Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์ข่าวสด [ วันที่ 19/06/2562 ]
เตือนโรคลมชักในเด็ก

หมอชี้ไม่ใช่เรื่องเล็ก-แต่รักษาได้
          พญ.ไพรัตน์ แสงดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวว่า โรคลมชักเป็นโรคระบบประสาทเรื้อรังที่พบบ่อยที่สุดในเด็ก อาการชักในเด็กมีรูปแบบที่เฉพาะและแตกต่างจากผู้ใหญ่ เช่น อาการชักผวาเป็นชุดในทารก อาการชักผงกหัวตัวอ่อน อาการชักเหม่อสั้นๆ ในเด็ก เป็นต้น ซึ่งอาการดังกล่าวเป็นอาการชักที่คนส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยรู้จัก ไม่ทราบว่าเป็นโรคลมชักจึงไม่ได้พาไปปรึกษาแพทย์ ทำให้การรักษาล่าช้า ทำให้เด็กที่มีอาการชักดังกล่าวอาจมีพัฒนาการช้า หรือ พัฒนาการถดถอยได้ การรักษาเร็วจะช่วยให้มีโอกาสหายและพัฒนาการดีขึ้น นอกจากนี้ผู้ป่วยเด็กก็อาจมีอาการชักแบบอื่นที่เหมือนกับผู้ใหญ่ เช่น ชักเกร็งกระตุกตาค้างที่เรียกว่าลมบ้าหมู ชักแบบมีพฤติกรรมแปลกๆ เป็นต้น
          การตรวจวินิจฉัยโรคลมชักที่สำคัญคือ ประวัติรายละเอียดอาการชักที่พ่อแม่หรือผู้ดูแลเด็กแจ้งกับแพทย์ ร่วมกับการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง
          พญ.ไพรัตน์กล่าวต่อว่า ดังนั้น หากพ่อแม่ผู้ปกครองสังเกตเห็นบุตรหลานมีอาการชัก หรือสงสัยพฤติกรรมที่ดูแปลกไปกว่าปกติที่เกิดซ้ำๆ ควรสอบถามรายละเอียดอาการจากผู้เห็นเหตุการณ์ หรือถ่ายคลิปวิดีโอขณะเด็กเกิดอาการ และพาเด็กไปพบแพทย์เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมต่อไป
          สำหรับการปฐมพยาบาลเบื้องต้น เมื่อเด็กเกิดอาการชักแบบเกร็งกระตุกทั้งตัว คือ 1.ผู้ปกครองต้องตั้งสติให้ดี 2.จัดท่าเด็กให้นอนตะแคงเพื่อป้องกันการสำลัก และถ้าเห็นเศษอาหารให้กวาดออกมาจากปากได้ 3.ห้ามเอาอุปกรณ์ใดๆ รวมทั้งมือเข้าไปง้างปากผู้ป่วย สิ่งนี้เป็นความเข้าใจผิดของคนทั่วไปว่ากลัวผู้ป่วยกัดลิ้นจึงงัดปาก ในความเป็นจริงแล้วการงัดหรือง้างปากเด็กอาจทำให้ฟันหักและตกลงไปอุดหลอดลม หายใจไม่ได้และเสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจได้ ในขณะที่เด็กกัดลิ้นแต่ไม่มีอันตรายถึงชีวิตและรักษาได้ โดยทั่วไป อาการชักมักจะหยุดได้ภายใน 2-3 นาที ยกเว้นบางรายที่รุนแรงมากเกิน 5 นาที และหลังจากหยุดชักแล้วให้รีบพาผู้ป่วยไปส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด ผู้ป่วยที่มีอาการชัก มีสโลแกนว่า "ไม่งัด ไม่ง้าง ไม่ถ่าง ไม่กด ไม่ทั้งหมด ชักหยุดได้เอง"

 pageview  1205016    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved