Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 13/03/2555 ]
'ศัลยแพทย์' ยกนิ้วให้ 3 นักประดิษฐ์ไทย คิด 'ไฟผ่าตัด' ราคาถูก

 อนุชา ทองเติม
          เครื่องมือทางการแพทย์ถือเป็นหัวใจสำคัญไม่แพ้สิ่งอื่นใดในกระบวนการรักษาผู้ป่วย สำหรับประเทศไทยแล้วอุปกรณ์การแพทย์ส่วนใหญ่จะนำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศทางแถบยุโรป และอเมริกา ซึ่งในการจัดซื้อแต่ละครั้งต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นเงินจำนวนมาก
          ยกตัวอย่างเช่น "แหล่งกำเนิดแสง"หรือไฟฉายสำหรับให้แสงสว่างในระหว่างการผ่าตัด
          ด้วยการส่องกล้อง เกิดจากหลอดไฟชนิดฮาโลเจนหรือซีนอน ซึ่งอาศัยหลักการของการรวมแสงด้วยเลนส์ แล้วฉายลำแสงผ่านท่อใยแก้วนำแสงไปยังส่วนปลายของเครื่องมือสำหรับตรวจหรือผ่าตัดภายในร่างกาย
          เจ้าไฟฉายเพื่อการผ่าตัดภายในร่างกายมนุษย์ที่ว่ามีราคาสูงถึง 400,000-800,000 บาทต่อเครื่องมีอายุการใช้งานของตัวหลอดไฟเพียง 500 ชั่วโมง
          ด้วยเหตุผลข้างต้นนี้เองทำให้เจษฎา เปาโสภาจะเด็ด เปาโสภาและ วันชัย นันทไพบูลย์ สามหนุ่มที่เป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่สมัยเรียนชั้นประถมเกิดความคิดที่จะประดิษฐ์ "ไฟ"สำหรับการผ่าตัดในร่างกายมนุษย์ โดยลบข้อด้อยทั้งหลายทั้งปวงทิ้งไป โดยเฉพาะในแง่ของการเป็นชิ้นงานที่ออกแบบให้สามารถหาซื้อชิ้นส่วนและผลิตได้เองภายในประเทศ เพื่อให้มีราคาต่ำกว่าของต่างประเทศอย่างมาก
          เป็นที่มาของ "แหล่งกำเนิดแสงแบบพลวัตสำหรับการผ่าตัดภายในร่างกาย" (Dynamic LED Light Source) เพิ่งได้รับรางวัลเกียรติคุณจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เมื่อวันนักประดิษฐ์ 2 กุมภาพันธ์ 2555 ในฐานะผลงานประดิษฐ์คิดค้นประจำปี 2555
          แล้วหนุ่มนักประดิษฐ์ทั้งสามเป็นใคร?
          แน่นอน เจษฎากับจะเด็ดเป็นพี่น้องกัน เจษฎาเป็นพี่ จะเด็ดเป็นน้อง ส่วนวันชัยนั้นเป็นเพื่อนจะเด็ดในสมัยเรียนประถม
          วันชัยหนึ่งในผู้ที่ร่วมคิดค้นเล่าให้ฟังว่า โดยส่วนตัวแล้ว เขาประกอบอาชีพเกี่ยวกับงานซ่อมเครื่องกล และเพื่อนคือจะเด็ดนั้นทำงานด้านอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อต่างคนได้มีโอกาสมาเจอกัน มักจะคุยเรื่องการกระบวนการทำงานของเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ และพยายามหาจุดโหว่ของเครื่องมือเหล่านั้น เพื่อที่จะช่วยกันคิดหาทางปรับปรุง
          "ผมกับจะเด็ดเป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่เด็กๆ คุณเจษฎาพี่ชายเราก็สนิทกันดี นานๆ ทีพวกเราเจอกันก็จะคุยๆ กันว่า อยากทำอะไร เพื่อนเสนอมาว่าเครื่องกำเนิดแสงควรที่จะปรับให้ดีขึ้น เราก็ช่วยกันดู ช่วยกันทำ เพราะเราเป็นพวกที่ชอบทำโน่นทำนี่อยู่แล้ว ส่วนเรื่องต้นทุนเราก็จะออกกันเอง"
          วันชัยเล่าต่อว่า แหล่งกำเนิดแสงที่ออกแบบประดิษฐ์คิดค้นขึ้นใหม่นี้ ใช้แสงที่มาจากหลอดไฟแบบแอลอีดี (Light Emitting Diode) ความเข้มปานกลาง ซึ่งหลอดไฟแบบนี้มีข้อดีที่เหนือกว่าหลอดฮาโลเจน หรือซีนอนที่ใช้อยู่ในปัจจุบันอย่างมาก คือมีอายุการใช้งานยาวนานกว่า กินกระแสไฟน้อยกว่า ความร้อนที่เกิดจากแสงมีน้อยกว่า และราคาของหลอดก็ถูกกว่าอีกด้วย
          เนื่องจากความเข้มของแสงจากหลอดไฟแบบแอลอีดีนี้ยังไม่สามารถให้ความเข้มแสงเพียงพอต่อการใช้งานกับเครื่องมือผ่าตัดได้อย่างสมบูรณ์ พวกเขาจึงออกแบบประดิษฐ์คิดค้นวิธีการเพิ่มระดับความเข้ม หรือความสว่างของแสงจากหลอดแอลอีดีให้สามารถใช้งานกับเครื่องมือผ่าตัดได้อย่างสมบูรณ์แบบ โดยเพิ่มระดับความเข้มแสงด้วยการเพิ่มจำนวนหลอดไฟกำเนิดแสงให้มากขึ้น
          จากหนึ่งหลอดเป็นหลายๆ หลอด ซึ่งสามารถเพิ่มระดับความสว่างได้อย่างไม่จำกัด
          จะเด็ดอธิบายเพิ่มเติมว่า หลอดไฟแอลอีดีหลายๆ หลอดถูกออกแบบให้ติดตั้งอยู่กับชุดฐาน
          รองรับหลอดไฟในลักษณะวงกลม โดยให้ลำแสงของหลอดไฟทุกหลอดพุ่งไปรวมกันที่จุดรวมแสงเพื่อนำลำแสงทั้งหมดไปใช้งาน
          แต่การใช้หลอดหลายๆ หลอดก่อให้เกิดปัญหาความไม่สม่ำเสมอของแสงที่ส่องไปยังส่วนรับแสงของท่อใยแก้วนำแสง ทำให้คุณภาพของแสงที่ได้ยังไม่ดีนัก
          ดังนั้น เพื่อเพิ่มคุณภาพของแสงพวกเขาจึงได้คิดค้นวิธีการเกลี่ยความเข้มของแสงให้สม่ำเสมอโดยการติดตั้งชุดฐานรองรับหลอดไฟเข้ากับแกนมอเตอร์ และให้มอเตอร์หมุนขับชุดหลอดกำเนิดแสง ด้วยความเร็วประมาณ 3,000 รอบต่อนาทีทำให้จุดความเข้มของแสงจากหลอดแอลอีดีแต่ละหลอดเคลื่อนที่อย่างรวดเร็วจนเกลี่ยกระจายความเข้มของแสงให้สม่ำเสมอ ทำให้แสงมีคุณภาพที่ดีเยี่ยมเทียบเท่าแหล่งกำเนิดแสงที่นำเข้าจากต่างประเทศในปัจจุบัน
          "ตอนแรกที่มีปัญหาค่าของแสงที่ได้ไม่สม่ำเสมอเราก็คิดหนักมากว่าจะทำยังไงต่อไป สรุปคือต้องหมุน พอหมุนแล้วปรากฏว่าได้ผล ทำให้พวกเราถึงกับเฮ...เลยทีเดียว" จะเด็ดกล่าวพร้อมหัวเราะ หลังจากสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้สำเร็จเป็นที่เรียบร้อยพวกเขานำไปให้โรงพยาบาล 2 แห่งได้ทดลองใช้คือ รพ.ร้อยเอ็ด และ รพ.มหาสารคาม
          จะเด็ดเล่าว่า โรงพยาบาลทั้ง 2 แห่งต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ประสิทธิภาพการใช้งานไม่แพ้เครื่องมือที่ซื้อจากต่างประเทศเลย และที่ดียิ่งไปกว่าก็คือ ช่วยลดต้นทุนได้เป็นอย่างดี เพราะว่าอายุการใช้งานของหลอดแอลอีดีนั้นนานกว่าหลอดซีนอนหลายเท่าตัว
          "พอเอาไปให้ทั้งสองโรงพยาบาลใช้ ต่างรู้สึกทึ่งบอกว่าคิดไม่ถึงจริงๆ ว่าจะทำเรื่องนี้ เพราะเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมากๆ แต่ไม่มีคนคิด ซึ่งเมื่อทางโรงพยาบาลนำไปทดลองใช้ต่างพอใจไปตามๆ กัน"
          เจษฎาเล่าถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากงานประดิษฐ์ชิ้นนี้ว่า "แหล่งกำเนิดแสงแบบพลวัตสำหรับการผ่าตัดภายในร่างกาย" ที่ประดิษฐ์ขึ้นมานั้น ก่อประโยชน์ต่อประเทศไทยในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นทางเศรษฐกิจ ที่สามารถทดแทนการนำเข้าเครื่องมือและอุปกรณ์ ลดการเสียดุลการค้าระหว่างประเทศ
          ทางสังคมก็ช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาได้ดีมากขึ้นและยังส่งผลต่อการพัฒนาประเทศ เพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถของคนไทย ในการพัฒนาการสร้างเครื่องกำเนิดแสงรุ่นอื่นๆ ได้มากขึ้น
          "โดยปกติแล้วทุกโรงพยาบาลจะมีเครื่องเช่นนี้ประมาณ 3 ตัว หากโรงพยาบาลไหนใหญ่หน่อยก็จะมี 5-6 ตัว ราคานำเข้าประมาณ 600,000 บาทแต่เราใช้ต้นทุนในการจัดทำเพียง 6,000 บาท ซึ่งต่อไปหากใช้กันเป็นจำนวนมาก ก็จะส่งผลดีเพราะจะได้ประหยัด ในขณะที่ประสิทธิภาพเท่าเทียมและอาจเหนือกว่า"
          แหล่งกำเนิดแสงที่ประดิษฐ์ชิ้นนี้ สามารถพัฒนาไปสู่เชิงพาณิชย์ได้อย่างง่ายดาย เนื่องจากปริมาณความต้องการแหล่งกำเนิดแสงภายในประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่มีใช้กันอยู่ในโรงพยาบาลขนาดกลาง และขนาดใหญ่ โดยมีจำนวนการใช้งานอยู่ในโรงพยาบาลทั่วประเทศ มากกว่า 1,500 เครื่อง เครื่องเหล่านี้จะต้องมีการสั่งซื้อเครื่องใหม่ ทุกๆ 5-7 ปีและทุกเครื่องหลอดไฟกำเนิดแสงจะมีอายุใช้งาน500-700 ชั่วโมง หรือประมาณ 6 เดือน
          "ตอนนี้เรายังไม่ได้คิดเรื่องของการตลาดมากนั้น แค่ทำสำเร็จเราก็ดีใจแล้ว หากมีเรื่องพาณิชย์เข้ามาเกี่ยวข้อง เราคิดว่าอาจจะต้องพัฒนาให้ดีกว่านี้อีกระดับหนึ่ง" เจษฎาทิ้งท้ายเป็นความน่าภาคภูมิยิ่งกับสิ่งประดิษฐ์ฝีมือไทยทำ ที่ประสิทธิภาพไม่ด้อยไปกว่าของต่างประเทศซ้ำราคาถูกกว่าด้วย ซึ่งเชื่อว่ายังมีคนไทยเด็กไทยอีกไม่น้อยที่เก่งกล้าสามารถอย่างนี้ แต่อาจจะขาดโอกาสเท่านั้นเอง
 

 pageview  1205096    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved