Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก [ วันที่ 28/02/2556 ]
รถคันแรกทำหนี้ท่วม ครัวเรือนแบกอ่วม 2.9ล้านล้านบาท

 สภาพัฒน์"ชี้คนไทยอ่วม หนี้ครัวเรือนพุ่ง 2.9 ล้านล้านบาท หนี้รถอันดับ 1 หวั่นปี 56 ยอดหนี้ ทะลุ สั่งจับตาหลังบริษัทรถยนต์ทยอยส่งรถให้ลูกค้า
          เป็นประเด็นที่น่าห่วงสำหรับคนไทยหลังจากคณะกรรมพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ออกมาแสดงความเป็นห่วงในเรื่องหนี้ครัวเรือนของประชาชนที่พุ่งขึ้นสูงอย่างต่อเนื่องตลอดปี 2555 และอาจจะต่อเนื่องไป ถึงปี 2556
          เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ นางสุวรรณี คำมั่น รองเลขาธิการสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า จากการติดตามความเคลื่อนไหวของสังคมไทย ทั้งดานเศรษฐกิจและสังคมในช่วงไตรมาสสี่และภาพรวมตลอดปี 2555 พบว่า ขณะนี้สังคมไทยยังน่าเป็นห่วงอยู่ในหลายประเด็น โดยเฉพาะครัวเรือนไทยเสี่ยงต่อการเป็นหนี้ซ้ำซ้อน เหตุจากการก่อหนี้ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยขณะนี้มียอดค้างสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค รวมมูลค่าถึง 2.9 ล้านล้านบาท ซึ่งกว่าร้อย 21 มูลค่าถึง 2.9 ล้านล้านบาท ซึ่งกว่าร้อยละ 21 เป็นการเพิ่มขึ้นในกลุ่มสินเชื่อซื้อรถยนต์ สินเชื่อ ซื้อรถจักรยานยนต์ ร้อยละ 33 และสินเชื่อเพื่อบริโภคส่วนบุคคล ร้อยละ 29
          ขณะที่ตัวเลขการผิดนัดชำระหนี้ ในช่วง ไตรมาสที่ผ่านมายังคงอยู่ในระดับสูง โดยอ้างอิงจากรายงานการผิดนัดชำระหนี้เกิน 3 เดือน ของสินเชื่อภายใต้การกำกับนั้น เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 28 ส่วนสินเชื่อบัตรเครดิต ร้อยละ 3 นอกจากนี้ตัวเลขหนี้สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือหนี้เสีย(เอ็นพีแอล) จากสินเชื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.5 ซึ่งขัดแย้งกับอัตราการออมภาคครัวเรือนที่ลดลงต่ำ เพียงร้อยละ 5 ของจีดีพี ซึ่งข้อมูลในปี 2554 ระบุว่า ร้อยละ 54 ของครัวเรือนไทยนั้น ไม่มีความสามารถในการออมเงิน
          "ในช่วงไตรมาสที่สี่และภาพรวมตลอดทั้งปี 2555 ที่ผ่านมา เราพบว่าอัตราการก่อหนี้ของครัวเรือนไทยพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการกู้สินเชื่อเพื่อซื้อรถยนต์ ซึ่งตรงกันข้ามกับความสามารถในการชำระหนี้จึงต้องคอยจับตามอง หลังจากผ่านช่วงไตรมาสแรกของปี 2556ที่ทางบริษัทรถได้ทยอยส่งมอบให้ลูกค้า ว่าการผิดนัดชำระหนี้จะเพิ่มขึ้นสูงตามแนวโน้มปี 2555 หรือไม่"นางสุวรรณี กล่าว
          นางสุวรรณี กล่าวต่อว่า ส่วนสถานการณ์ ด้านสังคมนั้น พบว่า ปัญหาอาชญากรรมยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่จะต้องวางมาตรการและเฝ้าระวังปัญหาอย่างต่อเนื่อง จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง เนื่องจากจำนวนคดีอาญารวมในไตรมาสนี้เพิ่มขึ้นทุกประเภท ซึ่งคดีที่มีสัดส่วนมากที่สุดคือคดียาเสพติด ร้อยละ 83 มี การรับแจ้งคดีมากถึง 100,401 คดีเพิ่มขึ้นจากไตรมาสสี่ปี 2554 ร้อยละ 17 และไตรมาสสาม ปี 2555 ร้อยละ 12 โดยตลอดทั้งปี 2555 คดี ความเกี่ยวกับยาเสพติดเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 5
          "กลุ่มที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือเด็กและเยาวชนเพราะพบว่าเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของนักค้ายาเสพติด โดยใช้วิธีการกระจายยาเสพติดลงไปในชุมชน ซึ่งจากข้อมูลระบบติดตามและการเฝ้าระวัง ระบุว่าในปี 2555 เยาวชนช่วงอายุที่เข้ารับการบำบัดมากที่สุดคือ 18-24 ปี ขณะเดียวกันกลุ่มอายุ12-17 ปี ก็มีแนวโน้มเข้าบำบัดเพิ่มขึ้น จากปี 2554 กว่าร้อยละ 68" นางวุรรณี กล่าว
          นางสุวรรณี กล่าวต่อว่า ใน ไตรมาสนี้ประเด็นเฝ้าระวังที่สำคัญคือ การกระทำความรุนแรงในเด็กและสตรี โดยสัดส่วนของเด็กที่ถูกทำร้ายนั้น จะเป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชายถึง 8 เท่า ซึ่งส่วนใหญ่เด็กเหล่านี้จะถูกกระทำความรุนแรงในช่วงวัยรุ่นคือ อายุ10-15 ปี และส่วนใหญ่เป็นการกระทำความรุนแรงทางเพศเป็นอันดับหนึ่ง ร้อยละ 74 ซึ่งสอดรับกับปัญหาความรุนแรงในครอบครัวที่ผู้ถูกกระทำส่วนมากเป็นฝ่ายหญิง อายุระหว่าง 25-45 ปี โดยเป็นการทำร้ายร่างกายจากคู่สมรส ร้อยละ 74 และแฟน ร้อยละ 65
          ส่วนแนวทางแก้ไขปัญหา การกระทำความรุนแรงในเด็กและสตรี นางสุวรรณี กล่าวว่า ขณะนี้ทางรัฐบาลวางแผนไว้ 2 ระยะ คือ ใน ระยะสั้นจะเร่งดำเนินการ ปรับปรุงระบบให้บริการประชาชนสามารถเข้าถึงการให้ความรู้และคำปรึกษาในการดูแลเด็กและบุตรหลาน ทั้งด้านพัฒนาการทางอารมณ์และพัฒนาการด้าน ร่างกาย ส่วนในระยะยาวรัฐบาลตั้งเป้าหมายการดำเนินการเพื่อลดอัตราการเกิดปัญหาด้านสังคม 4 ด้าน คือ 1.ปัญหาท้องในวัยเรียน 2.ปัญหาการค้าแรงงานเด็ก 3. ปัญหาการค้ามนุษย์ และ 4.ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว โดยทางหน่วยงานส่วนกลางจะทำการประสานไปยังหน่วยงานส่วนท้องถิ่น เพื่อให้มีการจัดทำระบบฐานข้อมูลปัญหาทั้งหมด ตั้งแต่ในระดับตำบล เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลของผู้กระทำความผิดได้อย่างรวดเร็ว
          นายสุวรรณี กล่าวต่อว่า ส่วนด้านการเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังโดยรวม พบเพิ่มขึ้นร้อยละ 57 โดยมีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสูงกว่าไตรมาสที่ สี่ ปี 2554 เกือบ 3 เท่าตัว ในขณะที่ภาพรวมในปี 2555 พบผู้ป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังเพิ่มขึ้นจากปี 2554 ร้อยละ 16 ซึ่งโรคที่พบมากและมีอาการรุนแรงขึ้น ได้แก่ โรคปอดอักเสบ ไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก และโรคมือ เท้า ปาก ส่วนการป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังนั้น ก็ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อยละ 11 จากปี 2554 ด้วยเช่นกัน โดยโรคที่พบมากที่สุดคือความดันโลหิต

 pageview  1205461    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved