Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก [ วันที่ 04/07/2561 ]
ประเมิน 1 สัปดาห์ หมูป่า ร่างกายฟื้น แนะให้วิตามิน-เกลือแร่หลัก 4 ตัว

 นักวิชาการด้านโภชนาการระบุทีมหมูป่าอาจเกิดกลุ่มอาการความผิดปกติทางเมตาบอลิกหลังภาวะอดอยาก ควรให้วิตามิน-เกลือแร่หลัก  4 ตัวก่อน ระยะแรกต้องให้กินอาหาร  1 ใน 4 ของปริมาณเดิมที่เคยได้รับ ค่อยๆ เพิ่มขึ้นเป็นวันละ 10 กิโลแคลอรี่ต่อน้ำหนักตัว รูปแบบควรเป็นแบบน้ำซุป ผ่าน 1 สัปดาห์น่าจะกินได้ปกติ
          รศ.วันทนีย์ เกรียงสินยศ ประธานหลักสูตรโภชนาการและการกำหนดอาหาร สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงอาหารที่เหมาะสมในช่วงเวลาหลังไม่ได้รับอาหารหลายวันว่า เมื่อไม่ได้รับประทานอาหารเป็นระยะเวลานานจึงนำพลังงานที่ร่างกายของตัวเองเก็บไว้มาใช้ ข้อที่สำคัญที่สุดคือ ต้องค่อยๆ ให้ ไม่สามารถให้ในปริมาณมากๆ แม้จะบอกว่าหิวมาก เพราะทั้ง 13 คนขาดอาหารมานาน อาจจะเกิดอันตราย  ที่สำคัญในระยะเริ่มต้นอาจจะให้ในปริมาณ 1 ใน 4 หรือ 1 ใน 5 ของปริมาณอาหารที่เคยได้รับมาก่อน โดย รูปแบบอาหารที่เหมาะสมในช่วงแรกควรเป็นอาหารที่ย่อยง่ายและร่างกายนำไปใช้ได้ง่าย อาจเป็นแบบน้ำหรือซุปที่จะย่อยได้ง่ายแล้วค่อยๆ เพิ่มขึ้นมาเป็น  10 กิโลแคลอรี่ต่อน้ำหนักตัว
          เนื่องจากช่วงที่อดอาหารการ เผาผลาญพลังงานที่ได้มาจากส่วนประกอบของร่างกายอื่นๆ เมื่อกลับมาได้รับอาหารซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มข้าวและแป้งที่มีการย่อยพวกคาร์โบไฮเดรต  จึงต้องใช้ระยะเวลาหนึ่ง และแร่ธาตุในร่างกายที่ช่วยในการเผาผลาญอาจจะขาด หายไปไม่เพียงพอ มีความจำเป็นต้องให้วิตามินและเกลือแร่ด้วย โดยเฉพาะวิตามีนบี 1 โพแทสเซียม ฟอสฟอรัสและแมกนีเซียม ซึ่งเป็นแร่ธาตุที่มีความจำเป็นในการเผาลาญกลุ่มอาหารข้าว แป้งให้เข้าไปก่อนเพื่อให้แน่ใจว่าเมื่อให้อาหารเข้าไปในร่างกายแล้วร่างกายจะสามารถนำไปใช้ได้และไม่เกิดผลเสียต่อร่างกาย
          ทั้งนี้วิตามินบี 1 ช่วยให้ร่างกายนำพลังงานจากอาหารประเภทข้าวแป้ง มาใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ช่วยให้การเผาผลาญพลังงานในร่างกายสมบูรณ์ ฟอสฟอรัสเป็นส่วนประกอบ ของกระดูกและฟัน จำเป็นสำหรับปฏิกิริยาที่เกี่ยวกับการดูดซึมน้ำตาลกลูโคสถูกผ่านผนังลำไส้เล็กและผ่าน เข้าเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย โพแทสเซียมช่วยในการทำปฏิกิริยาของเอนไซม์ ต่างๆ ภายในเซลล์มีส่วนช่วยในการ เมตาบอลิซึมคาร์โบไฮเดรตรักษาสมดุลของน้ำและความเป็นกรดด่างของร่างกาย และแมกนีเซียมจำเป็นต่อการปล่อยพลังงานภายในเซลล์ควบคุมการหดตัวของกล้ามเนื้อ ควบคุมการส่งต่อ หรือ การถ่ายทอดสัญญาณกระตุ้นประสาท  ทำหน้าที่เป็นตัวกระตุ้นของเอนไซม์หลายชนิดในเมตาบอลิซึม   "
          กลุ่มอาการหลังการได้รับสารอาหาร (Refeeding syndrome) คือกลุ่มของความผิดปกติทางเมตาบอลิกที่เกิดขึ้นหลังจากที่อยู่ในภาวะอดอยาก หรือขาดสารอาหารอย่างหนัก ได้รับสารอาหารอย่างรวดเร็ว โดยในช่วง 47 วัน หลังเริ่มให้อาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูง จะกระตุ้นให้ร่างกายกลับมาสร้างไกลโคเจน ไขมัน และโปรตีน อาจทำให้เกิดการลดต่ำลงของระดับเกลือแร่ในเลือดที่สำคัญ เช่น โพแทสเซียม แมกนีเซียม และฟอสฟอรัส อาจมีอาการทางระบบหัวใจ ปอด และระบบประสาท การมีเกลือแร่ผิดปกติเหล่านี้หากเป็นมากอาจเสียชีวิตได้ จึงอาจต้องมีการให้วิตามินและเกลือแร่เหล่านี้ก่อนให้รับประทานอาหาร หลังจากค่อยปรับการรับประทานอาหารและเด็กได้รับอาหารวันละ 10 กิโลแคลอรี่ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม น่าจะได้ราวๆ  วันละ 500-600 กิโลแคลอรี่ขึ้นอยู่กับ น้ำหนักตัวแต่ละคน เชื่อว่าประมาณ  1 สัปดาห์น่าจะกลับมารับประทานอาหารได้ปกติ" รศ.วันทนีย์ กล่าว
          ด้าน นพ.ไพโรจน์ เครือกาญจนาหัวหน้ากลุ่มงานเวชศาสตร์ฉุกเฉิน และศูนย์กู้ชีพนเรนทร รพ.ราชวิถี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการดูแลนักฟุตบอลทีมหมูป่าทั้ง 13 คนขณะยังอยู่ภายในถ้ำว่าคงต้องดูสภาพทั้ง 13 คนตอนที่ไปพบว่าเป็นอย่างไร หากไม่มีอาการอะไรที่รุนแรง เพียงแต่ ไม่ได้รับประทานอาหารจึงมีแรงไม่เพียงพอ กรณีเช่นนี้ก็ค่อยๆ ให้รับประทานอาหาร เชื่อว่าเมื่อได้รับประทานไป 1-2 มื้อและได้พักผ่อนนอนหลับ 1 ตื่น  นอนหลับสบายๆ น่าจะกลับคืนสู่ภาวะปกติได้
          "เมื่อเด็กรับประทานมื้อแรกผ่านไปได้ด้วยดี ซึ่งเชื่อว่าเด็กน่าจะได้รับประทานอาหารไป 2 มื้อกว่าแล้ว และไม่มีอาการอะไร ส่วนตัวคิดว่าตรงจุดนี้น่าจะค่อยๆ รับประทานอาหารแบบกึ่งปกติของเด็กได้แล้ว แต่ต้องขึ้นอยู่กับการประเมินของเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในจุดที่ดูแลเด็กอีกครั้งว่าสภาพที่แท้จริงเป็นอย่างไร แต่จากที่ได้เห็นภาพของเด็กเบื้องต้นตั้งแต่การค้นหาเจอ มีการอิดโรยแต่โดยรวมทั้ง 13 คนน่าจะมีกำลังใจและอื่นๆ ที่ดี จึงน่าจะค่อยๆ ดีขึ้น" นพ.ไพโรจน์ กล่าว
          นพ.ไพโรจน์ กล่าวด้วยว่า การไม่ได้รับประทานอาหาร 10 วันไม่ได้เรียกว่านานมาก  แต่จะต้องมีน้ำ เพราะอาหารแม้ไม่รับประทานบางทีก็จะยังพออยู่ได้ แต่หากไม่มีน้ำเลยเป็นเวลานานๆ ร่างกายไม่น่าจะไหว แต่อย่างน้อยหากมีน้ำเข้าไปแม้ที่ละนิดๆ สภาพร่างกายยังพอตอบสนองและปรับตัวได้ แต่หากไม่ได้รับอาหารและน้ำเลยภายใน 7 วันก็น่าจะอยู่ในลักษณะที่ต้องหามออกมา
          ในช่วง 10 วันหากได้รับน้ำเข้าไปทีละเล็กน้อยระบบทางเดินอาหารของร่างกายไม่น่าจะมีภาวะอะไรมาก เช่น คนไข้ที่ผ่าตัดก็จะให้งดอาหารแต่จะให้น้ำเกลือ ซึ่งในระหว่างที่ไม่สบายลำไส้จะไม่ค่อยทำงานอะไรมาก ตรงจุดนี้ลำไส้ก็จะเริ่มปรับตัว เมื่อจะให้คนที่ไม่ได้รับประทานอาหารเป็นเวลานานได้รับอาหารก็จะต้องให้การกระตุ้นลำไส้ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การจับลุกนั่ง ลำไส้จะค่อยๆขยับทีละเล็กทีละน้อย ทำให้สภาพลำไส้ค่อยๆ กลับคืนมา
          "เท่าที่รับทราบเบื้องต้นจากข่าวการช่วยเหลือทั้ง 13 คน เรียกได้ว่าน่าจะค่อยๆ ตอบสนอง แต่จะต้องรอดูอีกสักนิดว่าหลังจากได้รับประทานอาหารไปแล้ว 2-3 มื้อ ความแข็งแรงจากการประเมิน 13 คนของเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปช่วยเหลือว่าอาการค่อยๆ กลับคืนมาสักเท่าไหร่ และเมื่อกลับคืนมาได้แล้วจึงค่อยประเมินต่อว่าจะพาออกมาโดยวิธีไหน" นพ.ไพโรจน์กล่าว
          นพ.ไพโรจน์ กล่าวอีกว่า ต้องประเมินว่าการที่จะพาออกมาได้นั้นต้องกระทำโดยวิธีไหน ขึ้นอยู่กับอาการที่เป็นอยู่ในระดับของสภาพร่างกายเป็นอย่างไรบ้าง หากสภาพร่างกายอยู่ในระดับโอเค แต่การได้รับประทานอาหาร 2-3 มื้อยังไม่สามารถฟื้นกลับคืนมาได้ ต้องประเมินว่าจะต้องใช้เวลานานเท่าไหร่ อาจจะยืดเวลาการให้รับประทานอาหารหรือฟื้นฟูอื่นๆ ไป
          แต่กรณีที่หากเริ่มไม่สบายด้วยต้องพิจารณาภาวะของโรคนั้นว่าจะสามารถหายได้ภายในเวลาเท่าไหร่ จำเป็นต้องอาศัยเครื่องมือในการรักษาอะไรอื่นอีกหรือไม่ หากเป็นเพียงการให้ยาก็สามารถส่งเข้าไปได้ แต่ถ้าจำเป็นต้องใช้เครื่องมือทางการแพทย์อื่นๆ ด้วยจะเป็นเรื่องที่ยากว่าจะนำคนออกมาอย่างไร
          "ถ้าไม่มีฝนเพิ่มมากขึ้น สามารถออกมาตามเส้นทางที่เข้าไป แต่ถ้าเส้นทางออกยากเพราะบางช่วงบางตอนอาจจะต้องมุด ซึ่งในสภาพร่างกายที่ไม่แข็งแรงการมุดเป็นเรื่องที่ค่อนข้างลำบาก  จะให้มุดออกมาโดยตรงทำไม่ได้ จะต้องหาวิธีการ อาจจะมีการสกัดแต่ละจุดแล้วให้เด็กอยู่ในสภาพที่ร่างกายไม่เคลื่อนไหว โดยยึดตรึงไว้และใช้อุปกรณ์ในการสอดเด็กผ่านมาเรื่อยๆ ซึ่งต้องอาศัยช่องทางที่กว้างพอระดับหนึ่งจึงต้องค่อยๆ สกัดภายในถ้ำบางช่วง" นพ.ไพโรจน์กล่าว
          "โดยรูปแบบอาหาร ที่เหมาะสมในช่วงแรกควรเปนอาหารที่ย่อยง่ายและร่างกายนำไปใช้ได้ง่าย อาจเปนแบบน้ำหรือซุปที่จะย่อยได้ง่ายแล้วค่อยๆ เพิ่มขึ้นมาเปน 10 กิโลแคลอรี่ต่อน้ำหนักตัว"

 pageview  1204506    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved