Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 18/09/2562 ]
นวัตกรรมการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรค ช่วยให้ผู้คนมีชีวิตยืนยาว

  ทีมเดลินิวส์ 38 article@dailynews.co.th
          การพัฒนาวัคซีนมีความสำคัญมากต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของผู้คน เพราะช่วยป้องกันโรคและยุติการแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่น ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม รองอธิการบดี กำกับดูแลด้านการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า "ประเทศไทยมีศักยภาพที่จะพัฒนาวัคซีนนวัตกรรมขึ้นได้ โดยไม่ต้องรอนำเข้าจากเมืองนอกเพียงอย่างเดียว สิ่งที่สำคัญคือ ทุกภาคส่วนต้องเห็นความสำคัญและร่วมมือกันอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่วางนโยบายสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การจัดตั้งกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และการวางนโยบายเพื่อดึงดูดเอกชนที่มีความพร้อมในการลงทุนด้านการวิจัย รวมถึงนักวิจัยที่มีความสามารถและมีความกระตือรือร้นในการสร้างนวัตกรรม และท้ายสุดคือการสร้างเวทีเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยีระหว่างนักวิจัยทั่วโลก"
          สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงในการพัฒนาวัคซีนคือ จะทำอย่างไรให้ได้วัคซีนนวัตกรรมที่ดีกว่าของเดิมหรือยังไม่เคยมีมาก่อน และจะทำอย่างไร จึงจะได้วัคซีนที่มีราคาเหมาะสมและสามารถช่วยเหลือคนทุกระดับ โดยเฉพาะคนด้อยโอกาสได้
          ในงานประชุมวิชาการด้านวัคซีนระดับโลก Vaccine Congress 2019 ที่จัดขึ้นที่ประเทศไทย นอกจากจะมีการประชุมวิชาการด้านการพัฒนาวัคซีน ยังมีการมอบรางวัล 2019 Edward Jenner Lifetime Achievement Awardee ให้กับ ศาสตราจารย์รีโน รัปปูโอลี หนึ่งในผู้นำทางวิทยาศาสตร์ด้านวัคซีนระดับโลกที่อุทิศตนเพื่อความยั่งยืนของระบบสาธารณสุข และได้รับการเสนอชื่อเป็นบุคคลที่ทรงอิทธิพลที่สุดอันดับสามของโลกในสาขาวัคซีน ปัจจุบันดำรงตำแหน่งหัวหน้านักวิทยาศาสตร์และผู้อำนวยการด้านการวิจัยและพัฒนาวัคซีนของบริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น จำกัด (จีเอสเค) และศาสตราจารย์ประจำวิทยาลัยอิมพีเรียลด้วย
          ศาสตราจารย์รัปปูโอลี กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติและภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้รับรางวัล Edward Jenner Lifetime Achievement Awardee ในครั้งนี้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ทั่วโลกตระหนักถึงความสำคัญของนวัตกรรมสำหรับการพัฒนาวัคซีน
          "วัคซีนนับว่าเป็นนวัตกรรมด้านสุขภาพที่ดีที่สุดในรอบร้อยปีที่ผ่านมา เพราะวัคซีนช่วยให้ผู้คนทั่วโลกปลอดภัยจากโรคติดเชื้อหลายชนิดและมีคุณภาพชีวิตที่ดีและอายุยืนยาว ซึ่งการพัฒนาวัคซีนจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากขาดเทคโน โลยีนวัตกรรม บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ และการสนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนา ขณะนี้มีความสนใจที่จะศึกษาการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคหนองใน ซึ่งจะช่วยผู้คนกว่า 78 ล้านคนทั่วโลกที่เป็นโรคนี้ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมถึงการพัฒนาวัคซีนป้องกันเชื้อดื้อยา ซึ่งกำลังเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้นทั่วโลก"
          ศาสตราจารย์รัปปูโอลีได้ศึกษาวิจัยและริเริ่มแนวคิดการพัฒนาวัคซีนต่าง ๆ ที่ได้สร้างประวัติศาสตร์ของวงการแพทย์สมัยใหม่ และถูกนำมาใช้ในการป้องกันโรคอย่างแพร่หลาย ได้แก่ แนวคิด reverse vaccinology หรือการพัฒนาวัคซีนแบบย้อนกลับ โดยการศึกษาชุดข้อมูลพันธุกรรมของเชื้อโรคเพื่อศึกษาหาแอนติเจนหรือสารก่อภูมิต้านทานที่เหมาะสม ซึ่งเป็นการปฏิวัติการพัฒนาวัคซีนและทำให้สามารถลดระยะเวลาในการพัฒนาวัคซีน รวมถึงแนวคิด Genetic detoxification หรือกระบวนการขับสารพิษโดยใช้วิธีทางพันธุกรรม
          ซึ่งแนวคิดเหล่านี้เป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพใน การป้องกันโรคติดเชื้อที่สำคัญหลายชนิด อาทิ วัคซีนป้องกันโรคไอกรนชนิดไร้เซลล์ ทำให้ผู้ได้รับวัคซีนมีอาการข้างเคียงหลังฉีดวัคซีนน้อยลง และวัคซีนไข้กาฬหลังแอ่น เพื่อป้องกันโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ รวมถึงการคิดค้น CRM 197 ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในวัคซีนหลายชนิด เช่น วัคซีนไอพีดี (IPD) เพื่อป้องกันโรคติดเชื้อไอพีดี วัคซีนฮิบ (Hib) เพื่อป้องกันโรคไข้สมองอักเสบ วัคซีนไข้กาฬหลังแอ่น (meningococcal vaccine) และยังเป็นตัวช่วยสำคัญในการพัฒนายาเพื่อรักษาโรคมะเร็ง นอกจากนี้ ดร.รีโน ยังมีผลงานวิจัยตีพิมพ์มากกว่า 690 ผลงานในวารสารวิชาการนานาชาติ
          "ขณะนี้ทั่วโลกเกิดคำที่เรียกว่า Vaccine hesitancy หรือความลังเลใจว่าจะรับวัคซีนดีไหม หากเราปฏิเสธการรับวัคซีน โรคติดเชื้อ อีกหลายโรคอาจจะกลับมาแพร่ระบาด เช่น โรคโปลิโอ โรคฝีดาษหรือ ไข้ทรพิษ และโรคหัด จึงอยากฝากถึงทุกคนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ว่า ให้เห็นถึงความสำคัญของวัคซีนในการป้องกันโรคต่าง ๆ" ศาสตราจารย์ รัปปูโอลี กล่าวสรุป.

 pageview  1205115    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved