Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์ข่าวสด [ วันที่ 30/04/2555 ]
อาหารหน้าร้อน

 ช่วงฤดูร้อน สิ่งที่ควรระวังนอกจากการเจ็บป่วยจากอากาศที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาแล้ว สิ่งหนึ่งที่สำคัญมากที่ต้องระวัง คือ เรื่องการรับประทานอาหารและน้ำดื่ม ซึ่งทำให้เกิดโรคติดต่อได้ง่าย เช่น โรคอุจจาระร่วง โรคอาหารเป็นพิษ บิด ไข้รากสาดน้อย หรือไข้ไทฟอยด์ เป็นต้น โรคเหล่านี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส โปรโตซัว หรือหนอนพยาธิ เพราะสภาพอากาศร้อนเป็นปัจจัยทำให้เชื้อโรคเจริญเติบโตได้เร็วขึ้น
          โรคกลุ่มที่มาจากอาหาร และเครื่องดื่ม บางครั้งอาจเป็นอันตราย เพราะทำให้ถ่ายท้อง อาเจียน ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ขาดน้ำ และอันตรายถึงขั้นหมดสติ ช็อก และเสียชีวิตได้
          นายสง่า ดามาพงษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ และที่ปรึกษาสำนักโภชนาการ กรมอนามัย ให้คำแนะนำในการรับประทานอาหารช่วงหน้าร้อนว่า เมนูอาหารที่ควรรับประทานคือ เมนูที่ประกอบด้วยผักที่ให้น้ำมาก ทั้งต้ม ผัด ทอด โดยใช้วัตถุดิบเหล่านี้ เช่น ฟักเขียว แครอต หัวไชเท้า ผักกาด แตงกวา โดยเฉพาะผักพื้นบ้านตามฤดูกาล เช่น ขี้เหล็ก ผักกูด ผักหวาน ถือเป็นภูมิปัญหาพื้นบ้าน มีคุณสมบัติดับร้อน ทำให้ร่างกายปรับสภาพอุณหภูมิให้เข้ากับฤดูได้
          อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงช่วงหน้าร้อนนี้ ควรลดอาหารรสจัด เผ็ดร้อน เปรี้ยวจัด หวานจัด โดยเฉพาะอาหารรสเผ็ด รสหวาน รวมถึงอาหารที่ให้ไขมันสูง พลังงานสูงด้วย เพราะทำให้ร่างกายเกิดความร้อน และจะเกิดการอักเสบติดเชื้อได้ง่ายขึ้น ซึ่งเมื่อร่างกายยิ่งมีความร้อนก็จะยิ่งกระหายน้ำ หากไม่ได้น้ำอาจเกิดภาวะขาดน้ำได้
          เมนูที่ควรระวัง หรือหลีกเลี่ยงช่วงหน้าร้อน เช่น ส้มตำ น้ำตก ยำ ลาบ แกงกะทิ อาหารทะเล ขนมจีน และอาหารค้างคืนทุกประเภท เพราะเสี่ยงต่อการบูดเสียได้ง่าย
          สิ่งสำคัญที่สุด ช่วงฤดูร้อนร่างกายจะเกิดภาวะขาดน้ำได้ง่าย การดับร้อนคือ การดื่มน้ำ น้ำที่ดีที่สุดคือ น้ำเปล่าที่สะอาด โดยดื่มมากกว่าปกติที่วันละ 8 แก้ว เป็น 8-12 แก้ว อาจแตกต่างไปตามเพศ วัย และการใช้แรง
          วิธีดื่มน้ำที่ถูกต้อง ควรให้น้ำแตะริมฝีปากก่อน เพื่อกระตุ้นประสาทส่วนกลางทำให้เกิดความสดชื่น จากนั้นจึงค่อยๆ ดื่ม ไม่ควรดื่มน้ำอย่างรวดเร็ว เพราะการดื่มน้ำปริมาณมากครั้งเดียว จะทำให้น้ำในเซลล์และน้ำนอกเซลล์ มีปริมาณไม่เท่ากัน ทำให้เกิดโอกาสเสี่ยงเป็นตะคริวหรือช็อกได้
          ไม่ควรดื่มน้ำเย็นจัด หรือร้อนจัด โดยดื่มในอุณหภูมิร่างกาย เพราะอุณหภูมิที่แตกต่างกับร่างกายมาก จะทำให้กระเพาะเกิดการเกร็งหดตัว น้ำดูดซึมเข้าร่างกายได้น้อย และถูกขับออกมาเป็นปัสสาวะ ร่างกายจึงต้องการน้ำอีก
          หากรู้สึกกระหายน้ำมาก ควรดื่มน้ำที่มีรสเปรี้ยว หรือผลไม้รสเปรี้ยว เช่น น้ำมะนาว น้ำส้ม หรือบีบน้ำมะนาวครึ่งซีกลงในน้ำเปล่าจะช่วยดับกระหายได้
          ส่วนน้ำที่ไม่ควรดื่มคือ เครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ ทุกชนิด เพราะร่างกายต้องขับแอลกอฮอล์ออก จึงต้องการน้ำเข้าไปชดเชย และแอลกอฮอล์ยังมีฤทธิ์ทำให้ร่างกายร้อนมากขึ้น เมื่อดื่มในที่ร้อนจัดจะยิ่งเพิ่มอุณหภูมิมากขึ้นอีก
          กาแฟ ปกติไม่ควรดื่มเกิน 2 แก้ว เพราะกาเฟอีนในกาแฟ ทำให้ร่างกายยิ่งขับปัสสาวะออกมามาก สุดท้ายจึงเกิดภาวะขาดน้ำ เครื่องดื่มผสมน้ำตาลมาก เช่น น้ำอัดลม น้ำหวาน เพราะน้ำตาลจะเข้าไปจับกับกระแสเลือด ทำให้เลือดข้นขึ้น และร่างกายต้องการน้ำเพื่อเจือจางความข้นของเลือด ทำให้เกิดภาวะขาดน้ำได้
          การป้องกันโรคที่จะมาจากอาหารและน้ำ คำแนะนำที่ควรทำคือ กินร้อน ใช้ช้อนกลาง ล้างมือ

 pageview  1205840    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved