Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 17/06/2556 ]
17 โรคร้ายมากับฝนเปียกไม่เปียกก็ป่วยได้

 ย่างเข้าสู่เดือน มิ.ย. ฤดูฝนก็มาดักรอตามหน้าที่เช่นทุกปี ฝนมาบ้างก็ว่าดีจะได้หายร้อย บ้างก็ว่าอย่าตกเลยกลับบ้านลำบาก เป็นหวัดไม่สบายเอาเสียง่ายๆ แต่จะห้ามฟ้าฝนอย่างไรได้ เรามีหน้าที่จะต้องเรียนรู้ที่จะอยู่และหลบหลีกจะได้ไม่ถูก 17 โรคเสี่ยงท้าชนจนต้องหามส่งโรงพยาบาล
          นพ.ประดิษฐ สินธวรงค์ รมว.สาธารณสุข แนะว่า หน้าฝนของทุกปีจะมียอดคนป่วยและเสียชีวิตมากขึ้น จากสถิติปี 2555 พบว่ามีผู้ป่วยกว่า 900,000 คน เสียชีวิต 764 คน โรคที่มักเล่นงานเป็นกลุ่ม โรคไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก ปอดบวม มาลาเรีย ที่เราๆ ท่านๆ คุ้นหูกันดี
          จากสถิติการเฝ้าระวังของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ในช่วงฤดูฝนเดือน พ.ค.-ต.ค. 2555 พบผู้ป่วยจาก 17 โรคเสี่ยง รวม 880,146 คน นำโด่งมาด้วยโรคปอดบวม 108,381 คน ไข้หวัดใหญ่ 46,754 คน ไข้เลือดออก 44,167 คน มือเท้าปาก 33,093 คน ส่วนยอดเสียชีวิตสูงสุดมาจากโรคปอดบวม 623 คน ตามมาด้วยไข้เลือดออก ไข้ฉี่หนู กินเห็ดพิษ และมาลาเรีย
          สำหรับ 17 โรคที่มากับฤดูฝน แบ่งออกเป็น 5 กลุ่มด้วยกัน กลุ่มแรก เป็นกลุ่มโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ 5 โรค ได้แก่ โรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ คออักเสบ หลอดลมอักเสบ และปอดอักเสบ หรือปอดบวม ติดต่อถึงกันได้ผ่านการไอ จาม สังเกตอาการง่ายๆ จะมีไข้สูง หายใจเร็ว เหนื่อยหอบ ถ้ารักษาไม่ทันถึงขั้นเสียชีวิตเฉียบพลันได้
          กลุ่มโรคติดต่อทางน้ำและอาหาร 5 โรค ได้แก่ โรคอุจจาระร่วง อหิวาตกโรค บิด ไทฟอยด์ และอาหารเป็นพิษ โดยโรคกลุ่มนี้มักเกิดในพื้นที่ที่น้ำท่วมถึง คนจะดื่มน้ำและกินอาหารที่ไม่สะอาด กินสุกๆ ดิบๆ มีเชื้อโรคปนเปื้อนจนเกิดเป็นโรคทางเดินอาหาร
          ถัดไปเป็นกลุ่มโรคที่เกิดจากยุงและสัตว์ต่างๆ 4 โรค ได้แก่ ไข้เลือดออก มาลาเรีย ไข้สมองอักเสบ (เจอี) และโรคเล็ปโตสไปโรซิส
          แน่นอนว่าช่วงหน้าฝนจะมียุงชุกชุม สัตว์มีโอกาสแพร่เชื้อปะปนมากับน้ำ อย่างโรคเล็ปโตสไปโรซิส หรือไข้ฉี่หนู เกิดจากคนไปเดินลุยน้ำสกปรก สัมผัสแบคทีเรียที่อยู่ในฉี่หนู สุนัข โค กระบือ อาการของโรคเหล่านี้จะมีไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง บางโรคจะปวดกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะที่น่องและโคนขาอย่างรุนแรง บ้างตาแดง เลยก็มี
          กลุ่มโรคที่ 4 กลุ่มโรคที่เผลอไปสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยอย่างโรคมือเท้าปาก โรคนี้พบได้ตลอดทั้งปี แต่เด็กๆ จะป่วยกันมากในฤดูฝน ต้องระมัดระวังเช่นกัน  และกลุ่มโรคสุดท้าย โรคที่เกิดในภาวะน้ำท่วม 2 โรค ได้แก่ โรคตาแดง และโรคน้ำกัดเท้าเนื่องจากเชื้อรา
          2 โรคสุดท้ายนี้เกิดง่ายแต่เลี่ยงยาก เพราะช่วงฝนตก คนพากันวิ่งย่ำแอ่งน้ำขังหรือบนถนนที่ชื้นแฉะ เชื้อไวรัสในน้ำสกปรกมีสิทธิกระเด็นเข้าตา ถ้าต้องลุยน้ำท่วมขังมีหวังเป็นน้ำกัดเท้า ดีไม่ดีเสี่ยงถูกงู ตะขาบ แมงป่องหนีน้ำงาบเข้าอีกที แจ็กพอตนี้แจกพิเศษช่วงหน้าฝนนี้แน่นอนถ้าไม่ระวังตัว
          ดังนั้น การเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เป็น 17 โรคร้ายที่มีสิทธิตายได้ในหน้าฝนเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐยังไช้ได้ทุกฤดูกาล

          ฟังหมอไว้ห่างไกลโรค
          นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แนะนำให้รักษาร่างกายให้อบอุ่น สร้างภูมิต้านทานที่ดี หากเปียกฝนให้ชำระร่างกายให้สะอาด สวมเสื้อผ้าแห้ง ถ้าลุยน้ำย่ำโคลนมาให้ล้างมือล้างเท้าให้สะอาด
          สุขอนามัยง่ายๆ อย่างสวมหน้ากากอนามัย อย่าได้มองข้าม หากจำเป็นต้องไปทำงานที่เสี่ยงกับการติดเชื้อโรคต้องปิดปากปิดจมูกอยู่ตลอดเวลา และหากรู้ตัวว่ามีไข้สูง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงอย่างเด็กเล็ก หญิงมีครรภ์อ่อนๆ ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว ต้องกินยาลดไข้ หากไข้ไม่ลดภายใน 2 วัน อย่าทดเวลาบาดเจ็บ ให้ไปพบหมดใกล้บ้านทันที

 pageview  1205500    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved