Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก [ วันที่ 06/07/2561 ]
ชีวิตรอดในถ้ำลึก ทักษะชีวิตที่พ่อแม่ไม่ควรมองข้าม

 จากเหตุการณ์น้องๆ นักฟุตบอลและโค้ชทีมหมูป่า หายเข้าไปในถ้ำหลวง -ขุนน้ำนางนอน ที่จ.เชียงราย เรื่องราวเหล่านี้กลายเป็นเรื่องใกล้ตัวที่หลายคนตั้งคำถามว่า หากเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นกับเราหรือคนใกล้ตัวเราจะทำอย่างไร? โดยเฉพาะกับเด็กๆ จะเอาชีวิตรอดจากสถานการณ์เหล่านั้นได้อย่างไร สิ่งเหล่านี้เองคือทักษะชีวิต ที่พ่อแม่ผู้ปกครองไม่ควรมองข้าม
           จะว่าไปแล้วสังคมควรเข้าใจว่าเด็กทั้ง 13 คน อยู่ในฐานะผู้รอดชีวิต สิ่งที่ควรทำคือไม่ใช่การเข้าไปซ้ำเติม แต่สิ่งที่ควรทำคือการส่งเสริมการเป็นกลุ่มเป็นก้อนของเขา เช่น การสนับสนุนให้เล่นฟุตบอลตามที่เขาถนัด ส่งเสริมในเรื่องความเข้มแข็งจนผ่านวิกฤติได้ เพื่อให้เด็กมีชีวิตต่อไปอย่างมีคุณค่าและมีศักดิ์ศรี     
          นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์
           ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าวว่า เพราะเด็กที่รอดชีวิตออกมาการที่ติดในถ้ำเป็นระยะเวลานาน คิดว่าเขารู้อยู่แล้วถึงผล กระทบและปัญหาต่างๆ ที่ตามมา และสิ่งที่เกิดขึ้นเขาก็ไม่ได้ตั้งใจเชื่อว่าคงไม่กลับไปทำเช่นนั้นอีก วีรบุรุษคือทีมช่วยเหลือทุกทีมที่มีการจัดการที่ดีทั้งทีมที่เปิดเผยตัวต่อสาธารณชน หรือที่ทำงานอยู่เบื้องหลังอีกมากที่ร่วมมือกันจนเจอเด็ก คนพวกนี้คือวีรบุรุษที่ต้องได้รับการยกย่อง ให้เขารู้สึกอิ่มเอมใจว่าสิ่งที่เขาทำเป็นสิ่งที่ดี ที่ถูกต้องในการช่วยเหลือจนเด็กรอดชีวิต
           เข้าใจว่าเหตุการณ์นี้ "โค้ชเอก" เอกพล จันทะวงษ์
           วัย 25 ปี ผ่านการอบรมในหลักสูตรที ไลเซนส์ เป็นผู้ใหญ่คนเดียวในจำนวน 13 ชีวิตที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง น่าจะเป็นผู้ดูแล ซึ่งหมูป่าทั้ง 12 คนบอกว่าพวกเขา กินน้ำสะอาดที่ไหลลงมาจากเพดานถ้ำ และนอนนิ่งๆ ทำให้สามารถดูแลร่างกายให้อยู่สภาพที่ไม่อิดโรย 
           ว่ากันว่า "โค้ชเอก" กำพร้าพ่อแม่ตั้งแต่เด็ก บรรพชาเป็นสามเณรอยู่ที่ลำพูน 8 ปี เรียนทางธรรมจนจบ นักธรรมเอก ทำงานที่วัดพระธาตุ ดอยเวา ต.เสียงพางคำ อ.แม่สาย จ.เชียงราย สนใจและศึกษาเรื่องการท่องเที่ยวแนวผจญภัยที่ผ่านมาโค้ชเอกกับเด็กๆ ก็เคยไปเที่ยวในถ้ำหลวงกันมาแล้วหลายรอบ
           จากเหตุการณ์ดังกล่าวกลายเป็นกรณีศึกษานำไปสู่การตั้งหน่วยงานกลางขึ้นมาดูแลรับผิดชอบกรณีเกิดภัยพิบัติต่างๆ หอจดหมายเหตุจะบันทึกเรื่องราวเหตุการณ์ไว้ หน่วยงานต่างๆ จัดสัมมนาถอดบทเรียน เป็นต้นว่า "รศ.ดร.รัตนวัฒน์ ไชยรัตน์"
           รองคณะบดีฝ่ายวิชาการและกิจการนักศึกษา คณะสิงแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัย มหิดลได้ทำคลิป แนะนำ 5 วิธีเที่ยวถ้ำให้ปลอดภัยประกอบด้วย
           1.หน้าฝนงดเที่ยวถ้ำ ธารลอด  ต้องระมัดระวังมากเป็นพิเศษ
           2.เที่ยวถ้ำต้องมีเจ้าหน้าที่นำทาง 3.เตรียมร่างกายให้พร้อม ดูว่ามีกำลังในการเดินมากขนาดไหน เพราะแต่ละถ้ำมีเส้นทางในการเดินศึกษาธรรมชาติแตกต่างกัน 
           4.อุปกรณ์จำเป็นต้องมีครบและพร้อมใช้ หากเที่ยวที่ถ้ำที่มีระยะเกิน  1 กม. อาจจะไม่มีแสงต้องเตรียมไฟฉายเข้าไปด้วย
           5.ปฏิบัติตามกฎข้อห้าม อย่าฝ่าฝืน (5 วิธีเที่ยวถ้ำให้ปลอดภัย รายละเอียด หน้า 3)
           ขณะเดียวกันยังมีหนังสือการ์ตูนความรู้ "เอาชีวิตรอดในถ้ำลึก" 
          จัดพิมพ์โดย นานมีบุ๊คส์ 
          หนังสือการ์ตูนความรู้
          วิทยาศาสตร์เรื่องราวของเด็กชายโมโม่และเพื่อนที่ชอบผจญภัยธรรมชาติได้เข้าไปสำรวจถ้ำที่ยังไม่เปิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ซึ่งระหว่างที่เพลิดเพลินกับธรรมชาติภายในถ้ำอยู่นั้น เหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่อแผ่นดินถล่มจนพวกเขาตกลงไปในถ้ำลึก พวกเขา ต้องเผชิญกับอุปสรรคต่างๆ  อีกมากมาย
           หากติดอยู่ในถ้ำและหาทางออกไม่เจอ ให้สังเกตว่า ค้างคาวบินไปทางไหน แสดงว่าทางนั้นจะออกจากถ้ำได้ เพราะค้างคาวจะได้ยินเสียงในช่วงความถี่ที่มากกว่ามนุษย์ และสามารถวิเคราะห์เสียงที่สะท้อนกลับมาเพื่อแยกแยะสิ่งกีดขวางหรือหาเหยื่อได้อีกด้วย นักวิทยาศาสตร์เรียกสิ่งนี้ว่า  การหาทิศทางด้วยเสียงสะท้อน
           โดยค้างคาวส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าเขตร้อน กินแมลงและผลไม้เป็นอาหาร ซึ่งในถ้ำนอกจากจะมีค้างคาวแล้วยังมีสัตว์อื่นๆ อย่างตะขาบ จิ้งหรีด และแมงมุม เป็นต้น และหากหลุดเข้าไปในจุดที่แคบมากๆ ไม่ควรทำให้ร่างกายเกร็ง และพยายามลดความกลัว ผ่อนคลายร่างกายลง จะสามารถหลุดจากที่แคบได้ ให้สังเกตทางน้ำในถ้ำ เพราะทางน้ำอาจเชื่อมต่อกับเส้นทางออก

          นอกจากนี้ยังมีภาพยนตร์เกี่ยวกับการเอาชีวิตรอดจาก "ถ้ำ" เช่น The Cave ในป่าลึกของประเทศโรมาเนีย  นักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งได้พบกับซากปรักหักพังของวัดโบราณ หลังจากการตรวจสอบพวกเขาพบว่า ณ สถานที่แห่งนี้ตั้งอยู่เหนือทางเข้าที่นำไปสู่ถ้ำใต้พิภพขนาดใหญ่ ซึ่งนักชีววิทยาท้องถิ่นเชื่อว่าถ้ำแห่งนี้เป็นบ้านของระบบนิเวศวิทยา ที่ยังไม่มีใครเคยค้นพบมาก่อน
           กลุ่มนักวิทยาศาสตร์จึงจ้างกลุ่มนักสำรวจชาวอเมริกันเพื่อตรวจสอบความลึกของถ้ำ โดยแจ็คและไทเลอร์สองพี่น้องนักสำรวจมืออาชีพที่ยังเก่งเรื่องทักษะเรื่องการดำน้ำ ทำให้พวก เขาสามารถดำน้ำได้นานถึง 24 ชั่วโมง เมื่อการสำรวจเริ่มต้นขึ้นพวกเขา พบว่าถ้ำแห่งนี้มีระบบนิเวศที่แตกต่างออกไปจากปกติ และยังมีสิ่งมีชีวิต สายพันธุ์ประหลาดที่มนุษย์ไม่ควรจะพานพบ 
          The 33  ดัดแปลงจากเหตุการณ์จริงจากเหตุการณ์จริงในปี 2010 เมื่ออุบัติเหตุเหมืองซานโฮเซ ในประเทศชิลีเกิดถล่มปิดทางเข้าออก ส่งผลให้คนงาน 33 ชีวิตติดอยู่ใต้ดินที่มีความลึกเทียบเท่ากับตึก 200 ชั้นเป็นเวลานานกว่า 69 วัน ท่ามกลางเสบียงอาหารที่มีอยู่อย่างจำกัดมาริโอ (แอนโตนิโร แบนเดอราส) พยายามจัดสรรอาหารที่มีให้เพียงพอแก่ทุกคนจนกว่าการช่วยเหลือจะเดินทางมาถึง ขณะที่บรรดาคนในครอบครัวของ ชาวเหมืองก็ปักหลักรอคอยการกลับมาของ 33 ชีวิตด้วยความหวัง 
           อย่างไรก็ตามการเอาชีวิตรอดในถ้ำที่ต้องมีก็คือสติปัญญาและปฏิภาณไหวพริบอย่างที่ทีมหมูป่าทั้ง 13 ชีวิตมีพวกเขาอยู่กันมาได้ถึง 10 วันโดยที่รับประทานน้ำที่ไหลจากผนังถ้ำ กินอาหารอย่างระมัดระวังและยังมีสุขภาพจิตดี บ้างก็ว่ามาจากการที่ "โค้ชเอก" สอนให้นั่งสมาธิเพื่อให้ใช้พลังงานน้อยที่สุด
           เพราะการนั่งสมาธิมีประโยชน์ช่วยลดความเครียดที่จะเข้ามากระทบจิตใจได้ ผู้ที่มีจิตเป็นสมาธิจะมีความดันอัตราการหายใจลดลง หัวใจเต้นช้าลง คลื่นสมองช้าและเป็นระเบียบขึ้น การเผาผลาญอาหารในร่างกายลดลง ความตึงตัวของกล้ามเนื้อลดลง ทำให้รักษาพลังงานไว้ในร่างกายได้นานอีกด้วยนั่นเอง ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่หมูป่าทั้ง  13 รักษาชีวิตให้รอดมาได้ถึงขณะนี้

 pageview  1205015    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved