Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก [ วันที่ 20/03/2556 ]
หัวใจเต้นผิดจังหวะ สัญญาณอันตราย

หัวใจ (Heart) เป็นอวัยวะชิ้นเดียวในร่างกายที่ทำงานตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่เคยหยุด เป็นอวัยวะของร่างกายมนุษย์ที่มีหน้าที่สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย โดยการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ (cardiac muscle) ทั้ง 4 ห้องที่ถูกกระตุ้นอย่างเหมาะสมและเป็นระบบ ผ่านกลไกการนำสัญญาณไฟฟ้าผ่านเส้นประสาทในหัวใจ ทุกจังหวะการเต้นของหัวใจจึงเป็นเหมือนสัญญาณบ่งบอกถึงความสมบูรณ์หรือความผิดปกติของสุขภาพ         
          อัตราการเต้นที่ปกติของหัวใจในขณะพักของผู้ใหญ่ทั่วไปเฉลี่ยประมาณ 60-100 ครั้งต่อนาที ไม่ควรเกิน 80 ครั้งต่อนาที ในกรณีที่พักผ่อนเพียงพอและไม่ตื่นเต้น ไม่ควรช้าหรือเร็วเกินกว่านี้มากนัก เมื่อใดเกิดภาวะที่หัวใจเต้นช้าหรือเร็วมากเกินไปหรือเต้นสะดุดไม่สม่ำเสมอ เรียกว่า "ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ" หากปล่อยทิ้งไว้อาจมีอาการรุนแรงจนส่งผลร้ายต่อสุขภาพและในบางกรณีอาจมีอันตรายถึงชีวิตได้
          สาเหตุของโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Cardiac Arrhythmia)
          อาจเกิดจากสาเหตุภายในหัวใจเอง เช่น จุดกำเนิดไฟฟ้าภายในหัวใจทำงานผิดปกติ ซึ่งอาจเป็นแต่กำเนิดหรือเกิดภายหลังจากโรคหรือความเสื่อมสภาพของตัวหัวใจและหลอดเลือดที่มาเลี้ยง หรือเกิดการลัดวงจรของการนำสัญญาณไฟฟ้าภายในหัวใจ ซึ่งมักจะเป็นมาแต่กำเนิด และสามารถเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย โดยทั่วไปมักแสดงอาการเมื่ออายุ 20-40 ปีขึ้นไป
          นอกจากนี้ หัวใจเต้นผิดจังหวะอาจเกิดจากสาเหตุภายนอกหัวใจก็ได้ เช่น ภาวะขาดน้ำ มีไข้สูง ไทรอยด์เป็นพิษ เกลือแร่ในเลือดที่ผิดปกติมากๆ โลหิตจางจากสาเหตุต่างๆ ความตึงเครียด การอดนอนสะสม รวมถึงจากยาหรือเครื่องดื่มที่มีฤทธิ์กด หรือกระตุ้นหัวใจ
          โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ แบ่งได้เป็น 2 ประเภท
          1.อัตราการเต้นของหัวใจช้าผิดปกติ หัวใจเต้นต่ำกว่า 60 ครั้งต่อนาที ในผู้ที่ออกกำลังกายเป็นประจำอาจมีชีพจรช้ากว่า 60 ครั้งต่อนาทีได้ในขณะพัก ผู้ป่วยจะมีอาการมึนงง หวิว วูบ หมดสติ อาจมีอาการอ่อนเพลียเหนื่อยง่าย หรือหัวใจเต้นแรงกว่าปกติ
          2.อัตราการเต้นของหัวใจเร็วผิดปกติ หัวใจเต้นต่ำกว่า 60 ครั้งต่อนาที ในผู้ที่ออกกำลังกายเป็นประจำอาจมีชีพจรช้ากว่า 60 ครั้งต่อนาทีได้ในขณะพัก ผู้ป่วยจะมีอาการเหนื่อยง่ายใจสั่น  ซึ่งอาจเกิดร่วมกับอาการเจ็บแน่นหน้าอก เป็นลม
          นอกจากอาการที่กล่าวมาแล้ว หัวใจเต้นผิดจังหวะยังอาจส่งผลให้เกิดความวิตกกังวล หรือกลัวจนไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ และบ่อยครั้งที่ผู้ป่วยได้รับคำแนะนำว่า อาการทั้งหมดเกิดจากความเครียดและได้รับยาคลายความวิตกกังวล หรือยานอนหลับมารับประทานเป็นระยะเวลานานจนไม่สามารถหลับเองได้ถ้าไม่รับประทานยา แต่อาการของผู้ป่วยกลับไม่ดีขึ้นจนรู้สึกว่าเป็นโรคที่รักษาไม่หาย ในทางกลับกัน ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะส่วนหนึ่งจะไม่มีอาการ ทำให้ไม่ตระหนักถึงความสำคัญและภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ หากไปออกกำลังกายกระตุ้นหัวใจและเกิดการเต้นผิดจังหวะชนิดที่รุนแรงตามมาอาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้
          การตรวจภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
          ทำได้โดยการตรวจคลื่นหัวใจขณะมีอาการ หรือติดเครื่องบันทึกการเต้นของหัวใจไว้กับตัวผู้ป่วย นอกจากนี้อาจต้องตรวจดูว่าผู้ป่วยมีโรคหัวใจชนิดอื่นร่วมด้วยหรือไม่ ได้แก่ การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกายเพื่อดูความสัมพันธ์ของการออกกำลังกายกับการเต้นของหัวใจ การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง การตรวจโดยวิธี Tilt Table Test คือการทดสอบภาวะการเป็นลมหมดสติโดยการปรับระดับเตียง เพื่อทดสอบในผู้ป่วยที่มีอาการเป็นลมบ่อยๆ และยังมีการตรวจหัวใจโดยใช้ Computer ชนิด CT Scan 64 Slice และ Cardiac MRI รวมั้งการฉีดสีผ่านสายสวนหัวใจ เป็นต้น
          วิธีการรักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะ
          หลังทราบชนิดและสาเหตุของหัวใจเต้นผิดจังหวะแล้ว ก็ต้องรักษาตามสาเหตุ ซึ่งมีตั้งแต่ไม่ต้องทำอะไรเพียงแต่ต้องระวังสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดภาวะเต้นผิดจังหวะการกินยา การรักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะจากการขาดเลือดโดยการทำบอลลูนขยายหลอดเลือดหัวใจ การจี้กล้ามเนื้อหัวใจบริเวณที่ลัดวงจรด้วยคลื่นวิทยุความถี่สูงและการฝั่งเครื่องกระตุ้นหัวใจหรือเครื่องกระตุกหัวใจในผู้ป่วยที่มีข้อบ่งชี้
          ผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองด้วยวิธีตามธรรมชาติ เพื่อช่วยบรรเทาอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ และป้องกันการเกิดโรคได้ ด้วยการผ่อนคลายความเครียด งดเครื่องดื่มชา กาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง และน้ำอัดลม นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รวมถึงการรับประทานอาหารที่เหมาะสม ก็เป็นอีกปัจจัยเสริมที่จะช่วยลดการเกิดโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะได้
 

 pageview  1205546    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved