Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์ข่าวสด [ วันที่ 15/01/2563 ]
ชี้ปัจจัยเสี่ยง หลอดเลือดหัวใจตีบ

 เจ็บหน้าอกรุนแรง-ใจสั่น-ปวดรีบพบแพทย์
          นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคหลอดเลือดหัวใจเป็นโรคที่เป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย ดังนั้นเพื่อความไม่ประมาทประชาชนควรตระหนักถึงปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ อาทิ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ สูบบุหรี่ ความเครียด โรคอ้วนลงพุง และกรรมพันธุ์ ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรือตันได้ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบแบ่งได้ตามลักษณะอาการแสดงมี 2 รูปแบบ 1. แบบเรื้อรังเกิดจากการตีบตันของหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงหัวใจ มีไขมันไปเกาะผนังของหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดแดงตีบแคบเล็กลงหรือตีบตัน ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บหน้าอกในช่วงที่ออกแรงหยุดพักแล้วดีขึ้น 2.แบบเฉียบพลันซึ่งเกิดจากการปริแตกด้านในของผนังหลอดเลือดทำให้มีลิ่มเลือดมาเกาะและมีการอุดตันหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงจนเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรือกล้ามเนื้อหัวใจตาย อาจส่งผลให้บางรายเสียชีวิตแบบกะทันหันได้
          นพ.เอนก กนกศิลป์ ผอ.สถาบันโรคทรวงอก กล่าวเพิ่มเติมว่า อาการของโรคหลอดเลือดหัวใจแบ่งเป็น 2 รูปแบบตามลักษณะอาการคือ 1.แบบเรื้อรัง อาการลักษณะแบบนี้จะไม่เกิดขึ้นแบบเฉียบพลัน แต่จะเกิดขึ้นจากการสะสมของคอเลสเตอรอลที่ผนังหลอดเลือดทำให้มีการตีบแคบของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ มักเกิดในบุคคลที่มีความเสี่ยงได้แก่โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และผู้ที่มีไขมันในเลือดสูงรวมทั้งผู้ที่สูบบุหรี่ โดยมีอาการบ่งชี้ เช่น แน่นหน้าอกคล้ายมีบางอย่างมากดทับรู้สึกร้าวไปที่กรามและแขนด้านซ้าย ส่วนใหญ่สัมพันธ์กับการออกแรงและอาการดีขึ้นเมื่อหยุดพักหรืออมยาใต้ลิ้น นอกจากนี้ยังรู้สึกเหนื่อยง่ายกว่าปกติ 2.แสดงอาการเกิดขึ้นแบบเฉียบพลัน เช่น อาการเกิดได้โดยไม่เลือกเวลา อาจมีอาการได้ในขณะทำงาน เล่นกีฬาหรือพักผ่อน
          ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันส่วนใหญ่จะมาพบแพทย์ด้วยอาการแน่นหน้าอกที่รุนแรง มีเหงื่อออก ใจสั่น และปวดร้าวไปที่กราม สะบักหลัง แขนซ้าย จุกคอหอย บางรายมาด้วยจุกลิ้นปี่คล้ายโรคกระเพาะหรือกรดไหลย้อน ซึ่งเกิดจากมีการปริแตกด้านในของผนังหลอดเลือด และมีลิ่มเลือดมาจับตัวบริเวณนั้นเมื่อลิ่มเลือดมีปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดซึ่งอาจจะส่งผลให้เกิดหัวใจล้มเหลว หัวใจวาย และอาจเสียชีวิตเฉียบพลันทันทีจากภาวะหัวใจห้องล่างซ้ายเต้นผิดจังหวะชนิดร้ายแรง
          ดังนั้นหากพบว่ามีอาการบ่งชี้ของโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันควรรีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อนำไป สู่แนวทางการรักษาที่ถูกวิธี

 pageview  1204990    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved