Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 30/04/2555 ]
'ร้อนระอุ' ผวา'พรุ'ไฟลุก นักวิชาการย้ำ'อย่าตระหนก'

 ปรากฏการณ์โลกร้อน พ.ศ.นี้ เป็นที่ทราบกันดีว่า ร้อนกว่าปีไหนๆ และนอกจากความร้อนของอากาศที่ส่งผลกระทบยังปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างที่ไม่เคยพบเคยเห็นมาก่อนแล้ว ยังสร้างความตื่นตระหนกให้ประชาชนทั่วทั้งประเทศด้วย
          เมื่อเกิดเหตุการณ์ไฟลุกใต้ดิน ที่จังหวัดพิษณุโลก อันเนื่องมาจากความร้อนที่สะสมมาเป็นเวลานาน ส่งผลให้ชาวบ้านได้รับบาดเจ็บ บวกกับสุนัขตายอีก 4 ตัว ซึ่งเพียงแค่นี้ ก็สามารถที่สร้างความหวาดผวาให้ประชาชนได้ไม่น้อย
          เหตุดังกล่าวสร้างความแตกตื่นให้กับประชาชนไปไม่น้อย ถึงแม้ผู้เชี่ยวชาญจะออกมายืนยัน และมีคำอธิบายอย่างชัดเจน เช่น กรณีของไฟลุกที่จังหวัดพิษณุโลกว่า เรื่องที่เกิดขึ้น เกิดได้เพราะบริเวณนั้นเคยเป็นโรงเลื่อยเก่า ซึ่งมีขี้เลื่อยอัดอยู่เป็นจำนวนมาก และเมื่อความร้อนของอากาศสะสมอยู่ทุกๆ วัน จึงทำให้เกิดปฏิกิริยาไฟลุกไหม้
          มีการอธิบายเป็นขั้นเป็นตอนจนแทบมองเห็นภาพ แต่ไม่วายสร้างความแคลงใจแก่ประชาชนผู้บริโภคข่าวสาร เพราะหลังจากนั้นอีกไม่กี่วัน ที่ตำบลถนนใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี เกิดเหตุการณ์ในทำนองเดียวกันกับบ่อขนาด 10x10 เมตร ลึกประมาณ 4 เมตร อยู่กลางทุ่งนา จุดดังกล่าวเคยใช้เป็นสถานที่ทิ้งขยะ แต่เลิกทิ้งไปประมาณ 10 ปีแล้ว
          ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่ง ด้วยความอยากรู้อยากเห็น แม้จะมีคำเตือนถึงภัยจากไอและกลิ่นของก๊าซพิษ ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงกับเสียชีวิต ยังมีคนประชาชนเดินทางเข้าไปขอพิสูจน์กันเป็นรายวันถึงความมหัศจรรย์ของผืนดินที่สามารถจุดติดไฟได้เพียงโยนเศษกระดาษ หรือนำไม้เข้าไปแหย่
          จนต้องมีการกันพื้นที่ไม่ให้ประชาชนเข้าไปนพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เล่าให้ฟังว่า ก๊าซทุกชนิดมีมาตรฐานอยู่แล้ว หากได้รับเข้าสู่ร่างกายในปริมาณน้อยก็ไม่สามารถทำอันตรายกับมนุษย์ได้ หากมีการสูดดมเข้าไปมากๆ และสะสมเป็นเวลานานจะเป็นอันตราย เพราะว่าก๊าซทุกชนิดมีอันตราย หากมีการสัมผัสในระดับหนึ่งก็อาจจะแค่ระคายเคือง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าห่วงเพราะว่า ในพื้นที่ที่ก๊าซรั่วจนเกิดไฟลุก เจ้าหน้าที่ได้กันพื้นที่ไม่ให้ประชาชนเข้าใกล้แล้ว
          "ประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่ก็คงรู้ว่า อันตรายอย่างไรบ้าง แต่ก็ควรระวัง อย่าเข้าใกล้เป็นอันขาด และเราเองก็ไม่ควรตื่นตระหนกจนเกินไป"
          หลังจากที่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล หัวหน้าหน่วยศึกษาพิบัติภัยและข้อสนเทศเชิงพื้นที่ และอาจารย์ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แสดงความเป็นห่วงว่า ในอนาคตหากมีอากาศที่ร้อนจัดเช่นนี้ สิ่งที่จะได้รับผลกระทบเช่นเดียวกันกับกรณีที่จังหวัดพิษณุโลก และลพบุรี ก็คือ พื้นที่ป่าพรุ ป่าพรุ เป็นป่าที่มีสารประกอบกำมะถัน ดินในป่าพรุเกิดจากการสะสมของซากอินทรีย์วัตถุต่างๆ เช่น เศษไม้ และใบไม้ เป็นเวลานานทับถมเป็นชั้นหนา ซากพืชและอินทรีย์วัตถุส่วนใหญ่จะจมอยู่ใต้ผิวน้ำ จึงสลายได้อย่างเชื่องช้า เราเรียกดินชนิดนี้ว่า "ดินอินทรีย์" (Organic Soil) ลักษณะของดินอินทรีย์เป็นสีน้ำตาล น้ำหนักเบา และอุ้มน้ำได้ดี ป่าพรุมีดินอินทรีย์ปิดหน้าดินเดิมไว้หนา
          "หากป่าพรุได้รับความร้อนมากๆ และเป็นเวลานาน ก๊าซต่างๆ ก็อาจจะเกิดการลุกไหม้ได้ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นในช่วงหน้าร้อน หากพรุเกิดลุกไหม้ ก็จะน่ากลัวกว่ากรณีปัจจุบัน"
          ดร.ธนวัฒน์ได้อธิบายสาเหตุของการเกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวว่า ก่อนหน้านี้บริเวณดังกล่าว เคยเป็นโรงเลื่อย ซึ่งมีขี้เลื่อยอยู่ใต้ดิน บวกกับซากพืชซากสัตว์ที่มีการทับถมมาเป็นเวลานาน จึงเกิดการสะสมของก๊าซ เมื่ออากาศร้อนมากๆ ก๊าซดังกล่าวจึงทำให้เกิดไฟลุกได้
          "พื้นที่อื่นๆ เองก็มีโอกาสเกิดแต่หากว่าน้อย เพราะพื้นที่แบบนี้มีไม่มากนัก ส่วนประเด็นเรื่องของรอยเลื่อนนั้น อาจมีโอกาสเกิดขึ้น ทว่าเท่าที่ผ่านมาเรายังไม่เคยเจอ"
          เมื่อเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น ก็มีกระแสข่าวถึงความอันตรายของก๊าซต่างๆ เรื่องนี้ ดร.ธนวัฒน์ได้ชี้แจงว่า ก๊าซต่างๆ นั้น เป็นอันตรายจริง แต่ก็เป็นในกรณีที่มีการสูดดมเข้าร่างกายมากๆ เพราะก๊าซธรรมชาติเหล่านั้น ต่างก็มีอยู่ในอากาศซึ่งก็เป็นเรื่องปกติ ฉะนั้นเรื่องนี้จึงไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัวอย่างที่คิด ที่สำคัญคือควรระวัง หากสังเกตถึงความไม่ปกติของดิน หรือมีควันลอยออกมา ก็ควรหลีกเลี่ยงอย่าเข้าใกล้
          ด้าน เลิศสิน รักษาสกุลวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักธรณีวิทยา สิ่งแวดล้อม กรมทรัพยากรธรณี กล่าวว่า วิธีการดับไฟใต้ดินมีอยู่ 2 ทางเลือก 1.คือใช้แบ๊กโฮเปิดหน้าดินเพื่อให้ไฟได้สัมผัสอากาศ 2.ซึ่งเป็นวิธีการทางกรมทรัพยากรธรณีเลือกคือ รอให้มีการเผาไหม้จนดับไปเอง
          ผอ.เลิศสินอธิบายว่า สำหรับพื้นที่อื่นก็อาจมีโอกาสเกิดขึ้นได้ เพราะยังไม่ทราบว่ามีดินในลักษณะเช่นนี้ อยู่ที่ไหนบ้างในประเทศไทย หากพบเจอควันที่ลอยขึ้นเหนือพื้นดิน ก็ขอให้ระมัดระวัง และไม่ควรเข้าใกล้เป็นเด็ดขาด
          ขณะที่ ศุภฤกษ์ ตันศรีรัตนวงศ์ อดีตอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า ช่วงนี้พระอาทิตย์ตั้งฉากกับประเทศไทยโดยตรง จึงส่งผลให้มีอากาศที่ร้อนจัด และจะร้อนต่อไปจนถึงสิ้นเดือนเมษายน สภาพอากาศที่ร้อนจัดในช่วงนี้ มีผลอย่างมากกับเหตุการณ์ไฟลุกที่จังหวัดพิษณุโลก การที่เกิดไฟลุกบริเวณใต้ดินนั้น สภาพอากาศมีผล 2 ส่วนสำคัญ คือ ร้อนจัด บวกกับความร้อนที่สะสมเป็นเวลานาน
          "อากาศร้อนอย่างนี้ มีโอกาสมากที่จะมีพื้นที่อื่นเกิดขึ้นอีก โดยเฉพาะที่โล่ง ไม่มีพุ่มไม้บดบังแสงแดด หากมีต้นไม้ความร้อนก็จะลดลงบ้าง"
          กลับมาที่ก๊าซชนิดต่างๆ ที่มีการพูดถึงกันค่อนข้างบ่อยในช่วงนี้ อย่างที่รู้กันว่าทุกชนิดนั้นอันตราย และจะดีแค่ไหนหากเราทำความเข้าใจกับก๊าซเหล่านั้นมากขึ้น
          ทันทีที่เจ้าหน้าที่ได้ทำการสำรวจพื้นที่ที่เกิดไฟลุกใต้ดิน เบื้องต้นมีการสำรวจพบก๊าชที่มีผลอันตรายต่อร่างกายอย่างคาร์บอนไดซัลไฟด์ หรือ CS2 ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ หรือ SO2 และมีเทน
          สารเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นการสูดดมเข้าไป หรือซึมเข้าไปทางผิวหนัง กลืนกิน ล้วนส่งผลต่อระบบประสาท จะเกิดอาการตื่นเต้น มึน และอาการง่วงซึม ระบบหายใจล้มเหลว กระสับกระส่าย อาจถึงตายได้
          หากเป็นการสัมผัสแบบระยะยาวทีละน้อยๆ อาการพิษเรื้อรัง จะเริ่มด้วยอาการปวดหน้าอกและกล้ามเนื้อ สายตาเริ่มมัว ความจำเสื่อม บุคลิกเปลี่ยนไปคล้ายคนเป็นโรคจิต ที่เคยกล้าๆ อาจจะกลายเป็นคนขี้อายไปก็ได้ สารนี้ระคายผิวและตาอย่างรุนแรง
          เป็นเพียงข้อมูลความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับอันตรายจากสารต่างๆ ที่มากับเหตุการณ์ไฟลุกใต้ดิน ทางที่ดีหากสังเกตได้ว่าพื้นที่ใด มีโอกาสเกิดไฟลุก ก็ไม่ควรเข้าใกล้ และแจ้งเจ้าหน้าที่โดยเร็ว
          รู้จัก...'คาร์บอนไดซัลไฟด์'
          "คาร์บอนไดซัลไฟด์" (Carbon disulfide, CS2) เป็นของเหลวติดไฟได้ดี หากกลั่นให้บริสุทธิ์ จะมีกลิ่นอ่อนๆ ถ้าไม่บริสุทธิ์จะมีกลิ่นเหม็น เผาไหม้ได้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กับซัลเฟอร์ไดออกไซด์
          เว็บไซต์ chemtrack.org ให้คำอธิบายเพิ่มเติมว่า ชื่อของ "คาร์บอนไดซัลไฟด์" จะพบเจอในวงการอุตสาหกรรมเส้นใยเรยอน แผ่นพลาสติกเชโลเฟน ผลิตภัณฑ์ยางพารา จะมีโอกาสสัมผัสคาร์บอนไดซัลไฟด์
          นอกจากนั้นเนื่องจากคุณสมบัติในการละลายไขมันได้ดี จึงมีการนำไปใช้ในการสกัดน้ำมัน ใช้ในการชุบโลหะ เป็นตัวล้างสนิมออกจากโลหะ ในภาคการเกษตรเคยมีการใช้เพื่อรมเมล็ดธัญพืชเพื่อกำจัดแมลง ซึ่งเข้าใจว่าอาจจะเลิกใช้ไปแล้ว
          ลักษณะของคาร์บอนไดซัลไฟด์ เป็นของเหลว กลิ่นหอมคล้ายคลอโรฟอร์ม ไอของคาร์บอนไดซัลไฟด์หนักกว่าอากาศ 2 เท่า ดังนั้น ในที่อากาศนิ่งๆ คาร์บอนไดซัลไฟด์จะลอยต่ำเรี่ยๆ พื้น ทำให้เพิ่มความเสี่ยงที่คนจะสูดไอเข้าไป
          ไอระเหยของมันเมื่อพบกับอากาศจะให้ไอผสมที่ระเบิดได้ และลุกติดไฟได้อย่างรวดเร็ว จึงมีอันตรายมากเมื่อถูกความร้อน เปลวไฟ หรือประกายไฟ ความร้อนของหลอดไฟฟ้าที่เปิดอยู่ก็ทำให้ไอของมันลุกติดไฟได้ และสลายเป็นควันของซัลเฟอร์ออกไซด์ ซึ่งเป็นอันตรายยิ่งขึ้น
          ข้อควรระวังอย่างยิ่ง คือ อย่าเก็บคาร์บอนไดซัลไฟด์ไว้ใกล้กรดไนตริก เพราะก๊าซที่ผสมกับไนตริกออกไซด์ จะระเบิดอย่างรุนแรง ขนาดขวดแก้วแตกละเอียดเลยทีเดียว
          ไม่ว่าจะสูดดมเข้าไป หรือซึมเข้าไปทางผิวหนัง หรือกลืนกิน ผลต่อสุขภาพที่ถูกกระทบคือระบบประสาท จะเกิดอาการตื่นเต้น มึนเมา ตามด้วยอาการง่วงซึม กระสับกระส่าย ระบบหายใจล้มเหลว อาจถึงตายได้ แต่ถ้าเป็นการสัมผัสแบบระยะยาวทีละน้อย อาการพิษเรื้อรัง จะเริ่มด้วยอาการเจ็บหน้าอก ปวดกล้ามเนื้อ สายตาเริ่มมัว ความจำเสื่อม บุคลิกเปลี่ยนไปคล้ายคนเป็นโรคจิต ที่เคยกล้าๆ อาจจะกลายเป็นคนขี้อายไปก็ได้
 

 pageview  1205849    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved