Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 24/06/2556 ]
หูลูกน้อยอย่าวางใจ เช็กไว้ก่อนไม่ได้ยิน

  บ้านไหนเพิ่งมีสมาชิกใหม่ไปได้ไม่นาน เชื่อว่าผู้เป็นพ่อเป็นแม่จะต้องทะนุถนอม ป้อนนมป้อนข้าวอย่างดี ยิ่งพอใกล้ขวบปีก็ต้องใส่ใจพัฒนาการทางสมองและร่างกายลูกน้อยไม่คลาดสายตา เฝ้าดูการเปลี่ยนแปลงของลูกน้อยว่ามีความผิดปกติส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายหรือไม่
          ถ้าสังเกตเห็นว่าลูกไม่ยอมหันเมื่อเรียกชื่อซ้ำๆ หลายครั้งลูกไม่หันหาเสียง อาจอนุมานได้ว่าการได้ยินของลูกน้อยมีปัญหาแล้ว
          พญ.ศิราภรณ์ สวัสดิวร ผอ.สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี(โรงพยาบาลเด็ก) แนะนำว่า การได้ยินเป็นส่วนหนึ่งของการพูดและพัฒนาการทางภาษา โดยเฉพาะในช่วง 3 ขวบปีแรก มักพบว่าเด็กมีความผิดปกติทางภาษา พัฒนาการพูดได้ช้าและการได้ยินบกพร่อง
          มีผลวิจัยบอกว่า การได้ยินบกพร่องมีผลกระทบต่อการติดต่อสื่อสาร ความจำ พฤติกรรม การพัฒนาทางอารมณ์สังคม และความสามารถในการเรียน จากสถิติสำหรับประเทศที่พัฒนาแล้ว พบว่า ทารกแรกเกิด 1,000 คน จะมีทารกแรกเกิดที่การได้ยินบกพร่องประมาณ 1-2 คน และพบอุบัติการณ์เพิ่มขึ้นเป็น 10-20 เท่า
          ขณะที่ประเทศไทยมีภาวะการได้ยินบกพร่องในทารกแรกเกิดเท่ากับ 1.7 ต่อทารกคลอดมีชีพ 1,000 คน ซึ่งถือว่ามีความใกล้เคียงกับต่างประเทศ
          ในแต่ละปี ผู้ป่วยเด็กที่มีปัญหาการสูญเสียการได้ยินจะถูกส่งต่อมารับการตรวจวินิจฉัยด้านโสต คอ นาสิก ที่กลุ่มงานโสตฯ โรงพยาบาลเด็ก ปีละกว่า 16,000 ราย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี วิธีการตรวจวินิจฉัยจะใช้เครื่องมือตรวจวัดการได้ยินระดับก้านสมอง(Auditory Brainstem Respones) ซึ่งตรวจภาวะสูญเสียการได้ยินในเด็กเล็ก
          ทั้งนี้ พญ.ภาวินี อินทกรณ์ กลุ่มงานโสตฯ โรงพยาบาลเด็ก ให้ข้อมูลจากสถิติผู้ป่วยเด็กในปี 2552-2554 ที่ส่งต่อมายังกลุ่มงานฯ พบว่า ผู้ป่วยเด็กส่วนใหญ่จะมีปัญหาด้านพัฒนาการทางการพูดและการสื่อสารที่ช้า (Delayed Speech) มีภาวะสูญเสียการได้ยินร้อยละ 18.1 นั่นอาจหมายความว่า เด็กเหล่านี้อาจมีโอกาสกลายเป็นคนพิการทางการได้ยิน การพูด หรือมีความบกพร่องทางการเรียนรู้ในอนาคตได้

          เรียกแล้วไม่หันให้หมอเช็กด่วน
          เด็กเล็ก ทารกแรกเกิด เป็นวัยที่ยังไม่สามารถบอกได้ว่าเขามีความผิดปกติทางการได้ยินหรือไม่ เพื่อให้พ่อแม่ผู้ปกครองรู้ปัญหาของลูกตั้งแต่เนิ่นๆ และสามารถให้การฟื้นฟูสมรรถภาพได้อย่างเหมาะสม ควรพาเด็กไปพบแพทย์เฉพาะทางทันทีที่สงสัยว่าเด็กมีการได้ยินผิดปกติหรือมีพัฒนาการทางภาษาล่าช้ากว่าเด็กวัยเดียวกัน เช่น เด็กอายุน้อยกว่า 6 เดือน ไม่สะดุ้งตกในเวลามีเสียงดัง ไม่หันหาเสียงเด็กอายุระหว่าง 6 เดือนถึง 1 ปี แต่ไม่ตอบสนองต่อเสียง เรียกชื่อไม่หันไม่เข้าใจคำสั่งง่ายๆ เด็กอายุระหว่าง 1 ปี 8 เดือนถึง 2 ปี แต่ยังไม่สามารถพูดคำที่มีความหมายได้

 pageview  1205500    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved