Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์ข่าวสด [ วันที่ 06/06/2556 ]
เตือนผู้ใหญ่เสี่ยงไข้เลือดออกกว่าเด็ก แนะเร่งทำลายแหล่งยุงลาย

 ศ.คลินิก (พิเศษ) พญ.สุจิตรา นิมมานนิตย์ ที่ปรึกษาด้านการเฝ้าระวังโรคติดต่อที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน กรมควบคุมโรค และที่ปรึกษาองค์การอนามัยโลกในการรักษาโรคไข้เลือดออก กล่าวว่า โรคไข้เลือดออกถือเป็นปัญหาโรคติดเชื้อที่สำคัญ ซึ่งประเทศไทยเริ่มพบหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จนปัจจุบันกลายเป็นโรคประจำถิ่นของไทย โดยเชื้อไข้เลือดออก หรือ เด็งกี่ มีทั้งสิ้น 4 สายพันธุ์ เดิมพบการระบาดเฉพาะในเขตเมือง กทม. แต่ปัจจุบันโรคไข้เลือดออกอยู่ในชุมชนเกือบทั้งประเทศ และพบได้ทั้ง 4 สายพันธุ์ ทำให้เป็นสาเหตุหนึ่งของการพบโรคไข้เลือดออกในกลุ่มผู้ใหญ่มากขึ้น จากเดิมที่พบโรคไข้เลือดออกได้มากในเด็ก
          "สิ่งที่น่าเป็นห่วงในการเกิดโรคไข้เลือดออกในผู้ใหญ่ คือ ผู้ใหญ่เมื่อเจ็บป่วยมักซื้อยากินเอง ซึ่งยาลดไข้บางประเภทสามารถส่งผลกระทบต่อเกล็ดเลือด และทำให้เกิดภาวะเลือดออกได้ ผู้ใหญ่ยังมีความเสี่ยงมากกว่าในแง่การมีโรคประจำตัว การมีประจำเดือน การตั้งครรภ์ เป็นปัจจัยเสริมทำให้เกิดเลือดออกได้มากขึ้น สิ่งสำคัญที่สุดในการควบคุมโรค คือ การทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงที่อยู่ในบ้านซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดโรคได้" ศ.คลินิก (พิเศษ) พญ.สุจิตรากล่าว
          ศ.คลินิก (พิเศษ) พญ.สุจิตรากล่าวว่า โรคไข้เลือดออกมียุงลายเป็นพาหะ เมื่อยุงรับเชื้อแล้ว เชื้อจะมีชีวิตในตัวยุงได้ถึง 2 เดือน นำเชื้อไปสู่คนได้อย่างต่อเนื่อง แต่พบว่า ร้อยละ 80-90 ของคนที่ได้รับเชื้อจะไม่แสดงอาการ แต่มีระดับไวรัสต่ำๆ ในเลือด เมื่อถูกยุงกัดก็จะแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ โดยภาวการณ์เกิดโรคจะสัมพันธ์กับการได้รับเชื้อซ้ำ โดยเฉพาะการได้รับเชื้อต่างสายพันธุ์ เนื่องจากร่างกายจะไม่มีภูมิคุ้มกัน ข้อสังเกตโรค คือ จะไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก หากเป็นไข้สูงเกิน 2 วัน ให้สงสัยเป็นโรคไข้เลือดออก โดยเฉพาะหากมีไข้ ปวดเมื่อยมาก ปวดท้องรุนแรงฉับพลัน ไม่ปัสสาวะ นอนไม่ได้ ควรรีบพบแพทย์

 pageview  1205165    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved