Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์ข่าวสด [ วันที่ 14/02/2562 ]
วัณโรคและฝุ่น PM 2.5 อันตรายที่ต้องรู้-ร่วมป้องกัน

 ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ อ.นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย และ รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล นายกสมาคมอุรเวชช์ แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ คณะทำงานฝ่ายเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย มาอธิบายข้อเท็จจริงต่างๆ ในเรื่องของวัณโรค และฝุ่นละออง PM 2.5
          ศ.นพ.สมชาย เอี่ยมอ่อง ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ช่วงนี้ปัญหาและความท้าทายสาธารณสุขไทย ในเรื่องของวัณโรคและฝุ่นละออง PM 2.5 กำลังเป็นสิ่งสำคัญมาก ประชาชนทั้งประเทศยังไม่ทราบว่า วัณโรคยังเป็นปัญหาของประเทศไทยในระดับชาติ และยังมีผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
          ส่วนปัญหาฝุ่นละอองที่เรียกว่า PM 2.5 ซึ่งส่งผลกระทบกับปอดของมนุษย์โดยตรง เมื่อมนุษย์สูดผ่านรวมเข้าไปกับลมหายใจ สามารถผ่านลึกจนถึงถุงลมที่เป็นส่วนปลายสุดของปอด ทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อหลอดลมฝอยและถุงลม และเล็ดลอดผ่านผนังถุงลม แล้วไชชอนผ่านเส้นเลือดฝอยเข้าสู่กระแสโลหิต และกระจายตัวแทรกซึมไปทั่วร่างกายของเราได้ และมีโอกาสสุ่มเสี่ยงเป็นโรคร้าย อาทิ โรคมะเร็งปอด
          อ.นพ.มนูญกล่าวว่า วัณโรคติดต่อทางการหายใจ เมื่อผู้ป่วยวัณโรคพูด ไอ หรือจาม เชื้อวัณโรคจะลอยออกมาในอากาศ เชื้อวัณโรคมีขนาดเล็กมากเหมือนฝุ่น PM 2.5 สามารถเข้าสู่ถุงลม ผ่านเข้าหลอดเลือดกระจายไปตามอวัยวะต่างๆ วัณโรคจึงเป็นได้ทุกอวัยวะยกเว้นเส้นผมและเล็บ แต่ส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นที่ปอด
          วัณโรคติดต่อกันง่ายมากไม่จำเป็นต้องอยู่ใกล้ชิด กับผู้ป่วยวัณโรค การหายใจเอาอากาศที่ปนเปื้อนเชื้อ ในบ้าน ที่ทำงาน ห้างสรรพสินค้า รถแท็กซี่ รถตู้ รถโดยสารสาธารณะ รถไฟฟ้า รถไฟใต้ดิน โรงภาพยนตร์ เรือนจำ และโรงพยาบาล
          ที่น่ากลัวที่สุด คือการอยู่ในเรือนจำ ที่เสี่ยงได้รับเชื้อ วัณโรคมากที่สุด อัตราการติดเชื้อป่วยเป็นวัณโรค ในเรือนจำจึงมีความเสี่ยงสูงกว่าด้านนอกถึง  8 เท่า หลังออกจากเรือนจำก็มีสิทธิ์ที่จะนำเชื้อไปแพร่ให้ประชาชนทั่วไปได้ ดังนั้น ต้องมีมาตรการป้องกันการแพร่เชื้อและมีห้องแยกในโรงพยาบาล
          ผู้ป่วยวัณโรคในระยะแพร่เชื้อต้องใส่หน้ากากอนามัย เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อให้ผู้อื่น ถือเป็นความรับผิดชอบต่อสังคม คนที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยต้องใส่หน้ากาก N95 เพื่อป้องกันการรับเชื้อ ต้องควบคุมการแพร่กระจายเชื้อในบ้าน ชุมชนและสถานพยาบาล ถ้าอยู่ที่บ้านควรเปิดประตูหน้าต่างให้ลมพัดเอาเชื้อโรคออกนอกบ้าน เพื่อให้รังสียูวีในแสงแดดฆ่าเชื้อโรค
          รศ.นพ.นิธิพัฒน์กล่าวว่า PM 2.5 คืออนุภาคขนาดเล็กที่มี เส้นผ่านศูนย์กลางเฉลี่ยน้อยกว่า 2.5 ไมโครกรัม แขวนลอยอยู่ในอากาศรวมกับไอน้ำ ควัน และก๊าซ สามารถนำพาสารต่างๆ ล่องลอย อยู่รอบตัวเราได้ในปริมาณสูง ทำให้เกิดเป็นหมอกควันที่ถือเป็นมลพิษต่อสุขภาพของมนุษย์ คนทั่วไปที่สูดเอาฝุ่น PM 2.5 เข้าไป จะมีอาการระคายเคืองจมูก น้ำมูกไหล ไอ เจ็บคอ แต่สำหรับคน ที่ป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับระบบการหายใจ รวมถึงผู้ที่ป่วยเป็นโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด จะทำให้โรคที่เป็นอยู่กำเริบขึ้นมาได้ ส่วนในระยะยาวอาจก่อมะเร็งปอดและทำให้สมรรถภาพปอดของเยาวชนถดถอย
          ในระยะนี้ทุกคนต้องหมั่นตรวจสอบคุณภาพอากาศ เมื่อไหร่ก็ตามที่ดัชนีคุณภาพอากาศเป็นสีส้ม ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงคือ ผู้มีโรคเรื้อรังข้างต้น เด็ก ผู้สูงอายุ และสตรีมีครรภ์ ควรงดการทำกิจกรรมกลางแจ้ง
          แต่ถ้าเป็นสีแดง ขอให้ทุกคนทั้งหมดหลีกเลี่ยง กรณีคนที่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงแล้วหลีกเลี่ยงไม่ได้ จำเป็นต้องใช้หน้ากาก N95 หรือ อย่างน้อยเป็นหน้ากากอนามัยซ้อนกัน 2 ชั้น โดยไม่ว่าจะใช้หน้ากากชนิดใดต้องสวมใส่ให้กระชับใบหน้า และจำกัดระยะเวลาการสัมผัสฝุ่น ให้น้อยที่สุด

 pageview  1205009    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved