Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 26/06/2561 ]
กรมควบคุมโรคเผย 7 มาตรการ พร้อมรับมือ 13 โรคติดต่ออันตราย

ปัจจุบันระบบนิเวศวิทยาทั่วโลก เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้เชื้อโรคมีการปรับตัวเพื่อความอยู่รอด  จึงมีความเสี่ยงที่อาจมีโรคติดต่อใหม่ ๆ เกิดขึ้นตามมาอีกหลายโรค และเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของโรคติดต่อในปัจจุบัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยคำแนะนำของ คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ อาศัย อำนาจตามความในพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ได้ออกประกาศชื่อโรคติดต่ออันตรายที่ประเทศไทยต้องเฝ้าระวังรวมทั้งสิ้น 13โรคได้แก่ 1.กาฬโรค 2.ไข้ทรพิษ 3.ไข้เลือดออกไครเมียนคองโก 4.ไข้เวสต์ไนล์ 5.ไข้เหลือง 6.โรคไข้ลาสซา 7.โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์  8.โรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก 9. โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา 10.โรคติดเชื้อไวรัสเฮนดรา 11.โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง หรือโรคซาร์ส 12.โรคทางเดินหายใจตะวัน ออกกลาง หรือโรคเมอร์ส  13.วัณโรคดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรงมาก ซึ่งมีหลายโรคที่ยังไม่เคยพบในประเทศไทยมาก่อนและมีหลายโรคที่ประเทศไทยประสบผลสำเร็จในการรับมือจนเป็นที่ยอมรับระดับโลกมาแล้ว เช่น โรคซาร์ส และโรคเมอร์ส เป็นต้น
          นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า โรคติดต่ออันตราย อาจมีต้นตอมาจากสัตว์ป่า สัตว์เลี้ยง หรือคนก็ได้ และสามารถผ่านเข้าออกจากประเทศหนึ่งสู่อีกประเทศหนึ่งได้ทั้งทางบก  น้ำ  อากาศ และด่านพรมแดนต่าง ๆ จากการเดินทางที่สะดวกสบายมากขึ้นในปัจจุบัน กรมควบคุมโรคในฐานะที่ได้รับมอบหมายให้เป็นศูนย์ข้อมูลด้านโรคติดต่อของประเทศและเป็นหน่วยงานกลางในการเฝ้าระวัง ป้องกันหรือควบคุมโรคติดต่อ เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติและคณะกรรมการวิชาการได้เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์โรคติดต่ออันตรายโดยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกระดับ กำกับ ดูแล การพัฒนาศักยภาพด้านการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคของประเทศไทย ดังนั้นเพื่อลดความเสี่ยงของประชาชนจากโรคติดต่ออันตรายและภัยสุขภาพที่อาจเกิดขึ้น ทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ กรมควบคุมโรคได้วางแนวทางรับมือกับสถานการณ์โรคไว้ 7 มาตรการ ดังนี้ 1. ติดตามสถานการณ์และประสานความร่วมมือกับองค์การอนามัยโลกอย่างใกล้ชิด 2. ติดตามเฝ้าระวังคัดกรองผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่มีการระบาดของโรคทั้งที่ด่านควบคุมโรคที่สนามบิน ด่านทางน้ำและด่านพรมแดนทางบก เช่น ผู้เดินทางที่มาจากเขตติดโรคไข้เหลืองต้องได้รับวัคซีนป้องกันไข้เหลืองก่อนเดินทางเข้ามาในประเทศ และต้องแสดงเอกสารรับรองการได้รับวัคซีนป้องกันไข้เหลือง ซึ่งเอกสารรับรองนี้จะมีอายุการใช้บังคับตลอดชีพของผู้เดินทาง
          3. เตรียมความพร้อมการตรวจทางห้องปฏิบัติการ 4. เตรียมพร้อมด้านการรักษาพยาบาล  กรณีมีผู้ป่วยที่ออกจากด่านแล้วไปรักษาตัวที่สถานพยาบาล หากสงสัยว่าเป็นโรคระบาดอันตรายสถานพยาบาลนั้นจะต้องแจ้ง และส่งต่อไปที่โรงพยาบาลทั่วไป  โรงพยาบาลศูนย์  ที่มีห้องแยกโรครองรับ และส่งต่อไปยังสถาบันบำราศนราดูรซึ่งเป็นสถาบันโรคติดต่อที่มีการตรวจรักษาและมีห้องแยกโรคที่มีมาตรฐานระดับประเทศ 5. มีการสื่อสารประชาสัมพันธ์ ให้ประชาชนเข้าใจ แนะนำผู้เดินทางที่ผ่านช่องทางต่าง ๆ ให้เข้าใจตรงกันและถูกต้องไม่ให้เชื่อข่าวลือ  6. เปิดศูนย์ปฏิบัติการณ์ภาวะฉุกเฉินด้านโรคระบาดเพื่อตรวจสอบสถานการณ์ ประสานงาน สั่งการ ป้องกัน ควบคุมโรค และ 7. มีการประชุมผู้เชี่ยวชาญเพื่อประเมินสถานการณ์และปรับปรุง มาตรการต่าง ๆ ที่วางเอาไว้ ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง
          "นอกจากนี้การเฝ้าระวังโรคติดต่ออันตรายในระดับพื้นที่ ทางกรมควบคุมโรค จะมีการให้ข้อมูลข่าวสารกับอาสาสมัครสาธารณสุข กรณีพบความผิดปกติ เช่น พบเห็นผู้ที่มาจากประเทศที่มีการระบาดของโรค แล้วมีอาการไม่สบาย เป็นไข้  ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรืออีกช่องทางหนึ่งคือการแจ้งมาที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 โดยการดำเนินการดังที่กล่าวมาจะมีอธิบดีกรมควบคุมโรคเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ในการประกาศ ชื่อ อาการสำคัญและสถานที่ที่มีการระบาดของโรค และประกาศยกเลิกเมื่อสภาวการณ์ของโรคสงบลง หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422" นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวปิดท้าย.

 pageview  1205129    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved