Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก [ วันที่ 20/03/2556 ]
กินอยู่ อย่าลืมดู"ไต"

ไม่ใช่เพียงหัวใจ กระเพาะ และ ตับ ที่ ทุกคนต้องหันมาใส่ใจ อวัยวะอื่นๆ ก็มีบทบาทความสำคัญไม่แพ้กัน เริ่มจาก "ไต" ที่มีผลกระทบโดยตรงต่อการบริโภคอาหารของมนุษย์ยิ่งรับประทานอาหารไม่ถูกสุขลักษณะเท่าไหร่พิษในไตก็จะถูกสะสมมากขึ้น และระบายออกมาไม่ทันเป็นเหตุให้เกิดโรคไตวายเรื้อรัง
          ตามที่ ผศ.ดร. ชนิดา ปโชติการ นายกสมาคมนักกำหนดอาหารแห่งประเทศไทยกล่าวว่า ผู้ที่เป็นโรคไต ส่วนหนึ่งงมาจากอาหารที่รับประทาน เช่น อาหารที่มีรสเค็มจัด และอาหารที่ไม่สะอาด ซึ่งการรับประทานอาหารให้ห่างไกลโรคไตนั้น ควรเริ่มจากตัวเราก่อน โดยการปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ควรลดปริมาณอาหารให้พอดีกับความต้องการ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันจากสัตว์ และคอเลสเตอรอลสูง รวมถึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีรสจัดเกินไป เพื่อป้องกันโรคอ้วน ซึ่งจะเป็นสาเหตุสู่โรคอื่นๆ ตามมา เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไขมันอุดตันในเส้นเลือดซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเป็นโรคไตเรื้อรังที่ตามมา นอกจากนี้ควรดื่มน้ำสะอาด อย่างน้อยวันละ 6-8 แก้วจะช่วยให้เราห่างไกลจากโรคไตได้
          สำหรับ ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่ล้างไตด้วยการฟอกเลือด หรือการล้างไตผ่านทางช่องทอง ผศ.ดร. ชนิดา กล่าวเสริมว่าอาจมีการเกิดภาวะขาดสารอาหาร เนื่องจากผู้ป่วยอาจมีอาหารเบื่ออาหาร ทานอาหารได้น้อยลงรวมทั้งมีการสูญเสียสารอาหารระหว่างฟอกเลือด และการล้างไตทางช่องท้องดังนั้น ผู้ป่วยแต่ละคนควรมีความรู้ความเข้าใจในการเลือกกินอาหาร เพื่อให้ได้รับสารอาหารโปรตีนและพลังงานที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ผู้ป่วยควรรับประทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ ทั้งเนื้อสัตว์ ข้าวแป้ง ไขมันที่ดี รวมทั้งผักและผลไม้แต่ต้องกินในปริมาณที่แพทย์แนะนำ
          "เน้นบริโภคปลา เพราะเป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่ดี ย่อยง่าย มีไขมันต่ำ ในผู้ที่ล้างไตทางช่องท้องควรกินให้ได้ 4-6 ช้อนโต๊ะต่อมื้อและกินไข่ขาววันละ 2 ฟอง การจัดอาหารให้น่ารับประทาน และดัดแปลงเมนูให้หลากหลาย จะช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกอยากรับประทานอาหารมากยิ่งขึ้น เช่น ดัดแปลงเป็นซูชิไข่ขาว ห้อยจ๊อไข่ขาว หรือไส้กรอกอีสานไข่ขาว และอื่นๆ นอกจากนี้การใช้วุ้นเส้น มาใช้ในตำรับจะช่วยให้ท้องอิ่ม น้ำตาลขึ้นได้อย่างช้าๆ และเพื่อให้ได้พลังงานตามที่กำหนด" ผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำ
          ทั้งนี้ ผู้ป่วยสามารถเพิ่มรสชาติโดยการใช้สมุนไพรช่วยปรุงรส เช่นหอมแดง ใบมะกรูด กระเทียม ข่า ตะไคร้ กระชาย ผักชี ขิง ใบแมงลัก เป็นต้น หลีกเลี่ยงการดื่มชา กาแฟ ช็อกโกแลต น้ำอัดลม เพราะเครื่องดื่มเหล่านี้มีทั้งโพแทสเซียม และฟอสฟอรัสในปริมาณที่ค่อนข้างสูง งดการดื่มสุราและสูบบุหรี่ ทั้งนี้ผู้ป่วยควรออกกำลังกายเบาๆ ซึ่งจะช่วยให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่า กล้ามเนื้อแข็งแรง และควบคุมความดันโลหิตได้ดีขึ้น สุขภาพจิตไม่เสื่อมลงสามารถอยู่อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้
 

 pageview  1205675    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved