Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 17/09/2562 ]
ระวังภัย หัวใจเต้นช้าผิดปกติ อาจสิ้นชีพได้ รพ.สุขุมวิท ใช้ เครื่องกระตุ้น เพื่อช่วยดูแลแก้ไข

 หัวใจเต้นช้าผิดปกติ เต้นผิดจังหวะแบบเต้นช้า?!?!
          ที่ผ่านมาในหลายตอนก่อนหน้านี้ "อุ่นใจ...ใกล้หมอ" ได้เคยนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับกรณีของ "หัวใจเต้นผิดจังหวะ" ให้ท่านผู้อ่านได้เคยเห็นเคยอ่านผ่านตามาบ้างแล้ว แต่มักกล่าวถึงประเด็นการเต้นที่เป็นแบบ "สั่นพลิ้ว" หรือ "สั่นระริก" ที่เรียกคำย่อภาษาอังกฤษว่า "AF" โดยบางทีก็อาจกล่าวถึงผู้ป่วยบางรายที่เจอปัญหาหัวใจเต้นทั้งแบบ AF  สลับกับ "เต้นช้าผิดปกติ" ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ป่วยต้องเผชิญภาวะที่ หมิ่นเหม่ต่อ 'ความเป็น-ความตาย" ตราบใดที่ยังไม่มีใครช่วยหยุดการเต้นในลักษณะที่ว่านั้นได้!!!. แต่ถึงอย่างไร 'หมอจอแก้ว" ก็ได้หาข้อมูลเกี่ยวกับการตรวจรักษาปัญหาที่ว่านั้นมาถ่ายทอดให้ท่านผู้อ่านได้ทราบเป็นความรู้โดยตลอด เผื่อว่าจะไปเจอคนรู้จักมักจี่ที่อาจเจอภาวะอาการแบบนั้นก็จะได้มีช่องทางในการแนะนำช่วยเหลือให้พ้นอันตราย ก่อนที่ผู้ป่วยจะได้รับการบำบัดรักษาจากคุณหมอผู้ชำนาญการเฉพาะทางโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะในที่สุด...
          และเมื่อมาถึงวันพุธในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนนี้ 'อุ่นใจ...ใกล้หมอ" ก็มี 'ข้อมูลใหม่" เกี่ยวกับภาวะอาการที่ 'หัวใจเต้นช้าผิดปกติ" ที่เป็นภัยอันตรายอีกแบบซึ่งแตกต่างจากกรณี 'หัวใจเต้นผิดจังหวะแบบเต้นช้า" ชนิดที่ว่าเป็นคนละเรื่องเลยทีเดียว...จะมีส่วนละม้ายคล้ายคลึงอยู่บ้างก็ตรงที่ว่ามันมีโอกาสทำให้ผู้ป่วยถึงกับ 'เสียชีวิต" ได้ทั้ง 2 อย่าง!!!... ส่วนที่ว่าลักษณะอาการของภาวะ 'หัวใจเต้นช้าผิดปกติ" จะเป็นแบบใด และเพราะเหตุใดจึงทำให้ผู้ป่วยถึงกับเสียชีวิตได้ รวมทั้งมีวิธีตรวจวินิจฉัยและบำบัดรักษาอย่างไรนั้น ต้องขอเชิญติดตามอ่านเนื้อหาที่ได้มาจาก คุณหมอผู้ชำนาญการด้านอายุรกรรมโรคหัวใจและหลอดเลือด และเป็นผู้ชำนาญการเฉพาะทางหัวใจเต้นผิดจังหวะ ควบคู่ไปด้วย ซึ่งก็คือ 'นพ.อภิชัย โภคาวัฒนา" ในฐานะเป็น แพทย์ที่ปรึกษาของ 'โรงพยาบาลสุขุมวิท" นั่นเอง...
          ลักษณะอาการ...ของหัวใจเต้นช้าผิดปกติ
          คุณหมอให้ข้อมูลสรุปว่า...ส่วนใหญ่ของผู้ป่วยที่หัวใจเต้นช้าที่พบมักจะเป็นกลุ่มผู้สูงวัยอย่างน้อย 60-70 ปีขึ้นไป ซึ่งจะเกิดด้วยสาเหตุแบบหนึ่ง แต่อีกกลุ่มที่เจอมาด้วยคือ 'กลุ่มคนอายุน้อย" คือบางครั้งที่เจอจะเป็นคนอายุประมาณ 20-30 ปี ที่ปรากฏว่าหัวใจของเขาเต้นช้ามาก เพียงแต่อาจไม่พบบ่อยนัก ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มักเกิดจากการที่เขาได้รับการทำหัตถการบางอย่างที่หัวใจมาก่อนแล้ว เช่น บางคนเป็นโรคลิ้นหัวใจ หรือมีหัวใจผิดปกติบางอย่างที่ต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไข และปรากฏว่าหลังการผ่าตัดเสร็จแล้วมีหัวใจบางส่วนได้รับบาดเจ็บและนำไปสู่ภาวะหัวใจเต้นช้า หรืออีกกลุ่มหนึ่งที่สามารถเจอได้เช่นกันคือ 'ผู้ที่มีโครงสร้างไฟฟ้าหัวใจผิดปกติแต่กำเนิด" ดังนั้นเมื่อถึงช่วงอายุหนึ่งก็จะเริ่มเกิดปัญหาและเริ่มเกิดภาวะที่หัวใจเต้นช้ามาก อาการส่วนใหญ่ของคนไข้เหล่านี้คือ... เวลาออกแรงแล้วรู้สึกว่าหัวใจเต้นช้า...
          ทั้งนี้ 'คุณหมออภิชัย"  ได้เล่าถึงคนทั่วไปอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ ที่แข็งแรงสบายดี เวลาใดที่มีการออกกำลังเช่นเดินขึ้นสะพานลอย เดินขึ้นรถไฟฟ้า ชีพจรก็จะเต้นเร็วขึ้น ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับทุนสุขภาพเดิมของแต่ละคน...บางคนฟิต แข็งแรง วิ่งขึ้นทุกวันก็ได้ ซึ่งเมื่อวิ่งขึ้นเมื่อใด ชีพจรก็จะเต้นเร็วขึ้นนิดหน่อย แต่บางคนถ้าไม่ฟิตเท่าไหร่ คือไม่ค่อยออกกำลังกาย...เมื่อเดินขึ้นบันได หัวใจจะเต้นเร็วเป็นร้อยครั้งเลย แต่กลุ่มคนที่เป็นโรคหัวใจเต้นช้าไม่ว่าจะออกแรงอย่างไรชีพจรก็เต้นช้าอยู่ตลอด สังเกตได้เลยว่าเมื่อออกกำลังแล้วชีพจรของเขามักจะเร็วไม่เกิน 40 ซึ่งถือว่าช้ามาก เพราะโดยทั่วไปเมื่อใครออกกำลังแล้วชีพจรต้องเร็วขึ้น แต่เมื่อมันยังเต้นช้าอยู่อย่างนั้น สิ่งที่ตามมาคือหัวใจก็จะบีบตัวในอัตราที่ช้ากว่าคนอื่น เปรียบได้กับเวลาที่เราขับรถขึ้นเนินเราก็ต้องเร่งเครื่องให้มันเร็วขึ้น...หากเราวิ่งขึ้นเนินชีพจรก็ต้องเต้นเร็วขึ้น แต่สำหรับคนกลุ่มนี้ถึงจะเร่งจะวิ่งขึ้นไปอย่างไร ชีพจรมันก็ช้าโดยตลอดเลย ไม่ว่าจะมีสาเหตุที่เกิดขึ้นหลังการผ่าตัดก็ดี หรือเกิดจากความผิดปกติที่สร้างขึ้นมา คือหัวใจพัฒนาตัวมาไม่ดีก็ตาม พวกนี้ส่วนใหญ่มักจะไม่หายขาด เมื่อเวลาเป็นแล้วมันก็จะเป็นอย่างนั้นไปตลอดเลย บางครั้งก็เป็นตั้งแต่อายุ 20 หรือ 30 ปีก็ได้ หรือมาเป็นตอนอายุ 40 ปีก็ได้ โดยที่ส่วนใหญ่จะมีอาการหลัก ๆ คือไม่ค่อยมีแรง อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เหนื่อยเร็ว
          บางคนอาจมีอีกอาการคือหน้ามืด หมดสติ อยู่ ๆ ก็วูบ ซึ่งผู้ป่วยอายุน้อยที่คุณหมอได้เจอมาแล้วคือผู้ป่วยเด็กอายุ 16 ปี เรียนอยู่ชั้นมัธยม ที่ได้เล่าให้ฟังว่าเวลาไปออกกำลังกาย เวลาเล่นพละที่โรงเรียน จะหน้ามืดตลอด เหนื่อยเร็วตลอด ทำให้คุณครูทักว่าทำไมจึงทำกิจกรรมอะไรไม่ได้เลย ซึ่งพวกนี้บางครั้งบางทีถ้าเราไม่ใส่ใจตรวจดูเราก็ไม่รู้ บางคนจะคิดว่าเด็กใจเสาะ หรือว่าไม่ค่อยฟิต ไม่ออกกำลังกาย แต่โชคดีที่น้องเขาไปเข้าห้องพยาบาลวัดความดันโลหิตแล้ว พบว่าชีพจรเต้นช้ามาก เมื่อไปรับการตรวจจริงจังที่ โรงพยาบาลจึงรู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือ...หัวใจเขามีโครงสร้างไฟฟ้าหัวใจที่ผิดปกติ!!
          ใช้เทคโนโลยีช่วย...ควบคุมการเต้นของหัวใจ
          ถ้าจะว่าไปแล้ว...ไม่ว่าจะเป็นน้องวัย 16 รายนี้ หรือใครที่เจอปัญหาจนทำให้เกิดภาวะอาการ 'หัวใจเต้นช้าผิดปกติ" แบบเดียวกันนี้ขึ้นมาล่ะก็...'คุณหมออภิชัย" บอกเลยว่า...ต้องไปตรวจ-ไปรักษา... เพื่อให้เจ้าตัว รวมทั้งคุณพ่อ-คุณแม่ ได้รู้ว่าเขามีโรคซ่อนอยู่ไหม เพราะโรคบางอย่างแก้ไขได้...สำหรับกรณีที่ผู้ป่วยมีความพิการหรือมีความผิดปกติของทางเดินไฟฟ้าหัวใจ มีโรคหัวใจบางอย่าง หรือได้รับการผ่าตัดหัวใจมาก่อน ซึ่งหากดูแล้วไม่สามารถแก้ไขได้...คือไม่อาจฟื้นคืนได้ ปัจจุบันจะมีวิธีรักษาแบบเดียวคือ 'การฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจชนิดถาวร โดยเครื่องจะมีหน้าที่หลักคือกระตุ้นทำให้หัวใจเต้นในเกณฑ์จังหวะสม่ำเสมอ อยู่ในเกณฑ์ปกติไม่ช้าหรือไม่เร็วเกินไป...
          โดยทั่วไปแล้วเครื่องกระตุ้นที่เป็นมาตรฐานในปัจจุบันจะมี 2 แบบ ๆ แรกเป็นเครื่องชนิดที่มีสายนำสัญญาณเข้าไปในห้องหัวใจโดยตรง มีแบตเตอรี่เชื่อมต่อกับสายนี้ ส่วนที่ว่าจะฝังไว้ที่ผนังหน้าอกด้านซ้ายหรือขวาขึ้นอยู่กับความถนัดของคนป่วย...อีกแบบที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ขึ้นคือ 'เครื่องกระตุ้นหัวใจชนิดไร้สาย" มีลักษณะเป็นอุปกรณ์เล็ก ๆ เรียกว่า "ชิพ" ซึ่งจะใส่เข้าทางเส้นเลือดที่ขาและส่งไปอยู่ในห้องหัวใจโดยตรง ทำหน้าที่กระตุ้นหัวใจให้บีบตัวอยู่ในเกณฑ์สม่ำเสมอ โดยไม่มีสายนำสัญญาณ และไม่ต้องผ่าตัดหน้าอก ซึ่งเป็นอุปกรณ์ 2 แบบที่ใช้กันในปัจจุบัน เว้นแต่บางกรณีที่ปรากฏว่าเกิดภาวะหัวใจเต้นช้าตามมาหลังการผ่าตัดหัวใจเลย ซึ่งศัลยแพทย์บางท่านอาจจะผ่าตัดฝังเครื่องชนิดที่เป็นการกระตุ้นหัวใจจากภายนอกก็เป็นไปได้ แต่ส่วนใหญ่แล้วเครื่องกระตุ้นหัวใจจากภายนอกจะมีอายุการใช้งานค่อนข้างสั้น คือประมาณ 3-4 ปี หรือน้อยกว่านั้น ส่วนการใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจชนิดมาตรฐานจะอยู่ได้ 7-10 ปี ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่วางสาย ขึ้นอยู่กับการทำงานของเครื่อง...
          ทั้งนี้โดยในรายของผู้ป่วยวัย 16 ปีนั้น การผ่าตัดใส่เครื่องผ่านไปเรียบร้อยดี แต่ด้วยความที่ยังเด็กจึงต้องเน้นเป็นพิเศษเพราะจากนี้ไป แล้วเขาอาจมีกิจกรรมโลดโผนบ้าง ก็ต้องระวังเป็นพิเศษช่วง 3 เดือนแรก ซึ่ง 'คุณหมออภิชัย" สรุปว่า...
          "...จริง ๆ แล้วจุดมุ่งหวังการใส่เครื่องคือเราต้องการให้เขากลับไปใช้ชีวิตได้เหมือนปกติ คือเราไม่ได้ต้องการให้เขามาเป็นเหมือนกับคนป่วยต้องดูแลอะไรเป็นพิเศษ เราต้องการให้เขากลับไปใช้ชีวิตเป็นปกติจึงต้องเน้นในช่วง 3 เดือนแรก หลังจากนั้นก็เฝ้าระวัง ดูเรื่องแผลอย่าให้เกิดแผลขึ้นมา หรือถ้ามีก็ต้องรีบพาไปตรวจแต่เนิ่น ๆ แต่หลังจากนั้นแล้วก็ต้องไปตรวจเช็คตามนัดเพื่อให้คุณหมอได้ตรวจติดตามดูว่าเครื่องทำงานโอเคหรือไม่ อาจเป็นทุก 6 เดือน หรือ 1 ปี แล้วแต่ข้อบ่งชี้...จากนั้นก็ดูไปเรื่อย ๆ ตลอดการทำงานของเครื่อง ถ้าถึงจุดหนึ่งของแบตเตอรี่ที่เริ่มหมดแล้ว เช่นอายุเขาถึง 26 แล้วถึงเวลาที่จะต้องทำการเปลี่ยนเครื่อง ก็มาว่ากันอีกทีครับ..."
          "หมอจอแก้ว" ขอปิดท้ายด้วยการเชิญชวนท่านผู้สนใจไปร่วมงาน สัมมนาในหัวข้อ "ทำอย่างไรเมื่อต้องใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ (living with pacemaker)" ซึ่งมีกำหนดจัดที่ โรงพยาบาลสุขุมวิท ในวันอาทิตย์ที่ 29 เดือน ก.ย.นี้ โดยมี "คุณหมออภิชัย" รับบทวิทยากรมาให้ความรู้เกี่ยวกับกรณีที่ทุกท่านเพิ่งได้อ่านจาก "อุ่นใจ...ใกล้หมอ" ฉบับนี้ไปหมาดๆ แต่ต้องกระซิบว่าต้องรีบโทรฯไปสำรองจองที่นั่งให้อุ่นใจกันไว้ก่อนดีกว่าครับ...ที่หมายเลข 0-2391-0011 ต่อ 858-861.

 pageview  1204949    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved