Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 20/09/2562 ]
ไข้เลือดออก วายร้ายระบาดในชุมชน เขตตลิ่งชัน แชมป์ยุงลายชุม-สวนเยอะ

ยุงลาย อีกหนึ่งวายร้ายฆ่าชีวิตคนเมือง โดย "โรคไข้เลือดออก" หลายคนคิดว่าเป็นโรคติดต่อ หากแต่ความจริงโรคนี้ไม่สามารถติดต่อจากคนสู่คนได้ เพียงแต่มี "ยุงลาย" เป็นพาหะนำโรค ซึ่งในปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น สาเหตุหลักมาจาก "ความรู้เท่าไม่ถึงโรค" ทำให้หลายคนเสี่ยงเป็นอันตรายถึงชีวิต
          จากสถานการณ์ไข้เลือดออกระบาดในกรุงเทพมหานคร พบว่าในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา มีผู้ป่วยถึง 4,903 ราย และเสียชีวิตแล้ว 3 ราย โดย 3 เขตในเมืองกรุงมีอัตราการป่วยสะสมโรคไข้เลือดออกสูงสุดต่อประชากรแสนคน ดังนี้ อันดับที่ 1 เขตตลิ่งชัน มีอัตราป่วย 204.67 คน อันดับที่ 2 เขตห้วยขวาง มีอัตราป่วย 161.59 คน และอันดับที่ 3 เขตพญาไท มีอัตราป่วย 159.22 คน
          นายชูชาติ สุวรรณนที ผู้อำนวยการเขตตลิ่งชัน เปิดเผยว่า จากสถิติเดือน มิ.ย.-ก.ค. ในพื้นที่พบจำนวนผู้ป่วย 100 ราย เนื่องจากเป็นเขตที่เต็มไปด้วยร่องน้ำ ร่องสวนเยอะ จึงทำให้ยุงลายแพร่พันธุ์ได้ง่าย อีกทั้งยังพบบางบ้านมีคนติดเชื้อไข้เลือดออกเลยเป็นกันทั้งบ้าน บางคนมีอาการ แต่ยังใช้ชีวิตได้ตามปกติ ออกไปทำงาน ไปโรงเรียน เพราะขาดความรู้ ความเข้าใจในเรื่องโรคไข้เลือดออก
          ทางสำนักงานเขตฯ จึงเข้าไปตรวจสอบ ควบคุมและดำเนินการแก้ไข โดยจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ในทุกวันอังคารและวันพฤหัสบดี โดยหัวหน้าส่วนและเจ้าหน้าที่ฝ่ายโยธา ฝ่ายสิ่งแวดล้อม ฝ่ายสุขาภิบาล ฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะ เจ้าหน้าที่เทศกิจ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่จะมีแผนร่วมลงพื้นที่ เพื่อเข้าไปรณรงค์ตามบ้านเรือนประชาชน มุ่งให้ความรู้เบื้องต้น อาทิ อาการเริ่มแรกหลังติดเชื้อไข้เลือดออก การรักษาในระยะเริ่มต้น การเลี้ยงปลาหางนกยูงในบ่อน้ำ-อ่างน้ำ เพื่อให้กินลูกน้ำ การคว่ำกะละมังไม่ให้มีน้ำขัง หรือหมั่นเปลี่ยนน้ำในแจกัน ที่สำคัญได้แจกยากันยุง ทรายหยอดน้ำแก่ชาวบ้าน
          นายชวินทร์ ศิรินาค ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ในช่วงหน้าฝนมีอัตราการติดเชื้อโรคไข้เลือดออกสูง ทางสำนักอนามัยฯ ได้มีการรณรงค์ในหลากหลายรูปแบบภายใต้มาตรการ "3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค" 1.เก็บบ้านให้สะอาด เพื่อไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง 2.เก็บขยะที่อยู่บริเวณรอบบ้าน และนำไปทิ้งลงถังขยะ เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ 3.เก็บน้ำ ภาชนะที่ใส่น้ำเพื่ออุปโภค บริโภค ต้องปิดฝาให้มิดชิด ล้างคว่ำภาชนะใส่น้ำ และเปลี่ยนน้ำในกระถางหรือแจกันทุกสัปดาห์ ป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่ ซึ่งจะช่วยป้องกันได้ 3 โรค คือ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย
          นอกจากนี้ยังต้องหมั่นสังเกตอาการคนใกล้ชิด หากมีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกอยู่ในรัศมีที่อยู่อาศัย 500 เมตร ควรแจ้งสำนักงานสาธารณสุขเข้าไปตรวจสอบ หลักการสำคัญที่สุดคือการกำจัดลูกน้ำยุงลาย ไม่ใช่ การพ่นหมอกควันเพื่อไล่ยุงลายตัวแก่ เพราะการกำจัดลูกน้ำถือเป็นการป้องกันการเกิดยุงลายที่ดีที่สุด หากพบแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายสามารถติดต่อได้ที่ศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 68 แห่งทั่วกรุงเทพมหานคร
          เพียงแค่คุณปฏิบัติตามที่ได้กล่าวมาก็จะสามารถช่วยป้องกัน "โรคไข้เลือดออก" ในชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 pageview  1204386    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved