Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 10/06/2556 ]
กินน้ำอัดลมให้เป็นปลอดภัยไร้เบาหวาน

 อุณหภูมิร้อนแบบนี้ ถ้าไม่ได้เครื่อมดื่มเย็นๆ ดับกระหาย เครื่องในคงไม่สงบทำงานต่อไม่ได้ เครื่องดื่มยอดฮิตหน้าร้อนจึงหนีไม่พ้นน้ำอัดลมราคาแสนถูก
          แต่รู้หรือไม่...ลำพังดื่มเพียวๆ เป็นประจำก็มีโทษอยู่แล้ว มีผลการศึกษาอ้างอิงข้อมูลจากอาสาสมัคร 350,000 คน ใน 8 ประเทศสหภาพยุโรป ได้แก่สหราชอาณาจักร เยอรมนี อิตาลี เดนมาร์ก สเปน สวีเดน ฝรั่งเศส และเนเธอร์แลนด์ ที่ตอบคำถามเรื่องปริมาณน้ำหวาน น้ำอัดลม น้ำผลไม้ที่ดื่มในแต่ละวัน
          พบว่า การดื่มน้ำอัดลมประป๋องขนาด 12 ออนซ์ หรือ 340 มล. เพิ่มความเสี่ยงเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 มากขึ้นกว่า 1 ใน 5 เมื่อเทียบกับการดื่มน้ำอัดลมไม่เกินเดือนละ 1 กระป๋อง
          โรคเบาหวานชนิดที่ 2 ชนิดที่ไม่ต้องพึ่งอินซูลิน เป็นโรคที่พบในผู้ใหญ่สูงถึงร้อยละ 90-95 ของโรคเบาหวานทุกชนิด ทางองค์การอนามัยโลก เผยว่า ทั่วโลกมีคนเป็นเบาหวานชนิดนี้มากกว่า 310 ล้านคน เฉพาะในอังกฤษมีประมาณ 2.9 ล้านคน
          ปัจจัยเสี่ยงการเป็นเบาหวานนี้ มาจากอายุที่มากขึ้น ความอ้วน บุคคลในครอบครัวมีประวัติเป็นเบาหวาน พบเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ร่างกายไม่ค่อยได้เคลื่อนไหวความดันโลหิตสูง ภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ มีประวัติเคยเป็นโรคเกี่ยวกับหลอดเลือด
          ผลการศึกษายังบอกอีกว่า ผู้ใหญ่ชาวยุโรปเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 เพิ่มขึ้นตามปริมาณการดื่มน้ำอัดลม แต่การดื่มน้ำผลไม้ไม่พบว่าทำให้เป็นเบาหวานมากขึ้น
          ผลที่น่าสนใจคือ การดื่มน้ำอัดลมวันละ 1 กระป๋อง ทำให้มีโอกาสเป็นเบาหวานเพิ่มขึ้นร้อยละ 22 เมื่อเทียบกับดื่มไม่เกินวันละ 1 กระป๋อง
          ทั้งนี้ ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นมีความเชื่อมโยงกับการดื่มน้ำอัดลมที่ใส่สารสังเคราะห์ให้ความหวาน โดยผลการศึกษาดังกล่าวตีพิมพ์ในวารสาร Diabetologia แนะนำให้จำกัดอาหารและเครื่องดื่มที่มีความหวาน ซึ่งมีปริมาณแคลลอรีสูงและเป็นสาเหตุให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น         
          นอกจากนี้ น้ำอัดลมได้กลายเป็นส่วนผสมของยาเสพติดสายพันธุ์ใหม่ ฮิตในหมู่วัยรุ่นภาคใต้ที่นำยา "ทรามาดอล" (Tramadol) มาผสมกับน้ำอัดลมมีฤทธิ์ทำให้เคลิ้มและมีความสุข แต่ผลร้ายที่ตามมาคือจะกดประสาทส่วนกลาง อาจทำให้หายใจไม่ออกเสียชีวิตได้
          คงไม่อาจห้ามเสียทีเดียวว่าอย่าดื่มน้ำอัดลมเป็นอันขาด ยังคงดื่มดับกระหายได้อยู่แต่อย่าดื่มถี่ๆ อะไรที่มากไปย่อมไม่ดี ที่สำคัญไม่ควรไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด อย่าพิเรนทร์ผสมยาอื่นๆ ลงไปมั่วๆ มีแต่อันตรายลูกเดียวนะครั้บ

          รู้จัก "ทรามาดอล" โด๊ปเยอะมีเดี้ยง
          สำหรับยาทรามาดอล เป็นยาบรรเทาอาการปวดกลุ่มโอปิออยด์ ทั้งยังมีผลต่อระบบประสาท กดการหายใจ รู้สึกเคลิ้มทำให้เกิดความสุขและก่อให้เกิดการเสพติดได้ ยาตัวนี้จึงถูกจัดเป็นยาเสพติดให้โทษที่ต้องควบคุมการจำหน่ายผู้ป่วยที่ใช้ยาทรามาดอลเพื่อระงับประสาท ลดอาการซึมเศร้า ต้องระวังไม่ให้ใช้ยาเกินขนาด องค์การอาหารและยาสหรัฐ เตือนว่า มีโอกาสเสียชีวิตได้เพราะยาจะไปกดการหายใจและกดระบบประสาทส่วนกลางทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายในผู้ป่วยที่มีแนวโน้มเสพติดยาด้วย

 pageview  1205858    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved