Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก [ วันที่ 16/07/2561 ]
อย.จ่อสอบปม ยาความดัน ก่อมะเร็ง

เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเรียกเก็บคืนผลิตภัณฑ์ยาวาลซาร์แทน (Valsartan) ซึ่งเป็นกลุ่มยาความดันโลหิต ใน 22 ประเทศทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย ว่า กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจากพบสารก่อมะเร็งในวัตถุดิบที่ใช้ใน การผลิตยา โดยบริษัท เจ้อเจียง หัวไห่ ฟาร์มา ซูติคอล ซึ่งเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบวาลซาร์แทน ในสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ออกมายอมรับถึงความผิดพลาดดังกล่าว ว่าเกิดจากการเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิตวัตถุดิบนั้น
          สำหรับในประเทศไทย มีบริษัทผู้รับอนุญาตผลิตหรือนำหรือสั่งยาวาลซาร์แทนเข้ามาในราชอาณาจักร จำนวน 7 บริษัท และมีทะเบียน ตำรับยาที่ได้รับอนุญาตให้จำหน่าย จำนวน ทั้งสิ้น 14 ตำรับ ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า มีบริษัทผู้รับอนุญาตที่ใช้วัตถุดิบจาก เจ้อเจียง หัวไห่ ฟาร์มาซูติคอล เพียง 2 ราย ได้แก่ บริษัท สีลมการแพทย์ จำกัด และ บริษัท ยูนีซัน จำกัด ซึ่งมีเลขทะเบียนตำรับ รวม 5 ตำรับ
          นพ.วันชัย กล่าวว่า ปัญหาคือเมื่อทางบริษัท ผู้ผลิตได้ซื้อเคมีจากจีนทราบเรื่องดังกล่าว ก็รีบแจ้งทางอย.และให้เรียกเก็บทันที ส่วนทาง อย.จะมีการดำเนินการอย่างไรนั้น ก็จะมีกระบวนการขั้นตอนในการสอบสวนกับบริษัท ผู้ผลิตว่าจะดำเนินการอย่างไร แต่ขั้นแรกเพื่อความปลอดภัย ทาง อย.ต้องเรียกคืนผลิตภัณฑ์ยาเหล่านี้ ซึ่งมีทั้งหมด 5 ตำรับก่อน ประกอบด้วย กลุ่มยาของ บริษัท สีลมการแพทย์ จำกัด จำนวน 2 ทะเบียนตำรับ ได้แก่ 1.ยา VALATAN 80 ทะเบียนตำรับยาเลขที่ 1A 9/54 (NG) และ 2.ยา VALATAN 160 ทะเบียน ตำรับยาเลขที่ 1A 10/54 (NG) และของ บริษัท ยูนีซัน จำกัด จำนวน 3 ทะเบียนตำรับ ได้แก่ 1.ยา VALSARIN 80 ทะเบียนตำรับยาเลขที่ 1A 4/60 (NG) 2. ยา VALSARIN 160 ทะเบียน ตำรับยาเลขที่ 1A 5/60 (NG) 3. ยา VALSARIN 320 ทะเบียนตำรับยาเลขที่ 1A 6/60 (NG)
          "ส่วนที่หลายคนใช้ยาความดันโลหิต ดังกล่าวแล้วกังวลว่าอนาคตจะเกิดมะเร็งหรือไม่และจะเรียกร้องจากใคร จริงๆ แล้วสามารถฟ้อง โดยตรงกับทางบริษัท โดยใช้กฎหมายของ สคบ.ได้ แต่ อย.ก็ไม่นิ่งนอนใจ เราก็มีกฎหมายในการ ควบคุมผลิตภัณฑ์ยา ซึ่งต้องสอบสวนบริษัทยาเป็นขั้นตอนต่อไป สิ่งสำคัญคือการเรียกคืนผลิตภัณฑ์ภายใน 15 วันก่อน แต่ไม่ต้องกังวลว่าจะไม่มียาอื่นใช้ เพราะในกลุ่มเดียวกันยังเหลือ อีก 9 ตำรับในการใช้ได้ ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณา และหากมีข้อกังวลให้สอบถามหรือร้องเรียนมา ได้ที่สายด่วน อย. 1556" นพ.วันชัย กล่าว
          ผู้สื่อข่าวถามว่า มีคนกังวลว่าอนาคตหากป่วยมะเร็งจะมาจากสาเหตุของยาหรือไม่ นพ.วันชัย กล่าวว่า หากเป็นเช่นนั้นต้องมีการพิสูจน์ว่ามาจากยาและสามารถฟ้องร้องดำเนินคดีกับทางบริษัทได้
          "นอกจากนี้ยังมีคำสั่งให้ผู้รับอนุญาตผลิตยาทั้งสองแห่งระงับการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาวาลซาร์แทนทุกทะเบียนที่มีการใช้วัตถุดิบวาลซาร์แทนจากแหล่งผลิตดังกล่าวชั่วคราว รวมทั้งระงับการจำหน่ายเภสัชเคมีภัณฑ์วาลซาร์แทน ที่มาจากแหล่งผลิตดังกล่าว และ อย.จะดำเนินการควบคุมการทำลายต่อไป อีกทั้ง ให้แจ้งข้อมูลรายละเอียดการนำเข้าและขายเภสัช เคมีภัณฑ์วาลซาร์แทนแต่ละรุ่น จากทุกแหล่งผลิต ตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน ให้ อย.ทราบภายในวันที่ 31 กรกฎาคมนี้" เลขาฯ อย.กล่าว
          สธ.ประกาศห้ามจำหน่าย"ไขมันทรานส์"
          สธ.ออกประกาศ ห้ามผลิต-นำเข้า-จำหน่าย "ไขมันทรานส์" มีผลบังคับใช้อีก 180 วัน
          มีรายงานว่า วันที่ 13 มิถุนายน ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 388 พ.ศ. 2561 เรื่องกำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย "ไขมันทรานส์" โดยปรากฏหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนว่า กรดไขมันทรานส์ จากน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน ส่งผลเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 วรรคหนึ่ง และมาตรา 6 (8) แห่งพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้
          ข้อ 1 ให้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนและอาหารที่มีน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนเป็นส่วนประกอบ เป็นอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย ข้อ 2 ประกาศฉบับนี้ ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวัน นับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

 pageview  1204508    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved