Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 18/06/2556 ]
ระวัง!ฉี่หนูระบาดออฟฟิศ

 ASTVผู้จัดการรายวัน - สธ.เตือนหน้าฝนโรคฉี่หนู ชี้แม่บ้าน พนักงานออฟฟิศ นศ. และเกษตรกรเสี่ยง ให้ย่ำน้ำท่วมหรือหลังทำนาให้รีบอาบน้ำ แนะสังเกตอาการหากไข้สูง 2 วันให้รีบพบแพทย์
          นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า โรคที่พบได้บ่อยในช่วงฤดูฝนและมีอันตรายถึงแก่ชีวิต คือโรคเลปโตสไปโรซีส หรือโรคฉี่หนู ส่วนมากมักพบ ในกลุ่มเกษตรกรเขตชนบท แต่ขณะนี้ระบาดมาถึงในเมือง และพบในอาชีพอื่นๆ ด้วย เช่น แม่บ้าน รับจ้าง ประมง พนักงานออฟฟิศ  นักเรียนนักศึกษา พระ โดยอาจสัมผัสเชื้อจากฉี่หนูที่เข้ามาอาศัยอยู่ตามบ้านหรือที่ทำงาน โดยสถานการณ์เมื่อปี 2555 สำนักระบาดวิทยารายงานทั่วประเทศพบป่วยโรคฉี่หนูทั้งหมด 4,130 ราย เสียชีวิต 60 ราย สำหรับปีนี้ตั้งแต่ ม.ค.-5 มิ.ย. ทั่วประเทศพบป่วยทั้งหมด 963 ราย เสียชีวิต 7 ราย  พบมากที่สุดที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 550 ราย มากที่สุด จ.สุรินทร์ 79 ราย
          นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. กล่าวว่า เชื้อโรคฉี่หนูเป็นเชื้อแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในไตของหนู โดยจะออกมาพร้อมกับฉี่หนู ติดต่อสู่คนจากการสัมผัส โดยเชื้อจะมีลักษณะคล้ายเกลียวสว่าน สามารถไชเข้าทางผิวหนังที่มีรอยถลอกหรือบาดแผล รวมทั้งไชผ่านผิวหนังที่แช่น้ำอยู่เป็นเวลานานได้  ทั้งนี้ โรคฉี่หนูยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ประชาชนจึงต้องป้องกันดูแลตนเอง เช่น ผู้ทำ ความสะอาดบ้านควรใส่ถุงมือขณะเช็ดถู กลุ่มเกษตรกรขอให้สวมรองเท้าเพื่อป้องกันของมีคมบาดเท้า หรือสวมรองเท้าบูทยางขณะลุยน้ำย่ำโคลน หลังเสร็จภารกิจในสวนไร่นาให้รีบอาบน้ำทันที ส่วนผู้มีอาชีพดักหนูต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะที่กรงจะมีฉี่หนูปนเปื้อนอยู่มากขอให้ใส่ถุงมือป้องกัน และล้างทำความสะอาดกรงด้วยผงซักฟอกและตากแดดเพื่อฆ่าเชื้อ  สำหรับกรณีฝนตกหนักในเขตเมือง ให้หลีกเลี่ยงการย่ำน้ำ โดยเฉพาะเมื่อมีบาดแผล หากย่ำน้ำท่วมให้รีบล้างเท้าให้สะอาดด้วยน้ำ สบู่ และเช็ดให้แห้ง รวมทั้งสังเกตอาการผิดปกติด้วย ถ้าพบไข้สูงเกิน 2 วันรีบพบแพทย์ทันที

 pageview  1205511    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved