึง เป็นพืชที่ใช้รักษาเบาหวานในตำราอายุรเวทของอินเดีย สามารถนำมาแกงจืด หรือแกงเลียงได้ ขณะที่ กระเทียม สารสำคัญที่ออกฤทธิ์คือ อัลลิซิน ซึ่งจะไปกระตุ้นให้มีการหลั่งอินซูลินมากขึ้นจึงเป็นการเสริมให้มีการใช้น้ำตาลมากขึ้น ทั้งนี้สามารถรับประทานสด หรือนำไปประกอบอาหารได้
          ว่านหางจระเข้ วุ้นว่านหางจระเข้จะช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด โดยสามารถนำวุ้นจากว่านหางจระเข้มาทำเป็นลอยแก้ว หรือวุ้นแช่อิ่ม แต่มีข้อควรระวังคือ เมื่อปอกเปลือกออกแล้วต้องล้างยางสีเหลืองออกให้หมด เพราะในน้ำยางมีสารที่ทำให้แพ้ และอาจเกิดอาการท้องเสียได้
          นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างสมุนไพรพื้นบ้านที่นำมาประกอบอาหาร ใช้ทดแทนน้ำตาล ดังเช่น หญ้าหวาน โดยส่วนที่ใช้ คือ ใบ หญ้าหวานสามารถเพิ่มการตอบสนองต่อฮอร์โมนอินซูลิน สามารถใช้แทนความหวานจากน้ำตาลในการประกอบอาหาร ขณะที่ ชะเอมเทศ ใช้เป็นสารให้รสหวานทดแทนน้ำตาล ฯลฯ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งจากพืชผักใกล้ตัว ผักพื้นบ้านที่เป็นอาหารช่วยสร้างเสริมดูแลสุขภาพ
          อีกทั้งที่ต้องไม่ละเลยคือ การพักผ่อนเพียงพอ และออกกำลังกายที่เหมาะสม อีกส่วนสำคัญส่งเสริมสุขภาพแข็งแรง ไกลห่างจากการเจ็บป่วย.

 pageview  1205022    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved