Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 07/08/2562 ]
ซิลิโคนเต้านม ก่อมะเร็ง

แบบผิวขรุขระอย.เร่งเรียกเก็บ
          อย. สั่งเรียกคืนด่วน ซิลิโคนเต้านมเทียมผิวขรุขระ เหตุก่อมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ทั่วโลกเป็นแล้ว 800 ราย หนึ่งในนั้นมีคนไทยเคราะห์ร้ายด้วย เผยซิลิโคนเจ้าปัญหา ไทยนำเข้าเกือบ 3 หมื่นชิ้น ตั้งแต่ปี 2554 ใช้เสริมเต้าแล้ว 1.4 หมื่นชิ้น แจงสาเหตุก่อมะเร็ง ยังไม่แน่ชัด อาจเกิดได้จากผิวสัมพันธ์ที่ขรุขระ-พันธุกรรม แนะสาวเสริมอึ๋มอย่าเพิ่งผวา ให้หมั่นคลำเต้าหากมีอาการบวม เต้านมผิดรูป ควรรีบพบแพทย์ทันที
          เมื่อวันที่ 6 ส.ค. ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พร้อม รศ.นพ.ศิรชัย จินดารักษ์ นายกสมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งเสริมสวยแห่งประเทศไทย และ ศ.คลินิก นพ.อภิรักษ์ ช่วงสุวนิช นายกสมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งแห่งประเทศไทย แถลงข่าวเรียกคืน "เต้านมเทียมซิลิโคนผิวขรุขระ"
          นพ.ธเรศ กล่าวว่า หลังจากทราบข้อมูลจากบริษัท แอลเลอร์แกน (ประเทศไทย) และ บริษัท นีโอฟาร์ม จำกัด แจ้งขอเรียกคืนผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์เต้านมเทียมซิลิโคนชนิดผิวขรุขระ เนื่องจากพบข้อมูลว่า มีผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด Non-Hodgkin's Lymphoma ซึ่งสัมพันธ์กับการเสริมเต้านมด้วยวัสดุที่เป็นซิลิโคนผิวขรุขระถึง 800 คนจากทั่วโลก และเป็นคนไทย 1 คน แม้อุบัติการจะน้อยแต่จำเป็นต้องเรียกวัสดุนี้กลับคืน โดยข้อมูลที่ได้รับจากบริษัทพบว่า ในประเทศไทยมีนำเข้าวัสดุมาตั้งแต่ปี 2554 ประมาณ 29,000 ชิ้น กระจายอยู่ตามสถานพยาบาล คลินิกต่าง ๆ โดยมีใช้ไปแล้ว 14,000 ชิ้น ซึ่งขณะนี้ได้ประสานไปยังสถานพยาบาลต่าง ๆ เพื่อเรียก คืนแล้ว ส่วนผู้ที่รับการเสริมเต้านมด้วยวัสดุนี้ไปแล้วนั้น ไม่ต้องกังวล ให้สังเกตอาการ หากมีอาการบวม เต้านมผิดรูป ควรรีบพบแพทย์ทันที หรือแม้ไม่มีอาการก็ต้องสังเกตอาการ ด้วยการคลำเต้านม และพบแพทย์ปีละครั้ง
          นพ.ธเรศ กล่าวต่อว่า สำหรับเต้านมผิวขรุขระที่มีการเรียกคืนนั้น มีชื่อทางการค้า นาเทรล (NATRELLE) ซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวผลิตโดย แอลเลอร์แกน คอสตาริกา ประเทศคอสตาริกา และเจ้าของผลิตภัณฑ์ คือ แอล เลอร์แกน สหรัฐอเมริกา โดยผลิตภัณฑ์ที่เรียกคืนของบริษัท แอลเลอร์แกน (ประเทศไทย) จำกัด ได้แก่ 1.เต้านมเทียมซิลิโคนใช้ฝังในร่างกาย นาเทรล รุ่น เอสที-410 เอ็มเอฟ เลขที่ใบรับแจ้งรายการละเอียด จน. 5/2560 2. เต้านมเทียมซิลิโคนใช้ฝังในร่างกาย นาเทรล รุ่น 120 เลขที่ใบรับแจ้งฯ จน. 36/2561 3. เต้านมเทียมซิลิโคนใช้ฝังในร่างกาย นาเทรล รุ่น เอสที-410 เอ็มเอ็ม เลขที่ใบรับแจ้งฯ จน. 4/2562
          "ในส่วนของบริษัท นีโอฟาร์ม จำกัด ผลิตภัณฑ์ที่เรียกคืน ได้แก่ 1. เต้านมเทียมซิลิโคนใช้ฝังในร่างกาย นาเทรล รุ่น 110 เลขที่ใบรับแจ้งฯ จน. 79/2553 2. เต้านมเทียมซิลิโคนใช้ฝังในร่างกาย นาเทรล รุ่น 120 เลขที่ใบรับแจ้งฯ จน. 106/2553 3. เต้านมเทียมซิลิโคนใช้ฝังในร่างกาย นาเทรล รุ่น ST-410 MF เลขที่ใบรับแจ้งฯ จน. 2/2554 และ 4. เต้านมเทียมซิลิโคนใช้ฝังในร่างกาย นาเทรล รุ่น ST-410 MM เลขที่ใบรับแจ้งฯ จน. 3/2554" นพ.ธเรศ กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม อย.กำลังจัดทำระบบติดตามเฝ้าระวัง ให้สถานพยาบาล หรือแพทย์ลงทะเบียนว่า มีการนำเต้านมเทียมชนิดดังกล่าวไปใช้ที่ไหน อย่างไร เพื่อเป็นการเฝ้าระวังและให้ทราบข้อมูล
          ด้าน ศ.คลินิก นพ.อภิรักษ์ กล่าวว่า ความสัมพันธ์ของซิลิโคนผิวขรุขระกับเต้านม ที่ก่อให้เกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลือง สาเหตุยังไม่
          แน่ชัด เกิดได้จากผิวสัมพันธ์ที่ขรุขระ หรือ พันธุกรรม ซึ่งจะพบมากในชาวออสเตรเลีย และพบว่า ซิลิโคนผิวเรียบ เกิดมะเร็งต่อมน้ำ
          เหลืองน้อยกว่า อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาคนไทยนิยมผ่าตัดเสริมเต้านมด้วยซิลิโคนผิวขรุขระ เพราะโอกาสทำให้เกิดพังผืดน้อย อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันด้วยเทคนิคการผ่าตัดทำให้ความเสี่ยงเกิดพังผืดน้อยเหมือนกันหมด ไม่ว่าจะใช้วัสดุแบบผิวขรุขระ หรือผิวเรียบก็ตาม
          รศ.นพ.ศิรชัย กล่าวว่า มะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่พบกรณีนี้ ไม่ใช่มะเร็งเต้านมที่เกิดจากเนื้อเยื่อของเต้านม และกรณีนี้ก็ไม่ได้พบมาก อัตราการเกิดต่ำแต่ต้องเตือนเพื่อให้เกิดการเฝ้าระวัง เนื่องจากหากไม่ดูแลให้ดีก็อาจร้ายแรงจนนำไปสู่การเสียชีวิตได้ แต่หากรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะตอบสนองต่อการรักษาได้ดี และมีโอกาสหายขาดได้ด้วยการผ่าตัดโดยไม่ต้องใช้ยาเคมีบำบัด
          ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีความสัมพันธ์ของการเกิดมะเร็งกับการใช้ซิลิโคนผิวขรุขระ เป็นเพราะตัวสารในวัสดุเต้านมเทียมหรือไม่ รศ.นพ.ศิรชัย กล่าวว่า ไม่เกี่ยวกับวัสดุ แต่สาเหตุจริง ๆ ยังไม่ทราบ เพียงแต่พบว่า มาจากวัสดุที่ทำจากผิวขรุขระมากกว่าผิวเรียบ ยกเว้นคนที่เสริมเต้านมผิวขรุขระมาก่อน และเปลี่ยนเป็นวัสดุผิวเรียบก็มีความเสี่ยงเช่นกัน แต่ไม่ได้เกี่ยวกับตัวสารใด ๆ ที่ผลิตออกมา ซึ่งอาจมีปัจจัยอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น การติดเชื้อบางชนิด ฯลฯ ขณะนี้กำลังศึกษาหาสาเหตุที่แท้จริงอยู่.

 pageview  1205014    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved