Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์ข่าวสด [ วันที่ 17/09/2562 ]
ไข้เดงกี-ไข้เลือดออก ระบาดในหน้าฝน

  ช่วงฤดูฝนและช่วงน้ำหลากทำให้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทยมีความเป็นห่วงประชาชนทั่วประเทศในการเฝ้าระวัง ไข้เดงกี และไข้เลือดออก ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี ที่มี 4 สายพันธุ์นำโรค โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค ยุงลายจะกัดคนที่ป่วยเป็นโรคและไปกัดคนอื่นๆ ทำให้เกิดโรคไข้เดงกีและไข้เลือดออก
          ศ.นพ.ธีระพงษ์ ตัณฑวิเชียร ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผู้ป่วยที่ติดเชื้อเป็นไข้เดงกีมักพบว่ามีไข้สูง ปวดเมื่อย ปวดกระดูก ปวดศีรษะ มักไม่พบมีอาการไอหรือมีน้ำมูก อาการเจ็บคอพบได้บ้าง มักพบว่ามีอาการคลื่นไส้ อาเจียนได้บ่อย ผู้ป่วยมักมีไข้ประมาณ 5 ถึง 7 วันและพบว่าผู้ป่วยเกือบทั้งหมดมีไข้น้อยกว่า 9 วัน การมีผื่นแบบจุดเลือดออกโดยเฉพาะที่ขา แขน ซึ่งอาจมีอาการคันร่วมด้วยมักพบในช่วง 1-2 วันก่อนที่ไข้จะลดลงหรือผื่นอาจเกิดหลังจากไข้ลดลงแล้ว
          ผู้ป่วยไข้เดงกีอาจมีอาการเลือดออกผิดปกติได้ แต่มักไม่รุนแรง พบว่าการใช้อาการทางคลินิกดังกล่าวร่วมกับการตรวจพบภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำหรือเกล็ดเลือดต่ำ และการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการจะทำให้ได้การวินิจฉัยที่ถูกต้องและรวดเร็ว
          ส่วนผู้ป่วยที่ติดเชื้อเป็นไข้เลือดออก มักมีไข้สูง อาเจียน และมีเลือดออกผิดปกติ ภาวะเลือดออกมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับการมีเกล็ดเลือดต่ำซึ่งภาวะเลือดออกมักพบในช่วงวันที่ 5-8 ของการมีไข้ ผิวหนังเป็นจุดเลือดออกเป็นภาวะเลือดออกในผู้ป่วยที่พบบ่อยที่สุด โดยมักพบบริเวณแขน ขา รักแร้ และลำตัว เลือดออกผิดปกติใน ตำแหน่งอื่นๆ ในผู้ป่วยที่พบ ได้แก่ เลือดออกจากจมูก
          ผู้หญิงบางรายมีอาการเลือดออกทางช่องคลอด พบว่าในผู้ป่วยที่เป็นไข้เลือดออกรุนแรง มักพบว่ามีเลือดออกในระบบทางเดินอาหารหรือมีเลือดออกในอวัยวะภายใน เช่น เลือดออกในช่องท้อง ผู้ป่วยที่เป็นไข้เลือดออกจะมีการรั่วของน้ำเลือดไปในช่องปอด ช่องท้อง มักพบในช่วง 5-7 วันหลังมีไข้ ทำให้มีความเข้มข้นของเลือดเพิ่มขึ้น บางรายมีน้ำในช่องปอดหรือมีน้ำในช่องท้องทำให้หายใจลำบาก ตับโต ปวดท้อง กดเจ็บที่ท้อง เหนื่อยหอบ ปัสสาวะลดลง และทำให้ผู้ป่วยบางรายมีภาวะความดันโลหิตต่ำลงจนเกิดภาวะช็อก ซึมลง หายใจล้มเหลว และนำไปสู่การเสียชีวิตได้ ดังนั้น ผู้ป่วยที่มีอาการอาเจียนรุนแรง ผู้ป่วยซึมหรืออ่อนเพลียมาก ดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารได้น้อยลง กระหายน้ำตลอดเวลา กระสับกระส่าย ตัวเย็นชื้น ปวดท้องมาก มีเลือดออก เช่น เลือดกำเดา อาเจียนหรือถ่ายอุจจาระเป็นเลือดหรือเป็นสีดำ ปัสสาวะน้อยลง หรือไม่ถ่ายปัสสาวะเป็นเวลานาน ควรรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว
          ปัจจุบันไม่มียาจำเพาะในการรักษาการติดเชื้อไวรัสเดงกี ดังนั้น การให้ผู้ป่วยดื่มน้ำหรือน้ำเกลือแร่และการให้สารน้ำและการรักษาตามอาการเป็นหัวใจสำคัญในการดูแลรักษาผู้ป่วย ในกรณีที่ผู้ป่วยคลื่นไส้อาเจียน ไม่สามารถดื่มน้ำได้ ให้จิบครั้งละน้อยๆ บ่อยๆ ไม่ควรดื่มแต่น้ำเปล่าอย่างเดียว อาหารควรเป็นอาหารอ่อน ผู้ป่วยที่มีไข้ให้เช็ดตัวลดไข้ ในกรณีที่มีไข้สูงสามารถพิจารณาให้ยาลดไข้ เช่น พาราเซตามอล ห้ามรับประทานยาลดไข้ชนิดอื่นโดยเฉพาะยาแอสไพริน ทั้งนี้ ยาลดไข้จะช่วยลดไข้ลงชั่วคราว เมื่อหมดฤทธิ์ยาไข้ก็จะสูงขึ้นอีก
          ผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสเดงกีบางรายมีภาวะตับอักเสบร่วมกับมีอาการคลื่นไส้/อาเจียน ซึ่งมักพบในช่วง 5-7 วันหลังมีไข้ ดังนั้น ควรระมัดระวังการใช้ยาซึ่งมีผลทำให้เกิดตับอักเสบมากขึ้นโดยเฉพาะการที่ผู้ป่วยรับประทานยาพาราเซตา มอลเพื่อลดไข้ในขนาดสูงและบ่อยเป็นเวลานาน (5-7 วัน) ติดต่อกัน รวมทั้งการได้รับยาอื่นๆ ที่มีผลต่อตับ เช่น ยาแก้อาเจียนบางชนิด ยาป้องกันชัก ยาปฏิชีวนะบางชนิด ที่อาจมีผลทำให้ ผู้ป่วยมีตับอักเสบรุนแรงได้

 pageview  1205137    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved