Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 08/02/2562 ]
เข้มโรคลมชักขอใบขับขี่

  กรมการขนส่งทางบก กำชับตรวจสอบใบรับรองแพทย์ผู้ขอรับและต่ออายุใบขับขี่ตามมติคณะกรรมการแพทยสภา เพิ่มโรคลมชักในสภาวะที่ไม่สามารถควบคุมอาการชักได้ เป็นโรคประจำตัวที่อาจเป็นอันตรายขณะขับรถ
          นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ อธิบดีกรม การขนส่งทางบก เปิดเผยว่า เพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน กรมการขนส่งทางบกกำหนดให้การขอรับใบอนุญาตขับรถต้องใช้ใบรับรองแพทย์แสดงว่าไม่มีโรคประจำตัวอันอาจเป็นอันตรายขณะขับรถเป็นหลักฐานประกอบ ทั้งนี้ ได้หารือร่วมกับแพทยสภาอย่างต่อเนื่อง เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ให้เป็นปัจจุบันรองรับสภาวะโรคต่าง ๆ รวมถึงประเด็นปัญหาของผู้ป่วยโรคลมชักซึ่งเกิดอุบัติเหตุจากอาการชักในระหว่างขับรถ ล่าสุด คณะกรรมการแพทยสภาได้มีมติเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2560 ให้โรคลมชักในสภาวะที่ไม่สามารถควบคุมอาการชักได้  เป็นโรคประจำตัวที่อาจเป็นอันตรายขณะขับรถ เว้นแต่แพทย์ผู้ให้การรักษารับรองว่าผู้ป่วยไม่มีอาการชักเกินกว่า 2 ปี
          กรมจึงได้ซักซ้อมแนวทางการตรวจสอบให้แก่นายทะเบียนทั่วประเทศ โดยให้ตรวจสอบหลักฐานใบรับรองแพทย์ที่ใช้ประกอบคำขอ ดังนี้ ต้องเป็นใบรับรองแพทย์ตามแบบมาตรฐานที่แพทยสภารับรอง ในส่วนที่ 1 ของผู้ขอรับใบรับรองสุขภาพลงลายมือชื่อรับรองตนเอง ประวัติโรคประจำตัว ประวัติอุบัติเหตุและการเข้ารับการผ่าตัดที่สำคัญ และส่วนที่ 2 ของแพทย์ผู้ตรวจร่างกายรับรอง และในกรณีผู้ขอรับใบรับรองสุขภาพป่วยเป็นโรคลมชักในสภาวะที่ไม่สามารถควบคุมอาการชักได้ต้องได้รับการรับรองว่าผู้ป่วยโรคลมชักไม่มีอาการชักเกินกว่า 2 ปี รวมถึงการรับรองในกรณีอื่น เช่น ไม่เป็นผู้มีร่างกายทุพพลภาพจนไม่สามารถขับรถได้ ไม่ปรากฏอาการของโรคจิต หรือจิตฟั่นเฟือน หรือปัญญาอ่อน ไม่ปรากฏอาการของการติดยาเสพติดให้โทษ ไม่ปรากฏอาการของโรคพิษสุราเรื้อรัง และไม่ปรากฏอาการและอาการแสดงของโรคเรื้อนในระยะติดต่อหรือในระยะปรากฏอาการ วัณโรคในระยะอันตราย โรคเท้าช้างในระยะปรากฏอาการ
          อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า ใบรับรองแพทย์ตามแบบที่แพทยสภารับรอง สถานพยาบาลส่วนใหญ่ใช้เป็นมาตรฐานอยู่แล้ว ผู้ขอรับใบอนุญาตขับรถหรือใบอนุญาตเป็นผู้ประจำรถควรแจ้งวัตถุประสงค์ให้ชัดเจน เพื่อให้แพทย์ออกใบรับรองแพทย์ให้ถูกต้องตรงกับการนำไปใช้
          สำหรับโรคประจำตัวบางกลุ่มอันอาจเป็นอันตรายขณะขับรถยังอยู่ในระหว่างการ หารือร่วมกันระหว่างกรมการขนส่งทางบกและแพทยสภาที่อาจกำหนดเพิ่มเติมในอนาคต เช่น โรคเบาหวานระยะที่ต้องฉีดอินซูลิน โรคความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดทางสมอง ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายที่ผ่านการผ่าตัดหัวใจหรือขยายเส้นเลือดหัวใจซึ่งแพทย์วินิจฉัยแล้วว่าเป็นอุปสรรคต่อการขับรถ.

 pageview  1204849    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved