Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์ข่าวสด [ วันที่ 20/09/2562 ]
สธ.ตรวจเข้มกินเจปลอดภัย

 แนะใช้สมุนไพร 3 กลุ่มลดโรคท้องอืดได้
          นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ช่วงเทศกาลถือศีลกินเจปีนี้ตรงกับวันที่ 28 ก.ย. - 7 ต.ค. ในช่วงนี้ของทุกปี ประชาชนจะรักษาศีล ปฏิบัติธรรม งดเว้นการบริโภคเนื้อสัตว์ และรับประทานผักผลไม้ โดยเชื่อว่าเป็นการชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ สธ.จึงเฝ้าระวังอาหารที่จำหน่ายให้ปลอดภัย ไม่มีการปลอมปนเนื้อสัตว์ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคในการกินเจอย่างปลอดภัยและดีต่อสุขภาพ รวมทั้งแนะนำเรื่องการรับประทานอาหารเจให้ถูกหลักโภชนาการ ลดหวานมันเค็ม ลดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เลือกซื้ออาหารในร้านที่น่าเชื่อถือ และมีสัญลักษณ์อาหารสะอาด รสชาติอร่อย
          นพ.สมฤกษ์ จึงสมาน รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า จากการเฝ้าระวังการปนเปื้อนอาหารในช่วงเทศกาลกินเจตั้งแต่ปี 2556 ถึงปัจจุบัน พบว่า มีการปนเปื้อนน้อยลง โดยพบกลุ่มอาหารเลียนแบบเนื้อสัตว์ตรวจพบดีเอ็นเอของสัตว์ปนเปื้อน จากเดิมร้อยละ 50 ปัจจุบันเหลือร้อยละ 8.3 กลุ่มผักดองพบวัตถุกันเสียกรดเบนโซอิกเกินมาตรฐานที่กำหนด ร้อยละ 53.3 กลุ่มอาหารประเภทเส้นพบวัตถุกันเสียกรดซอร์บิกและสีสังเคราะห์ ร้อยละ 31.3 และพบสีอินทรีย์สังเคราะห์ในเส้นหมี่ซั่ว ร้อยละ 38.5 ซึ่งไม่อนุญาตให้ใช้กรดซอร์บิกและสีสังเคราะห์ในอาหารประเภทเส้น อย่างไรก็ตาม กรดเบนโซอิก และกรดซอร์บิก หากรับเข้าไปมากจะเกิดอาการผื่นแพ้ คลื่นไส้ และถ่ายท้อง นอกจากนี้ ได้ร่วมกับ อย. เฝ้าระวังสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชในผักผลไม้ที่นิยม 10 อันดับ ได้แก่ กะหล่ำปลี กวางตุ้ง ผักกาดขาว ผักบุ้ง คะน้า แครอต มะระ ฟักเขียว หัวไชเท้า และผักโขม
          นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลกินเจ แนะนำให้รับประทานพืชสมุนไพร 3 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 พืชสมุนไพรที่กินง่าย ช่วยให้อยู่ท้อง ได้แก่ กล้วยน้ำว้าสุก ธัญพืช มันเทศ ข้าวโพดหวาน กลุ่มที่ 2 พืชสมุนไพรที่ช่วยเพิ่มการเผาผลาญ แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ได้แก่ ขิง พริกไทย กลุ่มที่ 3 พืชสมุนไพรที่ช่วยป้องกันความดัน เบาหวานขึ้น เช่น น้ำกระเจี๊ยบ น้ำดอกคำฝอย น้ำตะไคร้ น้ำตรีผลา (สมอไทย สมอพิเภก มะขามป้อม) และเลือกใช้ยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติเพื่อดูแลอาการที่ไม่พึงประสงค์จากภาวะกินเจ มีอาการอาหารไม่ย่อย ท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องเสีย เช่น ยาขมิ้นชัน ยามะระขี้นก ยาเหลืองปิดสมุทร

 pageview  1205128    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved