Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 19/08/2562 ]
หน้าฝนระวังให้ดี! ไวรัส RSV เล่นงานลูกน้อย รพ.รามคำแหง เตือนอาจไม่ใช่ปอดบวม-ต้องตรวจ

    พบในเด็กอ่อนกว่า 2 ขวบแต่ควรต้องรู้ไว้ 5 ขวบก็เจอ
          หน้าฝนทีไรเป็นต้องมีโรคภัยไข้เจ็บมาเล่นงานให้มีอันต้องล้มหมอนนอนฟูก ส่วนใหญ่หนีไม่พ้นเป็นหวัด...คัดจมูก...น้ำมูกไหล ซึ่งเป็นสูตรสำเร็จ...ที่หากเกิดกับผู้ใหญ่หรือใครที่มีภูมิต้านทานสูงก็พอเอาตัวรอดได้ไม่ยาก...แต่ถ้าเป็น "เด็กเล็ก" ล่ะก็...คนที่ต้องเหนื่อยคือพ่อ-แม่ ที่ต้องอดหลับอดนอนคอยเฝ้าไข้ลูกน้อย ยิ่งหากอ่อนกว่า 2 ขวบจะยิ่งต้องเพิ่มความระวังเจ้าไวรัส "Respiratory Syncytial Virus" ที่เรียกย่อ ๆ ว่า "RSV"  ที่อาจจะมาแพร่ระบาดสร้างความปั่นป่วนให้ต้องกังวล ต้องพาลูกไปพึ่ง 'กุมารแพทย์" ซึ่ง จะมีข้อมูลความรู้และประสบการณ์รับมือกับเจ้าไวรัส 'ตัวแสบ" นี้ได้เป็นอย่างดี...
          "อุ่นใจ...ใกล้หมอ" พุธนี้ขอพาคุณพ่อ-คุณแม่ รวมทั้ง ผู้ปกครอง ไปติดตามข้อมูลจาก "ผศ.นพ.อรรถพล เอี่ยมอุดมกาล" กุมารแพทย์ผู้ชำนาญการโรคระบบทางเดินหายใจในเด็ก ประจำ "โรงพยาบาลรามคำแหง" เพื่อจะได้ทราบความแตกต่างของอาการที่เกิดขึ้นกับหนูน้อยที่ติดเชื้อไวรัส RSV กับการติดเชื้อไข้หวัด ได้อย่างชัดแจ้ง โดย 'คุณหมออรรถพล" สรุปว่า...จริงๆ แล้วจะแยกแยะได้ยาก เพราะโรคหวัดสามารถเกิดจากเชื้อไวรัสได้หลายชนิด และ 1 ในนั้นคือ RSV แต่ก็ยังมีไวรัสอีกหลายชนิดที่ทำให้เกิดโรคหวัดได้ด้วย ซึ่ง โรงพยาบาลรามคำแหง สามารถตรวจเชื้อไวรัสไว้กว่า 20 ชนิด...รวมทั้งเจ้าไวรัสตัวแสบที่ว่านี้ก็มักพบอยู่เสมอ โดยที่มันจะก่อให้เกิดอาการเหมือนโรคหวัดธรรมดา
          การติดเชื้อ RSV  นี้สามารถหายเองได้ แต่หากเป็นรุนแรงมากขึ้นจะทำให้เกิด 'โรคปอดบวม" ซึ่งคุณพ่อ-คุณแม่ต้องคอยสังเกต...เมื่อเด็กมีอาการขึ้นมาแล้วจะมีไข้ ไอ แล้วก็หอบ หายใจเร็ว ต้องรีบพาไปพบคุณหมอโดยเร็ว ทั้งนี้ การตรวจวินิจฉัยเบื้องต้นนั้น 'คุณหมออรรถพล" อธิบายว่า...
          "...เนื่องจากเด็กที่เข้ามามีอาการไอ จาม มีน้ำมูก ซึ่งอาการจะคล้าย ๆ กันหมด ดังนั้นการวินิจฉัยเชื้อไวรัส RSV เบื้องต้นจะอาศัยการใช้ไม้สอดเข้าที่จมูกเพื่อไปพันเอาส่วนเยื่อบุไปตรวจหาไวรัสว่าเป็นเชื้อ RSV  หรือเปล่า ส่วนใหญ่จะตรวจพร้อมกันกับไข้หวัดใหญ่ไปด้วย และไม่เกินครึ่งชั่วโมงก็ทราบผล แต่ก็ยังมีไวรัสหลายชนิดที่เราสามารถตรวจเจอได้อีก...หากตรวจไม่พบเชื้อ RSV  ในขั้นตอนแรก ต้องส่งตรวจเพิ่มเติมด้วยเทคโนโลยีการแพทย์ที่เรียกว่า PCR  ใช้เวลา 1-2 วันก็จะทราบผลว่าเป็นเชื้อไวรัสประเภทใด..."
          เอาเป็นว่า...เด็กที่เป็นกลุ่ม เสี่ยงติดเชื้อ ไวรัส RSV อย่างรุนแรง จะมีหลายวัยคือ อายุต่ำกว่า 5 ขวบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอายุ ต่ำกว่า 2 ขวบ เด็กที่คลอดก่อนกำหนด หรือเด็กที่มีโรคปอด โรคหัวใจ อยู่แต่เดิมแล้ว ซึ่งเมื่อติดเชื้อ RSV ก็จะเป็นรุนแรงขึ้น!!!. ส่วนใหญ่แล้วภาวะแทรกซ้อนที่อาจตามมาหลังจากติดเชื้อแล้วและปอดบวมหายดีแล้วมักจะไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่ก็มีส่วนน้อยเหมือนกันที่จะทำให้เกิดภาวะหลอดลมไวหรืออาจจะมีการทำงานของปอดลดลงไปอีกสักระยะหนึ่ง โดยที่ความรุนแรงจะแตกต่างกันในแต่ละราย แต่มีน้อยมากที่จะเป็นต่อเนื่องไปจนโต...ซึ่งนี่ก็เป็นข้อมูลที่ 'คุณหมออรรถพล" แห่ง โรงพยาบาลรามคำแหง บอกว่าควรรู้ไว้เช่นกัน...
          กำราบเจ้าไวรัสตัวแสบ!!!รักษาได้ด้วยวิธีใดบ้าง???
          คุณหมออธิบายว่า... หากเป็นน้อยก็รักษาน้อย หากเป็นมากก็รักษามาก สมมุติว่าเบื้องต้นอาจเริ่มจากเป็นไข้หวัด มีน้ำมูก มีไอ ก็ให้ยาบรรเทาอาการไข้ ให้ยาแก้คัดจมูกเมื่อหายใจไม่สะดวก ถ้ามีไอ มีเสมหะ ก็อาจให้ยาละลายเสมหะไปช่วย หรือถ้าเด็กบางคนไม่สามารถไอออกเองได้ก็อาจจะต้องใช้การบำบัดทางเดินหายใจส่วนบนช่วย เช่น การดูดน้ำมูก การล้างจมูก แต่ถ้าโรคมันลามขึ้นเรื่อย ๆ จนไปที่หลอดลมซึ่งเด็กบางคนอาจเกิดภาวะหลอดลมไว หายใจดังวี้ด ก็ต้องทดสอบดูก่อนว่าเขาจะมีภาวะหลอดลมไวหรือเปล่า...โดยการพ่นยาขยายหลอดลม ถ้ารายใดมีภาวะหลอดลมไวก็มักตอบสนองต่อยาขยายหลอดลมได้ดี ขณะที่เด็กอีกกลุ่มอาจไม่ดีเท่าที่ควร จึงต้องพิจารณาเป็นราย ๆ ไป...
          แต่ถ้าสมมุติว่าเชื้อ RSV  ลงไปในปอด ทำให้เกิดปอดบวมและเริ่มมีหายใจติดขัด อาจต้องช่วยโดยใช้เครื่องช่วยหายใจที่เรียกว่า High Flow Nasal Cannula   มาช่วยในการปรับการไหลของแก๊สให้สูง การให้ออกซิเจนให้เพียงพอ และเป็นการลดโอกาสการใส่ท่อช่วยหายใจ แต่ถ้าไม่ได้ผลก็จะใส่ท่อช่วยหายใจช่วยอีกทีหนึ่ง ซึ่งก็จะเป็นลำดับในขั้นตอนต่อไป
          การรักษาขึ้นอยู่กับการบำบัดระบบทางเดินหายใจเป็นหลัก คือช่วยให้เขาหายใจสะดวก เพราะลักษณะของโรคนี้จะมีน้ำมูกเหนียว เสมหะติดขัดตลอดได้ทั้งแนวทางเดินหายใจ หากหนูน้อยรายใดมีเสมหะคั่งค้างในทางเดินหายใจมากก็อาจต้องช่วยล้างจมูก ดูดน้ำมูกในกรณีที่เด็กหายใจติด เพราะมันทำให้เกิดเสมหะเหนียวข้นค่อนข้างมาก ถ้าเด็กไม่สามารถสั่งน้ำมูกออกมาด้วยตัวเองหรือไอออกมาด้วยตัวเองไม่ได้ก็ต้องช่วยดูดออก หรือไม่ก็ช่วยล้างจมูก ซึ่งเลือกได้หลายวิธีที่เหมาะกับเด็กแต่ละราย ส่วนรายที่หอบมากขึ้นจนเป็นปอดบวมก็มี โดยเฉพาะเด็กเล็กวัยต่ำกว่าขวบ ซึ่งคุณหมอจะลองพ่นยาขยายหลอดลมดูก่อน ถ้าไม่ตอบสนองหรืออาจเหนื่อยมากขึ้นก็อาจพึ่งเครื่องช่วยหายใจที่ใช้เทคโนโลยี High Flow Nasal Cannula  มาช่วยเพิ่มแรงไหลของแก๊สเพื่อให้ทางเดินหายใจมีออกซิเจนเพิ่มขึ้นและเพียงพอ เพื่อช่วยให้เด็กหายใจหอบเหนื่อยลดลงโดยไม่จำเป็นต้องใส่ท่อช่วยหายใจ ต่อเมื่ออาการดีขึ้นจึงจะเอาเครื่องออก แต่ที่ผ่านมาโรงพยาบาลรามคำแหงยังไม่มีกรณีผู้ป่วยเด็กที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ รวมทั้งกรณีที่เสียชีวิต
          ไวรัส "RSV" ติดต่อง่ายโดยผ่านทางจมูกเมื่อเด็กเกิดการไอ จาม ส่วนใหญ่ก็จะติดต่อจากอาการพวกนี้เป็นหลัก จึง ต้องระวังการหอมแก้ม หรือกอดเด็ก สามารถทำให้เราติดเชื้อได้ด้วย.ถ้าเด็กคนที่ป่วยนั้นมีน้ำมูก ไอ จามเปื้อนหน้าตัวเอง. ควรคาดปิดด้วยหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่กระจายออกไป และการทำความสะอาดของเล่นก็จะมีส่วนช่วยได้ด้วย...'หมอจอแก้ว" จึงใคร่ขอฝากให้คุณพ่อ-คุณแม่เน้นเรื่องการทำความสะอาดของเล่นทุกอย่างเพื่อเป็นการลดเชื้อลงไป และ ควรต้องล้างมือให้ลูกบ่อย ๆ เพราะทุกวันนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกันเชื้อ 'RSV" ครับ.

 pageview  1205021    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved