Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 30/04/2555 ]
'อย.'เผยอีก'5ยาอันตราย' ลอบส่ง'ใต้'ผลิตยาเสพติด

'วิทยา'สั่งขันน็อตระบบยาเวชภัณฑ์ใน รพ. ล้อมคอกรั่วไหลด้าน อย.กำชับร้านขายยาคืนซูโดภายใน 3 พ.ค.  พร้อมขอความร่วมมือคุมจ่ายยาเสี่ยงผลิตยาเสพติดอีก 5 ชนิด
          นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่29 เมษายน ถึงความคืบหน้าการแก้ปัญหายา แก้หวัดสูตรผสมซูโดอีเฟดรีน รั่วไหลออกจากโรงพยาบาลในสังกัด สธ.ว่า มาตรการเร่งด่วนในขณะนี้ได้มอบให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ดำเนินการ 3 เรื่อง1.จัดระบบรองรับยาส่งคืนจากร้านขายยา เพื่อเข้าสู่ระบบการจ่ายยาวัตถุออกฤทธิ์2.จัดระบบจำหน่ายยาที่คงเหลือในทุกบริษัทให้แก่สถานบริการที่มีประกาศครอบครองการใช้ยาที่เป็นวัตถุออกฤทธิ์ โดยให้ทุกสถานพยาบาลทำแผนและประมาณการใช้ยาล่วงหน้าส่งไปที่ อย. และเมื่อมีใบสั่งซื้อไปที่บริษัทจะมีระบบบันทึกการรายงานเพื่อการดำเนินการตรวจสอบและ 3.จัดระบบยาแก้หวัดสูตรผสมซูโดฯของประเทศให้ชัดเจนทั้งจำนวน สูตรตำรับยาที่จะผลิตในอนาคต และการมอบหมายบริษัทผู้ผลิต เพื่อให้เกิดความเหมาะสมต่อการใช้ และสามารถตรวจสอบได้ทันที
          นายวิทยากล่าวต่อว่า จากการตรวจสอบระบบการบริหารยาและเวชภัณฑ์ยาในโรงพยาบาลทุกระดับที่อยู่ในสังกัดกว่า 800 แห่งทั่วประเทศ พบว่าร้อยละ 99 มีระบบการควบคุมที่เข้มแข็ง และปฏิบัติตามกรอบที่ สธ.ได้วางไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2530 ทั้งยาทั่วไปและยาควบคุมพิเศษ ที่มีปัญหาเพียง 8 แห่งเท่านั้น คิดเป็นร้อยละ 1 ซึ่งถือว่าเป็นส่วนน้อยมาก และจะดำเนินการด้านวินัยกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง พร้อมวางระบบป้องกันในอนาคต จึงขอให้ประชาชนเชื่อมั่นในศักยภาพระบบบริการที่จะมีการพัฒนาประสิทธิภาพกลไกการบริการให้มากขึ้นต่อไป
          นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัด สธ. กล่าวว่า สธ.ได้ปฏิบัติตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ สธ. ในการควบคุมค่าใช้จ่ายของยาและเวชภัณฑ์เป็นพิเศษ และมีหนังสือกำชับให้โรงพยาบาลทุกแห่งจัดทำแผนการใช้จ่ายเรื่องยาและเวชภัณฑ์ของโรงพยาบาล และให้กำกับดูแลการบริหารจัดการเวชภัณฑ์ตามแนวทางที่สธ.กำหนดอย่างเข้มงวด โดยบริหารในรูปของคณะกรรมการเภสัชกรรมและการบำบัด มีเจ้าหน้าที่หลายวิชาชีพเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งนี้ การบริหารกรณีของยาและเวชภัณฑ์ทั่วไป ให้ทุกโรงพยาบาลเสนอขออนุมัติการจัดซื้อตามระเบียบพัสดุ จัดระบบการจัดซื้อจัดหา ระบบการตรวจรับระบบการควบคุม การเก็บรักษาป้องกันการเสื่อมสภาพหรือหมดอายุ การเบิกจ่าย การสั่งใช้ตามคำสั่งแพทย์ การตรวจสอบและการรายงานเสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น
          "ส่วนกรณียาที่จัดอยู่ในกลุ่มวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทและยาเสพติดให้โทษประเภท 2 ที่ใช้ในโรงพยาบาล การบริหารให้ใช้ระบบเดียวกันกับยาทั่วไป กรณียาเสพติดให้โทษประเภท 2 ต้องสั่งซื้อจาก อย. และกรณีของวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภท 2 ต้องส่งคำขอซื้อพร้อมหลักฐานการขอซื้อไปที่บริษัท สำหรับยาที่ส่งมาโดยไม่มีการออกใบสั่งซื้อ ให้แจ้งบริษัทและส่งคืนทันทีและมีการลงนามการรับยาคืน มีระบบรายงานการใช้ยา ผู้สั่งใช้ยาชัดเจน และรายงานการใช้ประจำเดือนประจำปีมาที่ อย. และให้รายงานการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ทั้ง 2 ประเภทประจำเดือนเข้ามายังส่วนกลางด้วย" นพ.ไพจิตร์กล่าว
          วันเดียวกัน ที่ศูนย์การประชุมอิมแพค เมืองทองธานี ชมรมร้านขายยาแห่งประเทศไทยจัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี มีสมาชิกชมรมร้านขายยาจากทั่วประเทศเข้าร่วมประมาณ 2,000 คน โดยภายในงานมีบริษัทยามารับคืนยาแก้หวัดที่มีส่วนผสมซูโดอีเฟดรีนด้วย เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ร้านขายยาในการส่งคืนภายในกำหนดของสำนักงาน อย. ในวันที่ 3 พฤษภาคมนี้ ภายหลังจากถูกยกระดับเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภท 2 ซึ่งต้องควบคุมเข้มงวดเป็นพิเศษ
          ผู้สื่อข่าวรายงานว่าบริษัทยาที่มารับคืนยาซูโดฯมีอาทิ บริษัท เก๊ดเดล ฟามาซี จำกัด บริษัท เกร๊ดอีสเทิร์น ดรั๊ก จำกัด บริษัท เจนเซ่น ซีแล็ก จำกัดเป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม ในวันเดียวกันนี้ยังมีเจ้าของร้านขายยาที่มียาซูโดฯนำยามาคืนจำนวนน้อยมาก บางบริษัทไม่มีใครเอามาคืนเลย ทั้งนี้ตัวแทนแต่ละบริษัทที่มารับยาคืนชี้แจงว่า ไม่ใช่เรื่องน่ากังวลเพราะส่วนใหญ่ได้คืนยามาแล้ว และยังมีส่วนหนึ่งแจ้งให้บริษัทไปรับยาคืนเอง และในวันที่ 1-2 พฤษภาคมนี้ จะมีการจัดงานเพื่อรับคืนยาอีกรอบที่สำนักงาน อย. คาดว่าในช่วงวันดังกล่าวบรรยากาศการคืนยาจะคึกคักกว่านี้
          นายวินิต อัศวกิจวิรี ผู้อำนวยการกองควบคุมยา สำนักงาน อย. กล่าวระหว่างชี้แจงทำความเข้าใจในข้อปฏิบัติกับร้านขายยาที่เข้าร่วมประชุมว่า ในช่วง 5-6 เดือนที่ผ่านมา เกิดความเปลี่ยนแปลงในวงการอาหารและยาอย่างมากเป็นเพราะข้อมูลปัญหาต่างๆ ผนวกกับการที่รัฐบาลพยายามที่จะแก้ปัญหาเรื่องยาเสพติดโดยมีผู้คิดไม่ดีพยายายามที่จะเอาสารซูโดอีเฟดรีนที่ผสมอยู่ในยาแก้หวัดไปสกัดออกมาทำยาไอซ์ ยาบ้า จนล่าสุดได้มีประกาศ สธ.ให้ยาซูโดฯเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภท 2 ให้ร้านขายยาและสถานพยาบาลที่ไม่มีใบอนุญาตให้มีไว้ในครอบครอง ต้องส่งยาตำรับที่มีสารซูโดฯเป็นส่วนผสมคืนให้กับผู้ผลิต หรือผู้นำเข้าภายในวันที่ 3 พฤษภาคมนี้ จึงขอความร่วมมือให้ทุกคนปฏิบัติตามประกาศดังกล่าวด้วย ใครฝ่าฝืนครอบครองจะมีโทษหนักถึงขั้นจำคุกตั้งแต่ 5-20 ปี แต่อย่างไรก็ตาม จากรายงานที่ได้รับเวลานี้พบว่า มีร้านขายยาจำนวนมากเริ่มทยอยนำยาซูโดฯมาคืนแล้ว
          นายวินิตกล่าวต่อว่า นอกจากยาซูโดอีเฟดรีนแล้ว ยังมียาอันตรายที่ถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงที่คนคิดไม่ดีจะเอาไปผลิตยาเสพติดอีก 5 ชนิด ซึ่งยังมีวางจำหน่ายในร้านขาย   ยาทั่วไปได้ คือยาแก้ไอที่มีส่วนผสมของ Diphenhydramine หรือPromethazine หรือ Dextromethorphan ยาสเตียรอยด์ (Steriod) ชนิดเม็ดรับประทาน และยาแก้ปวด Tramadol ซึ่งยาพวกนี้มีปัญหาเรื่องมีการซื้อเพื่อนำไปทำเป็นสารเสพติดและเกี่ยวโยงกับเรื่องการก่อการร้ายในภาคใต้ทางหน่วยงานปราบปรามยาเสพติดก็พยายามกดดันให้ทางอย.ช่วยแก้ปัญหานี้
          "ทางเราเองก็ยอมรับว่า มีแกะดำซึ่งเป็นเภสัชกร และร้านที่ส่งยาเหล่านี้เป็นจำนวนมากไปขายที่ภาคใต้ โดยไม่คำนึงว่าจะมีปัญหาสังคมตามมา เมื่อทราบแบบนี้แล้วผมอยากจะขอร้องให้ทุกคนช่วยกันกำจัดแกะดำเหล่านี้ออกไปจากวงการร้านขายยา และช่วยกันหามาตรการสกัดกั้นการกระทำดังกล่าว เพื่อเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม" นายวินิตกล่าว
          ด้านนายกฤชพจน์ ตนานุประวัติ ประธานชมรมร้านขายยาแห่งประเทศไทย กล่าวว่าเรื่องการคืนยาแก้หวัดที่มีส่วนผสมสารซูโดฯของร้านขายยาที่มีอยู่ประมาณ 7,000 แห่งทั่วประเทศนั้น ไม่มีปัญหา เพราะนับแต่ที่ทาง สธ.ออกประกาศดังกล่าวก็มีผู้ติดต่อขอคืนยา และขอให้บริษัทผู้ผลิตไปรับยาคืนจำนวนมากแล้ว รวมทั้งในงานตลาดนัดซูโดฯที่ทาง อย.จะจัดในวันที่ 1-2 พฤษภาคม ก็คาดว่าจะมีผู้นำยาไปคืนอีกจำนวนมาก ทั้งนี้ เมื่อมีกฎหมายออกมายาพวกนี้ก็ถือเป็นของร้อน ไม่มีใครอยากจะเก็บเอาไว้
          ผู้สื่อข่าวถามกรณียากลุ่มเสี่ยงที่เอาไปผลิตยาเสพติดได้ 5 ชนิดดังกล่าว ทางชมรมจะมีมาตรการช่วยดูแลอย่างไรบ้าง ประธานชมรมร้านขายยาฯกล่าวว่า ล่าสุดได้มีการขอร้องไปทางร้านขายยาที่เป็นสมาชิกในเครือข่ายสมาพันธ์พัฒนาคุณภาพร้านขายยาแห่งประเทศไทย ซึ่งมีทั้งชมรมร้านขายยาฯ สมาคมร้านขายยา และสมาคมเภสัชชุมชนมีสมาชิกรวมประมาณ 10,000 แห่งทั่วประเทศ ขอให้ซื้อยาแก้ไอที่เป็นขวดแบบ 60 ซีซี เก็บไว้ไม่เกิน300 ขวดต่อเดือน และขายให้ลูกค้าไม่เกินคนละ 3 ขวดต่อครั้ง และก่อนขายต้องซักถามอาการคนซื้อให้ละเอียด ถ้าเป็นการไอเรื้อรังมานานให้แนะนำไปพบแพทย์ในสถานพยาบาลมากกว่าจะมาซื้อยากินเอง ทั้งนี้ ในฐานะสมาชิกสมาพันธ์รับปากว่า จะให้ความร่วมมือในการสกัดกั้นอย่างเคร่งครัด

 pageview  1205849    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved