Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก [ วันที่ 30/04/2555 ]
ไขความลับโรค"ใหลตาย"

การเสียชีวิตในขณะนอนหลับ (Brugada syndrome) หรือ "โรคใหลตาย" ชื่อที่คนไทยคุ้นหู อีกหนึ่งโรคลึกลับที่คร่าชีวิตคนไทยมาร่วมร้อยปี ในอดีตคนไทยอาจรู้จักโรคใหลตายว่าเป็นโรคท้องถิ่นของภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งทำให้ชายหนุ่มที่ดูปกติแข็งแรงดี กลายเป็นศพในตอนเช้าโดยไม่ทราบสาเหตุ โรคใหลตายพบได้ทุกภาคในประเทศไทย แต่ที่พบมากที่สุดคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รองลงมาคือ ภาคเหนือส่วนภาคอื่นพบได้ประปราย เป็นได้ทั้งหญิงและชาย แต่เพศชายเสียชีวิตจากโรคใหลตายมากกว่า ครอบครัวใดที่มีพี่ชาย ญาติพี่น้องเป็นโรคใหลตายมากๆ จึงจะพบในผู้หญิงบ้าง
          สาเหตุของโรคใหลตาย
          การเสียชีวิตกะทันหันจากโรคใหลเกิดจากการเต้นระริกที่ไม่มีการบีบตัวเองของกล้ามเนื้อหัวใจ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดการเต้นระริกที่ไม่มีการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ คือ การสูญเสียโปตัสเซียมแมกนีเซียมจากร่างกาย (เช่น จากการอาเจียน ท้องร่วง กินยาขับปัสสาวะ หรือดื่มกาแฟ ชา หรือเหล้า ซึ่งมีฤทธิ์ขับปัสสาวะเช่นกัน) รวมทั้งการมีไข้สูง การเกิดความเครียดจากการอดนอนทำงานหนัก สาเหตุของโรคใหลตายบางส่วนมีความเกี่ยวข้องกับสารเคมีในร่างกายเสียสมดุล เช่น ความเครียดทำให้ร่างกายหลั่งสารบางตัวออกมามากผิดปกติ นอกจากนี้ยังพบว่า พฤติกรรมการรับประทานอาหารหมักดอง ดื่มเหล้า เบียร์ สูบบุหรี่ รวมทั้งน้ำปลามีส่วนเกี่ยวข้องกับโรคใหลตายได้อย่างชัดเจน
          อาการของโรคใหลตาย
          อาการที่แสดงออกของโรคใหลตายที่สังเกตได้ชัดเจน ได้แก่ คอบวม อกแฟบ แขนตึง ตาเหลือง เหงื่อออกที่อุ้งมือ หัวใจเต้นผิดปกติ โคนลิ้นขาว ปวดบริเวณหัวใจหรือลิ้นปี่ กระหายน้ำ ปวดสันไหล่ รวมถึงอาการทางจิต เช่น ใจหวิวบ่อยๆ เครียดง่าย ตื่นเต้นสูง นอนไม่หลับ อารมณ์ผันแปรง่าย คิดอะไรไม่ออกและเก็บกด เป็นต้น โรคใหลไม่ได้พบเฉพาะในคนไทยเพราะการเสียชีวิตในลักษณะเช่นนี้ยังพบได้ในภาคเหนือ (เรียกว่า หลับรวด) ในประเทศลาว (เรียกว่า ทำมะลา) ในประเทศฟิลิปปินส์ (เรียกว่า Bangungut) หรือในญี่ปุ่นซึ่งเรียกว่าโรค Pokkuri ความหมายของคำเหล่านี้ล้วนบ่งถึงการเสียชีวิตในขณะนอนหลับทั้งสิ้น
          โรคใหลตายกับหัวใจเต้นผิดจังหวะ
          การเสียชีวิตกะทันหันจากโรคใหลเกิดจากการเต้นระริกที่ไม่มีการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจที่เกิดขึ้นเอง (Spontaneous Ventricular Fibrillation, VF) ทำให้สมองขาดเลือดและออกซิเจนกะทันหันเป็นผลให้กล้ามเนื้อตามตัว แขนขาเกิดอาการเกร็งและหายใจเสียงดังจากการมีเสมหะในหลอดลม บางรายจะมีอุจจาระปัสสาวะราด จากการสูญเสียการควบคุมของระบบประสาทอัตโนมัติ ผู้ป่วยจะมีใบหน้า ริมฝีปากเขียวคล้ำและเสียชีวิตในเวลารวดเร็ว หากไม่ได้รับการกู้ชีวิตที่มีประสิทธิภาพ
          ผลจากการวิจัยชี้ให้เห็นว่า ผู้ป่วยโรคใหลที่รอดชีวิตร้อยละ 90 มีคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ และมีลักษณะเฉพาะ คือมีการยกตัวของคลื่น ST เหมือนกับที่คนไข้ที่เสียชีวิตกะทันหันในยุโรป ซึ่งวิธีที่จะป้องกันโรคใหลตาย คือ ปลูกฝังเครื่องกระตุกหัวใจ (ICD) ส่วนการรับประทานยาต้านหัวใจเต้นผิดจังหวะนั้น ไม่มีผลในการช่วยชีวิตแต่อย่างใด เพราะการใช้ไฟฟ้ากระตุกหัวใจให้กลับมาทำงานเป็นปกติ เพื่อหยุด VF โดยเร็วที่สุด ในบางครั้ง VF อาจหยุดเองได้และผู้ป่วยจะรอดตายได้เช่นกัน แต่ก็อาจจะเกิดสมองพิการถาวรหากขาดออกซิเจนนาน อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาดูเหมือนว่าการตรวจหัวใจไม่ว่าจะเป็นลิ้นหัวใจ กล้ามเนื้อและหลอดเลือดอย่างละเอียดจะให้ผลปกติ แต่กลับพบความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าหัวใจ สามารถกระตุ้นการเต้นระริกที่ไม่มีการบีบตัว  (ventricular fibrillation, VF) ได้โดยง่าย "คลื่นไฟฟ้าหัวใจดังกล่าวอาจกลับเป็นปกติได้ แต่จะสามารถตรวจพบด้วยการวางตำแหน่งที่สูงขึ้น หรือใช้ยาบางชนิด"
          นอกจากนี้การวิจัยยังพบข้อมูลที่น่าสนใจ โดยร้อยละ 30 ของครอบครัวผู้ป่วยใหลในไทยและ Pokkuri ในญี่ปุ่นมีความผิดปกติในหน่วยพันธุกรรม (gene) จริง มีผลให้การควบคุมประจุไฟฟ้าโซเดียมในระดับเซลล์ลดลง หรือไม่ทำงาน จึงเกิดการเต้นระริกขึ้นได้
          การศึกษาเพื่อหาทางรักษาและป้องกันการเสียชีวิตจากโรคอันตรายนี้ยังคงดำเนินอย่างต่อเนื่อง โดยสถาบันวิจัยหัวใจเต็นผิดจังหวะ แปซิฟิก ริม โรงพยาบาลกรุงเทพ (Pacific Rim Electrophysiology Research Institute at Bangkok Hospital) ร่วมกับโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิดวงตะวัน และมูลนิธิเวชดุสิต ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
 

 pageview  1205849    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved