Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก [ วันที่ 05/02/2555 ]
ครู D.A.R.E' วัคซีนป้องกันยาเสพติด
          'ครู D.A.R.E.'วัคซีนป้องกันยาเสพติด : สัมภาษณ์พิเศษ  พล.ต.ท.ชัยวัฒน์ โชติมา ผบช.ปส.  โดย พัฐอร พิจารณ์โสภณ
          ตั้งแต่เก้าอี้ผู้บัญชาการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผลัดใบมาเป็นของอดีตผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (ผบช.ปส.) พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ข่าวการจับกุมยาเสพติดประภทต่างๆ ทั้งลอตเล็กลอตใหญ่ปรากฏตามสื่อต่างๆ แทบทุกวัน สอดคล้องกับ "สวนดุสิตโพล" ได้สำรวจแนวความคิดประชาชนทั่วประเทศเมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา พบว่า ร้อยละ 40.69 เชื่อว่า ยาเสพติดมีแนวโน้มว่าจะมากขึ้น เพราะปัญหาสังคมที่เสื่อมถอยและการละเลยของเจ้าหน้าที่ทำให้มีผู้เสพมากขึ้น ?!!
          ร้อนถึงเก้าอี้ ผบช.ปส. พล.ต.ท.ชัยวัฒน์ โชติมา จะมีมาตรการปราบปรามยับยั้งยาเสพติดที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ขณะนี้อย่างไร รวมถึงจะเพิ่มมาตรการป้องกันอย่างไร ให้เยาวชนห่างไกลจากยาเสพติดได้
          -เหตุใดยาเสพติดปราบปรามไม่หมดสักที
          การปราบปรามไม่ได้ทำให้ปัญหายาเสพติดหมดลงไปได้อย่างเด็ดขาด อันนี้เราต้องยอมรับ สิ่งที่เราต้องทำก็คือสร้าง "ภูมิคุ้มกัน" ให้เด็กเยาวชนรุ่นใหม่ๆ เข้าใจว่า ถ้าไปยุ่งกับยาเสพติดจะเป็นอย่างไรบ้าง ต้องบอกว่ามันเป็นธรรมชาติ ในเมื่อยังมีซัพพลายหรือสินค้าที่พร้อมจะขายอยู่อย่างไม่จำกัด เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้เพียงแต่จับกุมไปเรื่อยๆ เพื่อลดซัพพลายที่มีอยู่มาก และสิ่งที่ต้องทำคือ การลดดีมานด์หรือความต้องการซื้อจากลูกค้าโดยการนำผู้เสพเข้าสู่กระบวนการบำบัด ตอนนี้หลายหน่วยงานมีการร่วมกันแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) กระทรวงสาธารณสุข และเจ้าหน้าที่ตำรวจในการหาผู้เสพเข้าสู่กระบวนการบำบัด เมื่อความต้องการซื้อของผู้เสพลดลง เจ้าหน้าที่ก็ทำหน้าที่ลดจำนวนยาเสพติดที่มี ด้วยการกวาดล้างจับกุมกันอยู่ในตอนนี้
          -จะสร้างภูมิคุ้มกันให้เยาวชนไม่ไปยุ่งกับยาเสพติดอย่างไร
          ตอนนี้ได้มีการร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) ในเรื่อง "การให้การศึกษาเพื่อต่อต้านการใช้ยาเสพติดในสถานศึกษา" (Drug Abuse Resistance Education : D.A.R.E.) ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร และป.ป.ส. เพื่อเสริมสร้างทัศนคติให้แก่นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โดยใช้ "ครู D.A.R.E." เข้าไปสอนการปฏิเสธยาเสพติดและทำความเข้าใจว่าจะมีผลร้ายต่อสังคมต่อตัวเองอย่างไรบ้าง เป็นการสร้างเครือข่ายระหว่างเด็กนักเรียนที่ได้รับการสอน เป็นการสร้างพลังของชุมชนอย่างหนึ่ง หลังจากโครงการ D.A.R.E. ได้เริ่มในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2542 ปัจจุบันมีตำรวจที่ทำหน้าที่ครู D.A.R.E. จำนวน 2,202 คน มีนักเรียนที่ผ่านการฝึกอบรมแล้วจำนวน 7.3 แสนคน
          -เป้าหมายของโครงการ D.A.R.E. ในปีนี้
          หน้าที่ของ บช.ปส. มีหน้าที่ผลิตตำรวจในพื้นที่ให้กลายเป็นครู D.A.R.E. จากที่ผ่านมามีอยู่กว่า 2,000 คน ปีนี้ก็จะผลิตเพิ่มอีก 2,000 คน และตั้งเป้าจะสอนให้ได้ 30% ของเด็กนักเรียน ป.6 ทั่วประเทศ เพราะเป็นวัยที่กำลังมีความเสี่ยงที่จะไปยุ่งกับยาเสพติด โครงการนี้เริ่มมากว่า 13 ปีแล้วแต่ยังขาดความต่อเนื่อง ตอนนี้มีเอ็มโอยูที่เกิดขึ้น ก็จะมีการกำหนดบทบาท เช่น กระทรวงศึกษาธิการจะมีการหาโรงเรียนให้ครู D.A.R.E. ที่อยู่ในพื้นที่นั้นไปสอน และกำหนดลงไปในหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ 13 ชั่วโมงต่อเทอม กระทรวงมหาดไทย ในส่วนองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นก็จะคอยช่วยในเรื่องอุปกรณ์การเรียนต่างๆ ครู 1 คนจะสอน 4 ห้อง เทอมละ 2 ห้อง เขาสอนสัปดาห์ละ 2 ชั่วโมง ก็ไม่กระทบการปฏิบัติหน้าที่ราชการ และเขาจะสามารถสร้างเครือข่ายกับครูและอบต.ท้องถิ่นต่างๆ ซึ่งเหมือนเป็นการเข้าหาชุมชนไปในตัว
          ตอนนี้ ครู D.A.R.E. มีการเริ่มอบรมกันแล้วอยู่ที่ตำรวจภูธรภาค 7 จ.นครปฐม โดยให้แต่ละพื้นที่คัดมาอบรมประมาณ 10 วันเต็ม เราอยากให้ตอนนี้ผู้บังคับบัญชาในแต่ละพื้นที่ได้เข้าใจว่าเป็นบทบาทอย่างหนึ่งของตำรวจไปแล้ว โดยคุณสมบัตินั้นจะให้พื้นที่เลือกตำรวจที่สมัครใจ และมีคุณสมบัติพร้อมที่จะถ่ายทอดที่ดี จะเป็นชั้นประทวนและทั้งสัญญาบัตรก็ได้มาอบรม รวมทั้งมีการทบทวนครู D.A.R.E. กว่า 1,000 คนที่ขาดการสอนมาติวเข้มรื้อวิชากันอีกครั้ง ซึ่งคาดว่าจะอบรมให้เสร็จในเดือนกันยายนนี้
          - คิดว่าครู D.A.R.E. จะช่วยลดปัญหายาเสพติดในสังคมได้อย่างไร
          จะช่วยให้ความรู้แก่เด็ก ปรับทัศนคติ ปรับให้เข้าใจอันตรายต่างๆ ยาเสพติดและอาชญากรรมอื่นๆ วิธีการติดต่อสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ตำรวจกรณีมีเหตุเกิดขึ้น เราจะสร้างทุกปีต้องทดแทนบางคนที่เกษียณไป และภายในสามปีก็ว่าจะครบทั้งโรงเรียน เราเหมือนเป็นครูต้นแบบที่ไปสอนครู D.A.R.E. ในทุกพื้นที่ เหมือนไปสร้างเครือข่ายให้เขา ในอนาคตถ้าทำได้ดีก็อาจจะสอนตั้งแต่เด็กๆ เลยก็ได้ ถ้าเป็นโครงการที่ดีทุกหน่วยน่าจะเดินต่อเป็นวิธีการที่ยั่งยืน เขาต้องมีภูมิคุ้มกันกับปัญหาที่รุมล้อมเขาได้
          - นอกจากการป้องกันแล้วการปราบปรามต้องเข้มข้นเพียงใด
          ทุกหน่วยงานก็มีการช่วยกันสกัดกั้นตั้งแต่นอกประเทศมีการประสานงานกับประเทศเพื่อนบ้านเรื่องข้อมูลข่าวสารมีอะไรที่พอจะแลกเปลี่ยนกันได้ และตำรวจของประเทศต่างๆ ที่อยู่ในประเทศไทย ก็มีการแชร์ข้อมูลในด้านการข่าว พอถึงบริเวณชายแดนก็มีการสกัดกั้นทั้งทหาร ตำรวจ ตชด. ตำรวจพื้นที่ พยายามกดดันพื้นที่บริเวณชายแดน พื้นที่เราเป็นพรมแดนธรรมชาติ จึงต้องใช้งานการข่าว เมื่อเข้ามาได้ต้องมีการสกัดกั้นการลำเลียงโดยตั้งจุดตรวจ จุดสกัด และมีการพัฒนาด่านและบุคลากรและสถานที่ทางกายภาพ ให้มีสถานที่ทำงานได้สะดวกมากขึ้น เป็นด่านพื้นที่แต่ระบบกล้องที่นำมาใช้ที่ไม่ขอบอกว่าเป็นแบบไหน เดี๋ยวคนร้ายจะรู้หมด โดยเราต้องมีการพัฒนาให้ทันคนร้าย และในเบื้องต้นมีการนำ "เครื่องเอกซเรย์ขนาดใหญ่" มาตั้งจำนวน 2 เครื่อง ที่ จ.ลำปาง และ จ.แพร่ เนื่องจากเป็นจุดเส้นทางหลักในการลำเลียง เครื่องนี้มีขนาดใหญ่ที่รถบรรทุกสามารถขับเข้าได้ เพื่อสกัดกั้นรถที่ลำเลียงยาเสพติด ที่บางส่วนเป็นการสั่งจากนักโทษในเรือนจำ
          -มองเรื่องการย้ายนักโทษยาเสพติดไปที่เรือนจำเขาบินอย่างไรบ้าง
          ผมเห็นด้วยร้อยเปอร์เซ็นต์ อะไรที่มันเป็นปัญหาแล้วก็ต้องแก้ให้ตรงจุด ในความเป็นจริงให้ตำรวจไปวิ่งตามทั่วประเทศก็คงไม่ไหว เราก็ทำได้ในระดับหนึ่ง ตรงนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องสนับสนุน ในเมืองนอกมีเรือนจำความมั่นคงสูง ไม่ใช่แค่โทษยาเสพติด แต่ในรายนักโทษสำคัญ เขาก็มีการทำแบบนั้นไม่ว่าจะตัดสัญญาณต่างๆ เขามีวิธีของเขา เพราะที่ผ่านมาเขามีการสั่งมาจากข้างใน ตำรวจเราเข้าไปไม่ได้ก็ต้องมาหาข่าวมาไล่ตามข้างนอกมาขยายผล แต่ก็ไม่สามารถขยายผลไปถึงตัวการสำคัญที่อยู่ข้างในได้ เมื่อทุกคนทราบถึงปัญหาแล้ว แก้ปัญหาได้ถูกจุดถ้าเราหยุดยั้งตัวการสำคัญได้ผมมองว่าจะลดไปเยอะ
          - กรณีมีการวิพากษ์เรื่องการจัดฉากการจับกุมยาเสพติด
          จริงๆ แล้วอยากให้มองว่าปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาของประเทศชาติและส่วนรวม เราต้องการกำลังใจและความร่วมมือจากทุกฝ่าย เมื่อจับกุมยาเสพติดได้มันมีระเบียบทางกฎหมาย เมื่อยาเสพติดอยู่ที่พนักงานสอบสวนก็จะมีกระบวนการส่งไปตรวจพิสูจน์ที่ ป.ป.ส. และส่งไปยังกระทรวงสาธารณสุข เป็นขั้นตอนที่ปฏิบัติกันมาตลอดอยู่แล้ว ซึ่งไม่อยากให้มองว่ายาเสพติดเป็นเรื่องของการเมืองแต่เป็นปัญหาของทุกคน
          - หลังจากมีโพลล์ออกมาว่าประชาชนเชื่อว่าแนวโน้มยาเสพติดจะมากขึ้น ในฐานะฝ่ายปราบปรามมองอย่างไร
          ตอนนี้แต่ละหน่วยทำงานกันอย่างเต็มที่และมีการขับเคลื่อนไปพร้อมกันไม่ว่าจะเป็นตำรวจ ทหาร ป.ป.ส. กรมราชทัณฑ์ กระทรวงต่างๆ ถ้ากระบวนการขับเคลื่อนเป็นไปได้ดี ผมมีความเชื่อมั่นว่าสถานการณ์มันจะต้องดีขึ้น แต่การแก้ปัญหายาเสพติดอย่างยั่งยืนและถาวร ต้องเริ่มที่ "ครอบครัว" ถ้าเขามองไม่เห็นว่ามีพ่อแม่หรือใครที่เขาจะปรึกษาได้เขาก็หันไปหายาเสพติดและเพื่อนที่จะชักนำ รวมทั้งการตลาดของผู้ค้าที่จะชักจูงเข้าไปเสพได้ง่าย การปราบปรามเป็นเพียงการกดปัญหาให้อยู่ในสภาวะควบคุมได้ แต่การป้องกันสำคัญที่สุดผมยังยืนยัน ถ้าครอบครัวดี สังคมดี ผมเชื่อว่าอะไรดีๆ จะตามมา หากใครมีเบาะแสยาเสพติดสามารถแจ้งมาได้ที่ 1386 โดยข้อมูลของท่านนั้นจะถูกเก็บเป็นความลับ!!
          ..............
          (หมายเหตุ : 'ครู D.A.R.E.'วัคซีนป้องกันยาเสพติด : สัมภาษณ์พิเศษ พล.ต.ท.ชัยวัฒน์ โชติมา ผบช.ปส. โดย พัฐอร พิจารณ์โสภณ)
 pageview  1206114    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved