Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์ข่าวสด [ วันที่ 07/02/2555 ]
กินจุบจิบทำฟันผุเพิ่ม4เท่าตั้งกองทุน1.2พันล้านเร่งแก้ไข
          ท.พ.สุธา เจียรมณีโชติชัย ผอ.สำนักทันตสาธารณสุขกรมอนามัย กล่าวว่า จากผลการสำรวจสภาวะทันตสุขภาพครั้งที่ 6 เมื่อปี 2550 ซึ่งถือว่าเป็นครั้งล่าสุด เนื่องจากการสำรวจนี้จะมีการสำรวจทุก 5 ปี พบว่าแนวโน้มของเด็กที่ฟันผุเปลี่ยนไปจากเมื่อ 20 ปีก่อน เด็กที่ฟันผุจะอยู่ในเขตกรุงเทพฯ แต่ปัจจุบันพบว่าเด็กที่ฟันผุจะอยู่ในเขตชนบทเพราะมีการคมนาคมที่สะดวกขึ้นทำให้มีขนม น้ำอัดลมเข้าไปยังพื้นที่ได้ง่าย แต่ผู้ปกครองและเด็กยังไม่มีความรู้ที่เพียงพอในการรักษาสุขภาพฟัน ทั้งนี้สาเหตุของฟันผุมี 2 เรื่องหลัก คือ เรื่องอาหารและเรื่องการทำความสะอาดฟันโดยหากมีการรับประทานอาหารที่มีรสหวานจะมีโอกาสเกิดฟันผุสูง ขณะเดียวกันหากมีการรับประทานอาหารมากกว่า 3 มื้อ ก็จะเพิ่มโอกาสในการเกิดฟันผุมากขึ้นด้วย
          "ทุกครั้งที่เรารับประทานอาหารน้ำลายจะกลายเป็นกรดเพื่อช่วยย่อยอาหาร และโดยปกติแล้วในเวลา 30 นาทีน้ำลายจะปรับสภาพกลับมาเป็นกลางเหมือนเดิม แต่หากรับประทานอาหารติดๆ กัน จะทำให้น้ำลายกลายเป็นกรดนานกว่าปกติ และจะส่งผลให้เพิ่มโอกาสฟันผุมากขึ้นถึง 4 เท่า" ท.พ.สุธากล่าว
          ท.พ.สุธากล่าวต่อว่า ส่วนอีกสาเหตุที่ทำให้ฟันผุ คือการทำความสะอาดฟัน โดยเฉพาะช่วงก่อนนอน หากมีการแปรงฟันไปแล้ว และไปรับประทานอาหารอีก แต่ไม่แปรงฟัน จะยิ่งเพิ่มโอกาสในการเกิดฟันผุมากขึ้น ถึงร้อยละ 50 เพราะเศษอาหารจะติดอยู่ตามซอกฟันทั้งคืน ทำปฏิกิริยากับน้ำลายตลอด จะทำลายแคลเซียมที่เคลือบฟันอยู่จนทำให้ฟันผุได้ อย่างไรก็ตามในการแก้ไขปัญหาเรื่องฟันผุในปี2555 ทางกรมอนามัยได้ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดตั้งกองทุนทันตกรรม 1,200 ล้านบาท ซึ่งเป็นกองทุนที่ตั้งขึ้นต่อเนื่องมาจากปี 2554 เพื่อสนับสนุนให้หน่วยงานบริการทุกจังหวัดจัดทำแผนบูรณาการเชิงรุกเพื่อขยายงานบริการส่งเสริมป้องกันให้ประชาชนในพื้นที่สามารถเข้าถึงบริการได้อย่างครอบคลุมมากยิ่งขึ้นทั้งกลุ่มเด็กวัยก่อนเรียน 400,000 คน เด็กวัยเรียน 400,000 คน และผู้สูงอายุใส่ฟันเทียม 45,000 คน
 pageview  1205024    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved