Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์ข่าวสด [ วันที่ 13/11/2562 ]
ชี้โรคลมพิษต้องหาเหตุให้พบ

เตือนแน่นหน้าอก-หายใจขัดรีบพบหมอทันที
          นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคลมพิษ เป็นโรคผิวหนังมีลักษณะเป็นผื่นหรือปื้นนูนแดง ไม่มีขุย มีอาการคัน เกิดขึ้นเร็วและกระจายตามตัว แขน ขา แต่ละผื่นมักจะคงอยู่ไม่นาน โดยมากมักไม่เกิน 24 ชั่วโมง ผื่นจะราบไปโดยไม่มีร่องรอย แต่อาจมีผื่นใหม่ขึ้นที่อื่นๆ ได้ โรคลมพิษแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1. ลมพิษเฉียบพลัน จะเป็นๆ หายๆ ติดต่อกันน้อยกว่า 6 สัปดาห์ เป็นลมพิษที่พบได้บ่อย สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากอาหาร ยา การติดเชื้อ 2. ลมพิษเรื้อรัง จะเป็นๆ หายๆ ต่อเนื่องกันเกิน 6 สัปดาห์ เกิดจากอาหาร ยา การติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย เชื้อราหรือมีพยาธิ โรคระบบต่อมไร้ท่อ เช่น โรคต่อมไทรอยด์ อิทธิพลทางกายภาพ เช่น ความร้อน ความเย็น น้ำหนักกดรัด แสงแดด การออกกำลังกาย การแพ้สารที่สัมผัส เช่น การแพ้ยาง ขนสัตว์ พืช หรืออาหารบางชนิด ปฏิกิริยาแพ้พิษแมลง เช่น ต่อต่อย มะเร็ง แต่มีข้อสังเกต คือแต่ละผื่นอยู่นานมักเกิน 24 ชั่วโมง
          ด้านพญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผอ.สถาบันโรคผิวหนัง กล่าวว่า อาการเป็นผื่นหรือปื้นนูนแดง ไม่มีขุยขอบเขตชัดเจน มีขนาดต่างๆ ได้ตั้งแต่ 0.5-10 ซ.ม. เกิดขึ้นเร็ว และกระจายตามตัว แขน ขา รอบตา ปาก มีอาการแดง บวม ร้อน คัน บางครั้งอาจมีอาการเจ็บร่วมด้วย ผื่นมีหลายรูปแบบ เช่น กลม รี วงแหวน วงแหวนหลายวงมาต่อกัน หรือเป็นรูปแผนที่ รายที่เป็นรุนแรงจะบวมมาก โดยเฉพาะบริเวณใบหน้า และลำคอ ผู้ป่วยบางรายอาจมีริมฝีปากบวม บางรายมีอาการปวดท้อง แน่นจมูก หายใจไม่สะดวก รายที่เป็นรุนแรงอาจมี อาการหอบหืด เป็นลมจากความดันโลหิตต่ำได้ แต่พบได้น้อยมาก การรักษาโรคลมพิษ พยายามหาสาเหตุ และรักษาหรือหลีกเลี่ยงสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคลมพิษ ถ้าสามารถทำได้ผู้ป่วยจะหายจากโรคลมพิษ ให้ยาต้านฮีสตามีน ยาต้านฮีสตามีนมีหลายชนิด หลายกลุ่มมีทั้งออกฤทธิ์ยาว ทั้งที่ง่วงและไม่ง่วง การเลือกใช้ยาต้านฮีสตามีนตัวใด รวมทั้งการรับประทานยาต้านฮีสตามีนระยะยาวควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์
          "สำหรับกรณีผู้ป่วยมีอาการมาก ผื่นไม่ค่อยตอบสนองต่อยาต้านฮีสตามีน อาจพิจารณาใช้ยาอื่นที่มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างและหลั่งสารสื่อกลางในผิวหนังที่เป็นตัวการที่ก่อให้เกิด ผื่นลมพิษ ผู้ป่วยลมพิษควรพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ" พญ.มิ่งขวัญ กล่าว

 pageview  1204507    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved