Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 22/08/2561 ]
จับสัญญาณ กัญชา รักษาโรค ไทยก้าวหน้า สกัดสารนำร่องทดลองในคน

 

          กัญชา ยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ตามพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ 2522 ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นท่ามกลางห้วงเวลาเปลี่ยนผ่านนโยบายยาเสพติดของโลกที่แนวโน้มมุ่งไปที่การบำบัดรักษา จำแนกผู้เสพเป็นผู้ป่วย และผ่อนปรนการใช้ประโยชน์จากสารในพืชเสพติดบางประเภท ซึ่งกัญชาถือเป็นพืชเสพติดที่ได้รับความสนใจในการสกัดเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์
          ยกตัวอย่างความเคลื่อนไหวสำคัญที่เพิ่งเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ กับกรณีที่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ FDA ให้การรับรองตัวยา เอพิไดโอเล็กซ์ (Epidiolex) ที่มีส่วนผสมของ สาร แคนนาบิไดอัล (Cannabidiol) ซึ่งสกัดได้จากกัญชา แต่มีสาร Tetrahydrocannabinol (THC) ต่ำเพียง 0.1% สามารถนำไปใช้รักษาอาการโรคลมชักชนิดร้ายแรง 2 ชนิดได้แล้ว ถือเป็นอีกกรณีตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นถึงการยอมรับถึงประโยชน์ที่มีอยู่หากนำมาใช้อย่างถูกต้อง
          สำหรับกัญชา มีสารสำคัญ 2 ตัวที่เป็นประโยชน์ต่อการนำมาใช้ทางการแพทย์ ประกอบด้วย 1.สาร Tetrahydrocannabinol (THC) และ 2. สาร Cannabidiol (CBD) งานวิจัยมีการระบุโรคที่อาจใช้ประโยชน์จากสารสกัดในกัญชาได้หลายโรค เช่น โรคลมชัก โรคพาร์กินสัน โรคมะเร็ง โรคอัลไซเมอร์ โรคปลอกประสาทอักเสบ รวมถึงระงับอาการปวดต่าง ๆ โดย THC มีผลออกฤทธิ์กับระบบประสาท ลดอาการปวด คลื่นไส้อาเจียน ยับยั้งเซลล์มะเร็ง ขณะที่ CBD ไม่มีผลออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท แต่สามารถช่วยลดอาการวิตกกังวล ลดอาการปวดได้
          หันกลับมามองที่ประเทศไทยต้องยอมรับว่าขณะนี้เริ่มเห็นการขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวเพื่อหาแนวทางนำมาใช้ทางการแพทย์อย่างจริงจังมากขึ้น เห็นได้จากการส่งเจ้าหน้าที่ไปศึกษาดูงานวิจัยในต่างประเทศอย่างที่ประเทศแคนาดา ที่ องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ได้ไปศึกษาข้อมูลตั้งแต่การปลูก การดูแล กระทั่งการควบคุมไม่ให้เล็ดรอดออกไปภายนอก โดยแคนาดาเป็นอีกประเทศที่อนุญาตให้ใช้กัญชาในทางการแพทย์ได้แล้วตั้งแต่ปี 54 นอกจากนี้ยังมีการจัดทำโครงการวิจัยที่เกี่ยวข้องหลายโครงการ
          อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่อาจทำให้กัญชาเข้าใกล้ความจริงกับการถูกนำมาใช้ทางการแพทย์มากที่สุดคือ ภายหลังการ มีมติครม.เมื่อวันที่ 15 พ.ค. ให้ความเห็นชอบร่างประมวลกฎหมายยาเสพติดที่มีการเสนอแก้ไขสาระสำคัญเกี่ยวกับการควบคุมสารเสพติด ที่ทำให้กัญชาสามารถนำมาศึกษาวิจัยทางการแพทย์ในคนได้ ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขมีการออกคำสั่งกระทรวงสาธารณสุขที่ 530/2561 เรื่องการแต่งตั้ง คณะกรรมการพิจารณาการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทาง การแพทย์
          มีการกำหนดกรอบหารือสำคัญครั้งแรก 5 ขั้นตอน เริ่มจากการศึกษาสายพันธุ์ที่จะนำมาสกัดสารเพื่อใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ การหาวิธีสกัดสารให้ได้คุณภาพ การจัดรูปแบบการผลิตออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ การจะใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์แบบใด เช่น รักษาโรคทางสมองอย่างลมชัก พาร์กินสัน และบรรเทาความเจ็บปวดจากโรคมะเร็ง รวมถึงการควบคุมและมาตรการทางกฎหมาย
          เบื้องต้นจะมีการนำร่องในห้องทดลองระหว่างรอการปรับแก้กฎหมายเพื่อนำมาใช้ศึกษาวิจัยในคน โดย นพ.โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ คาดตามกรอบเวลาน่าจะสามารถนำมาใช้ในคนได้เดือน พ.ค.ปีหน้า โดยจะมีการพิจารณาทั้งการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์แผนปัจุบบันและแผนไทย
          ขั้นตอนการศึกษาในขณะนี้ถือว่าเป็นช่วงเวลาสำคัญที่จะส่งผลถึงการปรับอนาคตของสารเสพติดบางประเภทเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ซึ่งนอกจากการศึกษา วิจัยและเริ่มทดลองใช้แล้ว การยอมรับความเปลี่ยน แปลงนี้ของสังคมเป็นอีกประเด็นที่ต้องให้ความรู้และทำความเข้าใจควบคู่กันไป
          อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาประเทศไทยเองเคยมีการศึกษาวิจัย ถึงประโยชน์ในทางการแพทย์มาบ้างแล้ว ขณะที่กระแสความเห็นของประชาชนก็มีแนวโน้มเปิดรับหากสามารถสร้างความเชื่อมั่นถึงระบบการนำมาใช้ประโยชน์ได้
          ดร.นพดล กรรณิกา ผอ.สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) มูลนิธิ สถาบันวิจัยความสุขชุมชนและความเป็นผู้นำ เผยว่า ได้ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการขับเคลื่อนประมวลกฎหมายยาเสพติด การพัฒนางานวิชาการด้านยาเสพติดซึ่งมีเป้าหมายคือ การค้นหาข้อมูลทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงกฎหมายให้มีการกำหนดโทษอย่างเหมาะสมกับความผิดของผู้กระทำ รวมทั้งเสริมให้สาธารณชนพิจารณามิติใหม่ ๆ ของประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงกฎหมายยาเสพติด โดยเฉพาะการรับรู้ เข้าใจ เชื่อมั่นและสนับสนุนให้ใช้พืชบางชนิด ได้แก่ กระท่อม และกัญชา ในทางที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงานและรักษาโรคบางอย่างได้
          สำหรับผลการสำรวจในครั้งนี้พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 94.0 เห็นด้วยกับการกำหนดโทษให้เหมาะสมกับระดับความร้ายแรงของการกระทำความผิด และเมื่อเราพิจารณาจากหัวข้อการทำโพลสำรวจชิ้นนี้ ก็จะพบว่า ปัจจุบันคนไทยส่วนใหญ่เริ่มเห็นประโยชน์จากการใช้กัญชาและใบกระท่อมมาบำบัดรักษาโรคมากยิ่งขึ้น แต่เมื่อกฎหมายในปัจจุบันยังบัญญัติเอาไว้ให้พืชทั้ง 2 ชนิดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ซึ่งห้ามเสพอย่างเด็ดขาดก็จะไม่ขอบรรยายสรรพคุณเพื่อชี้นำถึงประโยชน์
          ขณะที่ นายจิตรนรา นวรัตน์ อธิบดีอัยการสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตภาค 2 ซึ่งมีประสบการณ์ทำงานด้านยาเสพติดมานานนับสิบปี นอกจากนี้ยังเป็นผู้จัดทำร่างประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ และกฎหมายยาเสพติดฉบับอื่น ๆ อีกหลายฉบับได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการถอดถอนกัญชา และกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติดว่า ประเทศไทยมีพืชสมุนไพรหลากหลายชนิดและก็ได้เรียนรู้ว่าถูกต่างชาติมาฉกฉวยเอาทรัพย์สินทางปัญญามาแล้วหลายครั้ง ภูมิปัญญาท้องถิ่นเราควรอนุรักษ์เอาไว้ แต่หากจะต้องมีการพิจารณาถอดถอนยาเสพติดตัวใดออกจากบัญชีไป สิ่งสำคัญจะต้องมั่นใจว่าจะสามารถควบคุมการผลิต การเพาะปลูกหรือการใช้ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ได้อย่างถูกต้อง ไม่เกิดโทษหรือเพิ่มภาระให้ทุกคนในสังคม
          สำหรับกัญชาคาดว่าคงไม่ถูกถอดถอนออกจากบัญชียาเสพติดประเภทที่ 5 เนื่องจากที่ผ่านมาคนไทยส่วนใหญ่ใช้ต้นและใบมาเสพเพื่อความบันเทิงเท่านั้น และที่สำคัญมีการวิจัยจากต่างประเทศพบว่า หากนำมาใช้ในลักษณะเช่นนั้นผู้เสพกัญชาก็จะได้รับทั้งประโยชน์และพิษจนเกิดโทษ ขณะที่การนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์จะต้องมีการสกัดเอาตัวยาที่มีสรรพคุณทางการรักษาออกมาเสียก่อนเท่านั้น จึงจะถือว่าเป็นการใช้ประโยชน์
          "ที่ผ่านมาบ้านเราไม่ได้มีการวิจัยถึงประโยชน์ของมัน เนื่องจากกัญชาถูกขึ้นบัญชีให้เป็นยาเสพติดมาแต่ในอดีต จึงเกิดการโต้เถียงของคนสองกลุ่ม คือกลุ่มคนที่บังคับใช้กฎหมายก็ห้าม ส่วนผู้ที่มีหน้าที่วิจัยก็ไม่สามารถทำได้เพราะกฎหมายห้ามเสพเด็ดขาด ดังนั้นหลังจากนี้เราต้องยอมถอยแก้ไขบทบัญญัติบางประการให้ภาครัฐสามารถนำกัญชามาทำการวิจัยเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ แต่จะไม่ถอนออกจากบัญชียาเสพติดประเภทที่ 5 ให้เกิดการเพาะปลูกอย่างเสรีให้ใคร ๆ นำมาใช้เสพสนองความบันเทิงได้อย่างอิสระ" นายวิจิตรนรา กล่าว
          ขณะที่พืชกระท่อมซึ่งเป็นพืชท้องถิ่นที่มีอยู่เดิม แต่ก็ยังไม่สามารถนำมาใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์จากเหตุผลข้างต้น ทั้งที่คนโบราณรู้กันมานมนานว่าจะใช้เพื่อประโยชน์ด้านใด ที่สำคัญผลข้างเคียงมีน้อยกว่ากัญชาอย่างมาก หากใช้ตามกรรมวิธีโบราณคือใช้ใบกระท่อมเพียงอย่างเดียว ไม่ใช่นำมาต้มผสมสารเคมีทำน้ำสี่คูณร้อย
          ลำพังใบกระท่อมอย่างเดียวนั้นไม่อันตรายเท่าใดนัก ในอนาคตจึงมีแนวโน้มถูกถอดถอนออกจากบัญชียาเสพติดแต่จะต้องถูกกำหนดเป็นพืชที่มีการควบคุมไม่ปล่อยปละให้ใช้กันได้อย่างเสรี ยกตัวอย่างเปรียบเทียบกับสุราและยาสูบ ที่มีการกำหนดอายุผู้ซื้อ กำหนดเวลาห้ามขาย มีการจำกัดสถานที่ดื่มและพื้นที่สูบ โดยเฉพาะสุราแม้ไม่ใช่ยาเสพติดตามกฎหมายดื่มแล้วไม่มีความผิดทางอาญา แต่ห้ามขับขี่ยานพาหนะหลังดื่มสุราเข้าไปอะไรทำนองนี้
          แม้จะเป็นสารเสพติด แต่หากแยกคุณ แยกโทษให้ชัด และสังคมยอมรับ ช่องทางการใช้ประโยชน์ก็เกิดขึ้นได้.
          กัญชา ยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ตามพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ 2522 ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นท่ามกลางห้วงเวลาเปลี่ยนผ่านนโยบายยาเสพติดของโลกที่แนวโน้มมุ่งไปที่การบำบัดรักษา จำแนกผู้เสพเป็นผู้ป่วย และผ่อนปรนการใช้ประโยชน์จากสารในพืชเสพติดบางประเภท ซึ่งกัญชาถือเป็นพืชเสพติดที่ได้รับความสนใจในการสกัดเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์
          ยกตัวอย่างความเคลื่อนไหวสำคัญที่เพิ่งเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ กับกรณีที่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ FDA ให้การรับรองตัวยา เอพิไดโอเล็กซ์ (Epidiolex) ที่มีส่วนผสมของ สาร แคนนาบิไดอัล (Cannabidiol) ซึ่งสกัดได้จากกัญชา แต่มีสาร Tetrahydrocannabinol (THC) ต่ำเพียง 0.1% สามารถนำไปใช้รักษาอาการโรคลมชักชนิดร้ายแรง 2 ชนิดได้แล้ว ถือเป็นอีกกรณีตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นถึงการยอมรับถึงประโยชน์ที่มีอยู่หากนำมาใช้อย่างถูกต้อง
          สำหรับกัญชา มีสารสำคัญ 2 ตัวที่เป็นประโยชน์ต่อการนำมาใช้ทางการแพทย์ ประกอบด้วย 1.สาร Tetrahydrocannabinol (THC) และ 2. สาร Cannabidiol (CBD) งานวิจัยมีการระบุโรคที่อาจใช้ประโยชน์จากสารสกัดในกัญชาได้หลายโรค เช่น โรคลมชัก โรคพาร์กินสัน โรคมะเร็ง โรคอัลไซเมอร์ โรคปลอกประสาทอักเสบ รวมถึงระงับอาการปวดต่าง ๆ โดย THC มีผลออกฤทธิ์กับระบบประสาท ลดอาการปวด คลื่นไส้อาเจียน ยับยั้งเซลล์มะเร็ง ขณะที่ CBD ไม่มีผลออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท แต่สามารถช่วยลดอาการวิตกกังวล ลดอาการปวดได้
          หันกลับมามองที่ประเทศไทยต้องยอมรับว่าขณะนี้เริ่มเห็นการขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวเพื่อหาแนวทางนำมาใช้ทางการแพทย์อย่างจริงจังมากขึ้น เห็นได้จากการส่งเจ้าหน้าที่ไปศึกษาดูงานวิจัยในต่างประเทศอย่างที่ประเทศแคนาดา ที่ องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ได้ไปศึกษาข้อมูลตั้งแต่การปลูก การดูแล กระทั่งการควบคุมไม่ให้เล็ดรอดออกไปภายนอก โดยแคนาดาเป็นอีกประเทศที่อนุญาตให้ใช้กัญชาในทางการแพทย์ได้แล้วตั้งแต่ปี 54 นอกจากนี้ยังมีการจัดทำโครงการวิจัยที่เกี่ยวข้องหลายโครงการ
          อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่อาจทำให้กัญชาเข้าใกล้ความจริงกับการถูกนำมาใช้ทางการแพทย์มากที่สุดคือ ภายหลังการ มีมติครม.เมื่อวันที่ 15 พ.ค. ให้ความเห็นชอบร่างประมวลกฎหมายยาเสพติดที่มีการเสนอแก้ไขสาระสำคัญเกี่ยวกับการควบคุมสารเสพติด ที่ทำให้กัญชาสามารถนำมาศึกษาวิจัยทางการแพทย์ในคนได้ ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขมีการออกคำสั่งกระทรวงสาธารณสุขที่ 530/2561 เรื่องการแต่งตั้ง คณะกรรมการพิจารณาการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทาง การแพทย์
          มีการกำหนดกรอบหารือสำคัญครั้งแรก 5 ขั้นตอน เริ่มจากการศึกษาสายพันธุ์ที่จะนำมาสกัดสารเพื่อใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ การหาวิธีสกัดสารให้ได้คุณภาพ การจัดรูปแบบการผลิตออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ การจะใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์แบบใด เช่น รักษาโรคทางสมองอย่างลมชัก พาร์กินสัน และบรรเทาความเจ็บปวดจากโรคมะเร็ง รวมถึงการควบคุมและมาตรการทางกฎหมาย
          เบื้องต้นจะมีการนำร่องในห้องทดลองระหว่างรอการปรับแก้กฎหมายเพื่อนำมาใช้ศึกษาวิจัยในคน โดย นพ.โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ คาดตามกรอบเวลาน่าจะสามารถนำมาใช้ในคนได้เดือน พ.ค.ปีหน้า โดยจะมีการพิจารณาทั้งการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์แผนปัจุบบันและแผนไทย
          ขั้นตอนการศึกษาในขณะนี้ถือว่าเป็นช่วงเวลาสำคัญที่จะส่งผลถึงการปรับอนาคตของสารเสพติดบางประเภทเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ซึ่งนอกจากการศึกษา วิจัยและเริ่มทดลองใช้แล้ว การยอมรับความเปลี่ยน แปลงนี้ของสังคมเป็นอีกประเด็นที่ต้องให้ความรู้และทำความเข้าใจควบคู่กันไป
          อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาประเทศไทยเองเคยมีการศึกษาวิจัย ถึงประโยชน์ในทางการแพทย์มาบ้างแล้ว ขณะที่กระแสความเห็นของประชาชนก็มีแนวโน้มเปิดรับหากสามารถสร้างความเชื่อมั่นถึงระบบการนำมาใช้ประโยชน์ได้
          ดร.นพดล กรรณิกา ผอ.สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) มูลนิธิ สถาบันวิจัยความสุขชุมชนและความเป็นผู้นำ เผยว่า ได้ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการขับเคลื่อนประมวลกฎหมายยาเสพติด การพัฒนางานวิชาการด้านยาเสพติดซึ่งมีเป้าหมายคือ การค้นหาข้อมูลทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงกฎหมายให้มีการกำหนดโทษอย่างเหมาะสมกับความผิดของผู้กระทำ รวมทั้งเสริมให้สาธารณชนพิจารณามิติใหม่ ๆ ของประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงกฎหมายยาเสพติด โดยเฉพาะการรับรู้ เข้าใจ เชื่อมั่นและสนับสนุนให้ใช้พืชบางชนิด ได้แก่ กระท่อม และกัญชา ในทางที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงานและรักษาโรคบางอย่างได้
          สำหรับผลการสำรวจในครั้งนี้พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 94.0 เห็นด้วยกับการกำหนดโทษให้เหมาะสมกับระดับความร้ายแรงของการกระทำความผิด และเมื่อเราพิจารณาจากหัวข้อการทำโพลสำรวจชิ้นนี้ ก็จะพบว่า ปัจจุบันคนไทยส่วนใหญ่เริ่มเห็นประโยชน์จากการใช้กัญชาและใบกระท่อมมาบำบัดรักษาโรคมากยิ่งขึ้น แต่เมื่อกฎหมายในปัจจุบันยังบัญญัติเอาไว้ให้พืชทั้ง 2 ชนิดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ซึ่งห้ามเสพอย่างเด็ดขาดก็จะไม่ขอบรรยายสรรพคุณเพื่อชี้นำถึงประโยชน์
          ขณะที่ นายจิตรนรา นวรัตน์ อธิบดีอัยการสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตภาค 2 ซึ่งมีประสบการณ์ทำงานด้านยาเสพติดมานานนับสิบปี นอกจากนี้ยังเป็นผู้จัดทำร่างประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ และกฎหมายยาเสพติดฉบับอื่น ๆ อีกหลายฉบับได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการถอดถอนกัญชา และกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติดว่า ประเทศไทยมีพืชสมุนไพรหลากหลายชนิดและก็ได้เรียนรู้ว่าถูกต่างชาติมาฉกฉวยเอาทรัพย์สินทางปัญญามาแล้วหลายครั้ง ภูมิปัญญาท้องถิ่นเราควรอนุรักษ์เอาไว้ แต่หากจะต้องมีการพิจารณาถอดถอนยาเสพติดตัวใดออกจากบัญชีไป สิ่งสำคัญจะต้องมั่นใจว่าจะสามารถควบคุมการผลิต การเพาะปลูกหรือการใช้ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ได้อย่างถูกต้อง ไม่เกิดโทษหรือเพิ่มภาระให้ทุกคนในสังคม
          สำหรับกัญชาคาดว่าคงไม่ถูกถอดถอนออกจากบัญชียาเสพติดประเภทที่ 5 เนื่องจากที่ผ่านมาคนไทยส่วนใหญ่ใช้ต้นและใบมาเสพเพื่อความบันเทิงเท่านั้น และที่สำคัญมีการวิจัยจากต่างประเทศพบว่า หากนำมาใช้ในลักษณะเช่นนั้นผู้เสพกัญชาก็จะได้รับทั้งประโยชน์และพิษจนเกิดโทษ ขณะที่การนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์จะต้องมีการสกัดเอาตัวยาที่มีสรรพคุณทางการรักษาออกมาเสียก่อนเท่านั้น จึงจะถือว่าเป็นการใช้ประโยชน์
          "ที่ผ่านมาบ้านเราไม่ได้มีการวิจัยถึงประโยชน์ของมัน เนื่องจากกัญชาถูกขึ้นบัญชีให้เป็นยาเสพติดมาแต่ในอดีต จึงเกิดการโต้เถียงของคนสองกลุ่ม คือกลุ่มคนที่บังคับใช้กฎหมายก็ห้าม ส่วนผู้ที่มีหน้าที่วิจัยก็ไม่สามารถทำได้เพราะกฎหมายห้ามเสพเด็ดขาด ดังนั้นหลังจากนี้เราต้องยอมถอยแก้ไขบทบัญญัติบางประการให้ภาครัฐสามารถนำกัญชามาทำการวิจัยเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ แต่จะไม่ถอนออกจากบัญชียาเสพติดประเภทที่ 5 ให้เกิดการเพาะปลูกอย่างเสรีให้ใคร ๆ นำมาใช้เสพสนองความบันเทิงได้อย่างอิสระ" นายวิจิตรนรา กล่าว
          ขณะที่พืชกระท่อมซึ่งเป็นพืชท้องถิ่นที่มีอยู่เดิม แต่ก็ยังไม่สามารถนำมาใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์จากเหตุผลข้างต้น ทั้งที่คนโบราณรู้กันมานมนานว่าจะใช้เพื่อประโยชน์ด้านใด ที่สำคัญผลข้างเคียงมีน้อยกว่ากัญชาอย่างมาก หากใช้ตามกรรมวิธีโบราณคือใช้ใบกระท่อมเพียงอย่างเดียว ไม่ใช่นำมาต้มผสมสารเคมีทำน้ำสี่คูณร้อย
          ลำพังใบกระท่อมอย่างเดียวนั้นไม่อันตรายเท่าใดนัก ในอนาคตจึงมีแนวโน้มถูกถอดถอนออกจากบัญชียาเสพติดแต่จะต้องถูกกำหนดเป็นพืชที่มีการควบคุมไม่ปล่อยปละให้ใช้กันได้อย่างเสรี ยกตัวอย่างเปรียบเทียบกับสุราและยาสูบ ที่มีการกำหนดอายุผู้ซื้อ กำหนดเวลาห้ามขาย มีการจำกัดสถานที่ดื่มและพื้นที่สูบ โดยเฉพาะสุราแม้ไม่ใช่ยาเสพติดตามกฎหมายดื่มแล้วไม่มีความผิดทางอาญา แต่ห้ามขับขี่ยานพาหนะหลังดื่มสุราเข้าไปอะไรทำนองนี้
          แม้จะเป็นสารเสพติด แต่หากแยกคุณ แยกโทษให้ชัด และสังคมยอมรับ ช่องทางการใช้ประโยชน์ก็เกิดขึ้นได้.

 

 pageview  1205122    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved