Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 27/04/2555 ]
วันเยื่อหุ้มสมองอักเสบโลก 24 เมษายน

วันเยื่อหุ้มสมองอักเสบโลก 24 เมษายน สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย ร่วมกับ ชมรมพัฒนาการและพฤติกรรมเด็กแห่งประเทศไทย จัดเสวนา "แนวทางการเฝ้าระวังโรค เยื่อหุ้มสมองในเด็กไทย" เพื่อร่วมรณรงค์ให้คนไทยเกิดความตื่นตัวในการป้องกันโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบที่คร่าชีวิตคนทั่วโลกปีละกว่า 170,000 ราย
          ศ.พญ.อุษา ทิสยากร นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทยระบุว่าจากอุบัติการณ์ของโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบทั่วโลก พบว่าในแต่ละปีจะมีผู้ เสียชีวิตถึง 170,000 ราย แม้อุบัติการณ์ของโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจะไม่สูงมากเมื่อเทียบกับโรคอื่นๆ แต่ความรุนแรงของโรคมีสูงมาก และส่งผลกระทบต่อผู้ป่วย และครอบครัวได้มากมายมหาศาล เพราะนอกจากโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจะก่อให้เกิดความเสี่ยงสูงที่จะเสียชีวิตแล้ว ผู้รอดชีวิตจากโรคนี้จะได้รับผลกระทบและทุพพลภาพในระยะยาว เช่น สมองถูกทำลาย หูหนวก หรืออาจจะสูญเสียความสามารถในการใช้แขนขา เป็นต้น ซึ่งโรคร้ายดังกล่าวสามารถเกิดได้กับคนทุกเพศ ทุกวัย แต่กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงขึ้นได้แก่ทารก เด็กเล็ก และวัยรุ่น โดยจะไม่แสดงอาการใดๆ ในระยะแรก จะมีแต่เพียง อาการทั่วๆ ไปซึ่งคล้ายกับโรคไข้หวัด เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดต้นคอ ก้มคอลำบาก คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร ตาไวต่อแสง เซื่องซึม แขนขาอ่อนแรง ฯลฯ
          อาการทั่วๆ ไปของโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ มักคล้ายกับอาการไข้หวัดซึ่งคนไทยเราเป็นกันบ่อยๆ โดยเฉพาะเด็กเล็ก ทำให้คุณพ่อคุณแม่มองข้าม จนบางครั้งเกิดอันตรายเกินแก้ไขได้ทันเวลา ซึ่งอาการดังที่กล่าวมา ไม่จำเป็นต้องเหมือนกันทุกคน และไม่จำเป็นต้องมีครบทุกอาการ หากเข้าข่ายสงสัยควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย
          แม้ว่าโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจะเป็นโรคติดเชื้อที่มีความรุนแรง แต่พ่อแม่สามารถป้องกันลูกน้อยจากโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบได้ โดยให้ทารกกินนมแม่ รับประทานอาหารหลักครบ 5 หมู่ ดื่มน้ำมากๆ ออกกำลังกายและพักผ่อนอย่างพอเพียง รวมทั้งรักษาสุขอนามัยเป็นประจำสม่ำเสมอ ด้วยการล้างมือบ่อยๆ รวมทั้งปิดปากปิดจมูกเมื่อไอหรือจาม ในปัจจุบันมีการพัฒนาวัคซีนที่ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ โรคหูชั้นกลางอักเสบ โรคติดเชื้อในกระแสเลือด และโรคปอดบวม
          พญ.ภาวินี อินทกรณ์ กุมารแพทย์ด้านโสต ศอ นาสิก สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า นอกจากโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจะเป็นโรคร้ายแรงที่พวกเราทุกคนต้องเร่งป้องกันแล้ว ก็ยังมีโรคหูชั้นกลางอักเสบอีกโรคที่เป็นภัยเงียบที่คุกคามเด็กไทยอยู่ในปัจจุบันที่พ่อแม่มักมองข้ามไป และเป็นอีกสาเหตุสำคัญที่มีโอกาสนำไปสู่โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือฝีในสมองได้ เนื่องจากหูอยู่บริเวณฐานสมอง และมีท่อยูสเตเชี่ยนเชื่อมถึงกัน และท่อนี้มีความลาดเอียงมากในเด็กเล็ก รวมทั้งมีช่องทางเชื่อมถึงกันหมดจนถึงปอด ดังนั้นเมื่อลูกน้อยเป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบ จึงมีโอกาสที่เชื้อจะแพร่ไปก่อโรคยังฐานสมองและอวัยวะอื่นๆ ที่ต่อเชื่อมถึงกัน ทำให้เป็นโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นฝีในสมอง โรคติดเชื้อในกระแสเลือด และโรคปอดอักเสบ หรือปอดบวมได้ ซึ่งหากเป็นอย่างนั้นโอกาสที่เด็กจะกลับมาแข็งแรงและมีพัฒนาการที่สมบูรณ์คงเป็นเรื่องยาก
          จากสถิติพบว่าเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 3 ปี มากถึงร้อยละ 80 มีโอกาสเป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบอย่างน้อย 1 ครั้ง ซึ่งสาเหตุหลักเกิดจากเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส และเชื้อเอ็นทีเอชไอ ซึ่งพบได้ในโพรงจมูกและลำคอของคนเรา แต่มักจะไม่ก่อโรค แต่หากร่างกายอ่อนแอ หรือมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เชื้อร้ายก็จะก่อให้เกิดโรคติดเชื้อรุนแรงต่างๆ ได้ พ่อแม่จึงควรสังเกตลูกน้อยอย่างใกล้ชิดว่าลูกมีไข้สูง ร้องกวน งอแง นอกจากนี้เด็กเล็กอาจจะใช้มือจับหูข้างที่ปวดหรือไม่ ซึ่งหากพ่อแม่ละเลยและไม่สนใจอาการดังกล่าว โรคหูชั้นกลางอักเสบอาจจะทวีความรุนแรงขึ้น จนทำให้เกิดแก้วหูแดงบวม และอักเสบมีน้ำและหนองคั่งในเยื่อแก้วหู รวมทั้งเยื่อแก้วหูฉีกขาด จนเกิดภาวะหูน้ำหนวก
          หากพ่อแม่พบอาการข้างต้นให้รีบพาลูกไปพบกุมารแพทย์เพื่อหาสาเหตุโดยด่วน
 

 pageview  1205849    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved