Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 03/12/2562 ]
ยืดกล้ามเนื้อ ลดคลายปวดเมื่อย

    การดูแลสุขภาพผู้สูงอายุมีด้วยกันหลายด้าน การออกกำลังกาย การบริหารร่างกายนับเป็นอีกส่วนสำคัญที่จะช่วยสร้างเสริมสุขภาพความแข็งแรง หลีกไกลจากความเจ็บป่วย ...
          "ไหล่ติด" อาการเจ็บปวดที่หัวไหล่ ไม่สามารถขยับหรือเคลื่อนไหว ขยับแขนไปในทิศทางตรงกันข้ามได้ปกติ หรือแม้แต่อาการ "ปวดหลัง" นอกจากรบกวนเป็นอุปสรรค สร้างปัญหาในการดำเนินชีวิตและไม่เพียงเกิดขึ้นกับวัยผู้ใหญ่ สูงอายุ วัยทำงานก็มักเผชิญกับอาการดังกล่าว
          อาจารย์นิเวศน์ บวรกุลวัฒน์ แพทย์แผนไทยปฏิบัติการ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุขให้ความรู้ แนะนำการดูแลสุขภาพ การบริหารร่างกายยืดคลายกล้ามเนื้อสำหรับผู้สูงอายุว่า การดูแลผู้สูงอายุอย่างหนึ่งที่ต้องไม่ละเลยปฏิบัติคือ การบริหารร่างกาย ซึ่งการบริหารร่างกายควรทำทุกส่วนนับแต่ศีรษะจรดปลายเท้า โดยขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวตามความเหมาะสม ในทิศทางที่ผู้สูงอายุสามารถทำได้
          อย่างเช่น หัวไหล่ ต้องให้มีความเคลื่อนไหวบ้าง ยกแขนขึ้นลงบ้าง ไม่เช่นนั้นเมื่อมีอายุเพิ่มมากขึ้นจะยกแขนได้ยากลำบาก ยกได้ไม่สุด ทั้งนี้เพราะกล้ามเนื้อเกร็งตึง ในระยะยาวอาจส่งผลให้ "หัวไหล่ติด" ได้ ทั้งนี้จะต่างจากวัยทำงาน วัยเด็กที่มีการขยับเขยื้อน ใช้กล้ามเนื้อส่วนนี้อย่างสม่ำเสมอ ทั้งจากการเล่นกีฬา การถือของ ยกของในชีวิตประจำวัน ฯลฯ
          ในการบริหารทำได้โดย หมุนหัวไหล่ หมุนไปด้านหน้าและด้านหลัง อีกทั้งการบริหารร่างกายลักษณะนี้ยังสื่อแสดงให้เห็นถึงความสมบูรณ์ของกล้ามเนื้อ โดยถ้าต้องการหมุนไปข้างหน้า แต่ไม่สามารถทำได้หรือทำได้ยากลำบากก็แสดงให้เห็นว่ากล้ามเนื้อบริเวณนี้อาจเกิดปัญหา อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเป็นหัวไหล่ แขน หรือคอ ขณะทำการบริหารต้องค่อย ๆ ทำ โดยไม่รีบร้อน ค่อย ๆ หมุน เพราะไม่เช่นนั้นอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บขึ้นได้อย่างกรณีที่มีหินปูนเริ่มเกาะหากทำอย่างเร่งรีบ อาจทำให้แตกหักออกบาดกล้ามเนื้อด้านใน จึงควรต้องระมัดระวัง
          นิ้วมือ บริหารโดยการกำมือ-แบมือ และงอข้อศอกเข้า-ออก โดยสามารถทำไปพร้อมกันได้ รวมทั้ง นวดนิ้วมือบ้างหรือดึงนิ้วในแนวตรง ซึ่งจะทำให้กระดูกไม่เสียดสีกันและช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัวได้ดีขึ้น ส่วนข้อมือก็เช่นกันกระดกขึ้น-ลงและหมุนไปมา การบริหารร่างกายที่กล่าวมาสามารถทำได้ บ่อย ๆ ทั้งเป็นสิ่งดีสำหรับผู้สูงอายุที่จะช่วยให้เลือดลมไหลเวียนได้ดี ช่วยให้มีความสดชื่น
          "การบริหารร่างกาย อย่างการยกแขน หากทำได้เองก็ควรทำ แต่หากไม่สามารถทำได้ ก็ควรมีผู้ช่วยไม่ควรฝืน ทั้งนี้ผู้ช่วยควรช่วยเพียงแค่ประคับประคอง พยายามให้ผู้สูงอายุออกแรงด้วยตนเอง และนอกจาก แขน คอ บ่า ไหล่ การบริหารส่วน ขา ก็มีความสำคัญ อย่างเช่น หากอยู่ในท่านอน หรือก่อนลุกจากที่นอนควรบริหารด้วยการยกขาขึ้นทีละข้าง ยกงอหรือยกขึ้น หรือใช้ท่าปั่นจักรยานกลางอากาศก็ได้
          นอกจากนี้ นิ้วเท้า ข้อเท้า บริหารด้วยการหมุนไปมา หรือเกร็งนิ้ว งอเข้าและกางออก ซึ่งการเกร็งเป็นเหมือนการหดกล้ามเนื้อ ส่วนการกางออกเป็นการคลายกล้ามเนื้อจะยืดเหยียดทำให้มีความแข็งแรง ส่งผลต่อการเดินของผู้สูงอายุ ทรงตัวได้ดีขึ้น"
          นอกจากนี้มีท่าฤาษีดัดตนอีกหลายท่า โดยสามารถเลือกท่าที่ฝึกทำตามได้และพยายามบริหารร่างกายให้หลากหลายอิริยาบถ ไม่บริหารอยู่เพียงส่วนหนึ่งส่วนใด อย่างเช่น ท่าที่จะช่วย ลดคลายอาการปวดหลัง สามารถทำได้โดยประสานมือไว้ที่ส่วนอก บิดมือหงายชูขึ้นและวาดแขนลงมา จากนั้น กำมือกดนวดลงมาบริเวณเอวและค่อย ๆ กดเข้ามา ก็จะช่วยลดคลายอาการปวดหลัง และไม่ใช่แค่หลัง แต่ยังช่วยยืดคลายกล้ามเนื้อแขน บ่า ไหล่ ข้อมือ ซึ่งได้จากการชูขึ้นและวาดลง
          ส่วน อาการปวดเมื่อยตึงบริเวณน่อง หากอยู่ในท่านั่งหรือนอน สามารถบริหารด้วยการเกร็งกระดกข้อเท้าขึ้น-ลงซึ่งก็จะช่วยให้ระบบเลือดไหลเวียนดีขึ้น คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุก็จะดีขึ้น  นอกจากนี้บางอิริยาบถ พฤติกรรมที่คุ้นเคยในชีวิตประจำวันของหนุ่มสาววัยทำงาน ก็ทำให้เกิดการเจ็บป่วยได้ อย่างเช่น การนั่งทำงานนาน ๆโดยไม่ขยับ เปลี่ยนแปลงอิริยาบถก็มีส่วนทำให้เกิดการปวดเมื่อย ตึงคอ บ่าไหล่ได้
          การขยับไม่ว่าจะเป็นการเดินลุกจากที่นั่งบ้าง หรือบิดมือยืดเหยียด  หมุนคอเบา ๆ ก็มีส่วนช่วยลดคลายอาการดังกล่าวลง อย่างไรก็ตามการดูแลสุขภาพเตรียมความพร้อมไว้นับแต่เนิ่น ๆ ทั้งการออกกำลังกาย การทานอาหารและการพักผ่อนที่เพียงพอ ล้วนแต่มีความสำคัญ ส่งผลดีต่อสุขภาพทั้งสิ้น.

 pageview  1204998    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved