Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 09/11/2561 ]
ยกระดับ...สุขภาวะนักโทษ แก้ปมสิทธิพื้นฐาน สิ่งแวดล้อม-สุขภาพช่วยปรับตัว

 เรามักจะเห็นภาพสะท้อนในเรือนจำจากละครภาพยนตร์หรือแม้แต่ข่าวในหนังสือพิมพ์ที่ถ่ายทอดในแง่มุมโหดร้ายของผู้ต้องขังและผู้คุม สภาพภายในที่สกปรกเสมือนกลุ่มคนต้องโทษที่ถูกคุมขังเป็นคนอีกชนชั้นที่ไม่เหมือนคนภายนอกเพราะควรต้องรับโทษจองจำอย่างสาสมและไม่ควรได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานที่จำเป็น
          ที่กล่าวมานั้นคือภาพจำในอดีตภายในรั้วกำแพงอิฐสีขาวรายล้อมไปด้วยลวดหนามแหลมคมแม้รูปแบบของเรือนจำจะยังคงเหมือนเดิมและมีความแออัดคล้ายโรงเรือนเลี้ยงหมูหรือเข่งปลาทูแต่ปัจจุบันเริ่มมีความพยายามทำให้เรื่องราว ภาพจำที่อยู่หลังกำแพงสูงเปลี่ยนไป โดยเฉพาะจุดเริ่มต้นที่ดีในการปลูกฝังด้วยสภาพแวดล้อมที่ดี (ขึ้น)...
          การสร้างสุขอนามัยและสุขภาวะ ถือเป็นเรื่องจำเป็นและไม่ควรเพิกเฉยเพียงเพราะคนเหล่านั้นเป็นผู้กระทำผิดเนื่องจากสุดท้ายคนเหล่านี้เกือบทั้งหมดก็ต้องออกมาใช้ชีวิตกับคนในสังคมการเตรียมพร้อมด้านสุขภาวะในเรือนจำจึงเป็นประเด็นที่หน่วยงานต่าง ๆ เห็นความสำคัญที่ต้องปรับปรุงหนึ่งตัวอย่างเรือนจำที่เปิดโอกาสให้ คนภายนอกได้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงนี้แล้วคือ "เรือนจำกลางนครปฐม" ซึ่งกรมราชทัณฑ์ ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข อนุญาตสื่อมวลชนเข้าไปสังเกตการณ์ระบบดูแลด้านสุขลักษณะของผู้ต้องขังและการป้องกันโรคในเรือนจำที่ต้องได้มาตรฐานและเป็นไปตามนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนด้านสาธารณสุข
          พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์  อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่าปัจจุบันราชทัณฑ์มีจำนวนผู้ต้องขังทั่วประเทศรวม 378,214 คน จากความจุเรือนจำปกติที่รองรับได้เพียง 122,000 คน จำนวนผู้ต้องขังที่สูงเกินขีดความสามารถในการรองรับทำให้เกิดปัญหาความแออัดและทำให้การควบคุมโรคติดต่อภายในเรือนจำทำได้ยากเช่น โรคไข้หวัดใหญ่, ตาแดง, วัณโรค, เอดส์ และการดูแลผู้ต้องขังที่ป่วยจิตเวช ซึ่งระบบสาธารณสุขที่เข้ามาดูแลด้านสุขอนามัยของผู้ต้องขังทำให้ลดการเจ็บป่วย โดยเรือนจำไม่ต้องเสียกำลังเจ้าหน้าที่คุมตัวผู้ต้องขังออกไปรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลภายนอก ซึ่งจะช่วยลดปัญหาแหกหักหลบหนี และปัจจุบันแดนพยาบาลมีแพทย์ประจำและแพทย์ห้วงเวลา (พาร์ทไทม์)เข้ามาตรวจรักษา โดยเรือนจำสามารถดูแลผู้ต้องขังที่ป่วยเป็นโรคไต, เบาหวาน, หัวใจ และโรคความดันโลหิตสูง รวมถึงให้บริการทันตกรรมถอนฟันขูดหินปูนได้ตามสิทธิบัตรประกันสุขภาพแห่งชาติเช่นเดียวกับบุคคลภายนอก
          "ตั้งแต่ ม.ค. 62 เป็นต้นไปเรือนจำทั่วประเทศจะห้ามจำหน่ายบุหรี่ตามกฎหมายซึ่งจะส่งผลให้ผู้ต้องขังในเรือนจำทุกรายต้องเลิกบุหรี่เด็ดขาด โดยระหว่างนี้ได้สั่งการให้ทุกเรือนจำเตรียมความพร้อมในการให้ความรู้สร้างแรงจูงใจในการเลิกบุหรี่เชื่อว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยลดการเจ็บป่วยของผู้ต้องขัง โดยเฉพาะโรคติดต่อทางเดินหายใจซึ่งการรับฟังความคิดเห็นจากญาติผู้ต้องขังทุกรายสนับสนุนให้เรือนจำดำเนินการตามนโยบายเลิกบุหรี่เพราะช่วยให้ญาติประหยัดเงินค่าบุหรี่นอกจากนี้ตนได้มอบหมายให้ทางเรือนจำดูแลความสะอาดและสุขภาวะด้านโภชนาการอย่างเข้มงวด ที่ผ่านมาจะเห็นว่าในเรือนจำไม่มีโรคอหิวาต์"  อธิบดีกรมราชทัณฑ์กล่าวล่าสุดมี 13 เรือนจำนำร่องห้ามขายบุหรี่ยาเส้น ได้แก่ เรือนจำจังหวัดอำนาจเจริญ เรือนจำกลางราชบุรี เรือนจำจังหวัดจันทบุรี เรือนจำอำเภอธัญบุรี ทัณฑสถานบำบัดพิเศษปทุมธานี ทัณฑสถานหญิงธนบุรี เรือนจำอำเภอสีคิ้ว ทัณฑสถานวัยหนุ่มปทุมธานี ทัณฑสถานบำบัดพิเศษหญิง ทัณฑสถานหญิงสงขลา ทัณฑสถานหญิงพิษณุโลก เรือนจำกลางเชียงรายและเรือนจำจังหวัดมหาสารคาม
          ที่ผ่านมาเรือนจำทั่วประเทศมียอดผู้เสียชีวิตในเรือนจำประมาณ 1,000 คนต่อปี และมีผู้ป่วยต้องส่งไปรักษาตัวโรงพยาบาลภายนอกประมาณ 50,000 คนต่อปี สำหรับโรคที่พบมากที่สุดในเรือนจำ 3 อันดับแรกคือ วัณโรค เอดส์ และหลอดเลือดหัวใจ แม้กรมราชทัณฑ์พยายามปรับปรุงแต่มีขีดจำกัดเนื่องจากจำนวนผู้ต้องขังเกินศักยภาพที่จะรองรับถึง 3 เท่าและปัญหาสุขภาวะที่เกิดขึ้นมาจากความแออัดในเรือนจำ
          ปัจจุบันภายในห้องขัง 1 ห้องจะมีผู้ต้องขังกว่า 100 คน นอนรวมกัน และใช้เวลาถึง 14 ชม.ต่อวัน อยู่ภายในเรือนนอนเป็นเรื่องยากกับการดูแลสุขภาวะ
          อย่างไรก็ตามขณะนี้กรมราชทัณฑ์และกระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกันผลักดันมาตรฐานดูแลผู้ต้องขังให้ได้รับการดูแลตามหลักสิทธิมนุษยชนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของสังคมหากมีอาการเจ็บป่วยจะต้องได้รับการรักษาโดยอย่างน้อยต้องมีตารางการรักษาให้ญาติได้รับทราบว่าผู้ต้องขังไม่ได้ถูกทอดทิ้ง
          ด้านนพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค เผยสภาพพื้นที่ที่แออัดในเรือนจำทำให้ง่ายต่อการเกิดโรคติดต่อหลายโรคโดยเฉพาะโรคติดต่อทางเดินหายใจ, หัดและตาแดง ผู้ต้องขังจึงจำเป็นต้องได้รับบริการทางการแพทย์อย่างเท่าเทียมกับบุคคลทั่วไปเพราะเป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชนทุกคนที่ต้องได้รับการดูแลโดยสาธารณสุขมีหน้าที่เฝ้าระวังโรคและควบคุมพื้นที่ในเรือนจำให้เป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่ ห้ามจำหน่ายบุหรี่ รวมถึงพัฒนาระบบบริการในเรือนจำ เช่น จุดคัดกรองโรคเมื่อผู้ต้องขังเข้าเรือนจำครั้งแรกหรือย้ายเรือนจำจะมีการตรวจโรคใหม่ทุกครั้งทั้งนี้ยังมีเรื่องการส่งต่อกรณีผู้ต้องขังที่ป่วยฉุกเฉินการดำเนินงานที่ผ่านมาทำให้คุณภาพชีวิตและสุขภาพอนามัยของผู้ต้องขังอยู่ในเกณฑ์ดีขึ้น ตลอด 1-2 ปีที่ผ่านมา มีการตรวจพบโรคในเรือนจำได้เร็วขึ้นเท่าตัวจาก 1,500 คน เป็น 3,700 คน ทำให้การรักษาโรคทำได้เร็วขึ้นอีกทั้งระบบการจ่ายยาที่ดีสามารถให้ยากับผู้ต้องขังได้ทุกระดับ
          สำหรับขั้นตอนการควบคุมและป้องกันโรคของเรือนจำกลางนครปฐมจะมีการตรวจคัดกรองผู้ต้องขังใหม่ทุกคนโดยใช้แบบฟอร์มบันทึกการตรวจวินิจฉัยโรคและให้การบำบัดรักษารวมถึงป้องกันการเจ็บปวดทุกประเภท ตลอดระยะเวลาที่ถูกควบคุมตัวโดยเฉพาะการค้นหาผู้ป่วยจิตเวชผู้ต้องขังเพื่อทำการรักษาอย่างรวดเร็วป้องกันการทำร้ายตัวเองและผู้ต้องขังอื่นและการค้นหาผู้ป่วยวัณโรคในผู้ต้องขังด้วยวิธีเอกซเรย์ 100% ซึ่งการรักษาจะมีการตรวจโดยแพทย์สัปดาห์ละ 2 ครั้ง, บริการด้านทันตกรรมสัปดาห์ละ 1 ครั้ง และตรวจรักษาจิตเวช เดือนละ 1 ครั้ง
          กรณีเจ็บป่วยเกินขีดความสามารถ การรักษาของสถานพยาบาลในเรือนจำจะมีการส่งตัวไปบำบัดรักษาที่โรงพยาบาลภายนอกที่เป็นเครือ ข่ายและหลังจากพ้นโทษจะมีการส่ง ต่อข้อมูลสุขภาพให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนอกจากนี้เรือนจำยังได้คิด ค้นประดิษฐ์ที่นอนเพื่อป้องกันแผลกดทับ รักษาอาการบาดเจ็บจากแผล ใช้บำบัดลดความคลายเครียดและอาการปวดเมื่อยให้กับผู้ต้องขังที่ป่วยตามอาการดังกล่าวอีกด้วย
          สุขอนามัยที่ดีไม่ได้เป็นเพียงเรื่องที่สงวนไว้กับคนภายนอก แต่คนหลังกำแพงก็ควรได้รับสิทธินี้เพื่อประโยชน์ในการกลับตัวเช่นกัน.

          สถิตินักโทษ
          ข้อมูลจากกรมราชทัณฑ์ ณ วันที่ 1 พ.ย. 61 เรือนจำและทัณฑสถานทั่วประเทศ 143 แห่ง มีผู้ต้องราชทัณฑ์รวม 369,499 ราย แบ่งเป็นชาย 320,966 ราย หญิง 48,533 ราย ในจำนวนนี้ประกอบด้วย
          ผู้ต้องโทษเด็ดขาด            302,844 ราย
          ผู้ต้องขังระหว่างอุทธรณ์-ฎีกา    31,202  ราย
          ผู้ต้องขังระหว่างไต่สวน-พิจารณา 10,931 ราย
          ผู้ต้องขังระหว่างสอบสวน       21,802 ราย
          เยาวชนที่ฝากขัง             54 ราย
          ผู้ถูกกักกัน                  16  ราย
          ผู้ต้องกักขัง                 2,650 ราย

 pageview  1204268    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved