Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 13/03/2556 ]
'พลาสติเนชั่น'การรักษาสภาพศพแบบใหม่

พูดถึงการรักษาสภาพศพของผู้นำประเทศอย่าง วี.ไอ. เลนิน ไปเมื่อ      วันก่อนหน้านี้ พาลทำให้ต้องนึกถึงกรรมวิธีใหม่ล่าสุดที่ใช้กันเพื่อรักษาสภาพศพให้คงทน เหมือนเดิมอยู่ได้ยาวนานตามไปด้วย กรรมวิธีใหม่นี้มีความสลับซับซ้อนมากกว่าเดิมมาก คิดค้นขึ้นตั้งแต่ปี 1979 โดยนักสรีรวิทยาชาวเยอรมัน ชื่อ กุนเธอร์ ฟอน เฮเกนส์ ตอนจดสิทธิบัตรนั้นใช้ชื่อเรียกตามสารประกอบหลักที่ใช้ว่า "พลาสติเนชั่น"
          หลักการง่ายๆ ของ "พาลสติเนชั่น" ก็คือ การ "แทนที่" ของเหลวและไขมันในร่างกายทั้งหมดด้วย "พลาสติก" นั่นเอง
          ข้อดีของวิธี "พลาสติเนชั่น" ก็คือ ร่างของศพที่จะเก็บรักษาไว้นั้นจะไม่มีวันเน่าเปื่อยอีกเลย ไม่จำเป็นต้องมีการทำซ้ำบ่อยๆ หรือมีกรรมวิธีวุ่นวายในการรักษาสภาพศพอย่างเช่นที่วิธีการแบบดั้งเดิมที่ใช้รักษาศพเลนินจำเป็นต้องใช้ ผลก็คือ ทำให้ศพไม่จำเป็นต้องตั้งแสดงในที่จำกัด สามารถเคลื่อนย้ายไปไหนมาไหนได้ ออกทัวร์จัดแสดงตามพิพิธภัณฑ์สถานต่างๆ ได้เลยทีเดียว
          เราอาจเคยเห็นศพ หรือชิ้นส่วนของศพที่ผ่านกรรมวิธี "พลาสติเนชั่น" แล้วนำมาจัดแสดงตามพิพิธภัณฑ์ต่างๆ แล้วก็เป็นได้
          "พลาสติเนชั่น" มีหลักการง่ายๆ ก็จริง แต่กรรมวิธีในการทำยุ่งยากซับซ้อนไม่น้อย กระบวนการทั้งหมดเริ่มต้นด้วยวิธีการฉีดของเหลวจำพวกฟอร์มัลดีไฮด์ เข้าไปในร่างกายเหมือนกัน แต่ในกรณี "พลาสติเนชั่น" นั้น การรักษาสภาพศพด้วยฟอร์มัลดีไฮด์เป็นเพียงส่วนหนึ่งของกระบวนการ ทั้งเพื่อไม่ให้ร่างกายแข็งทื่อมากเกินไป สำหรับการจัดท่าทางให้ได้อย่างที่ต้องการ และในเวลาเดียวกันก็เพื่อรักษาสภาพร่างกายรอให้กระบวนการทั้งหลายแล้วเสร็จเท่านั้นเอง
          จากนั้น ร่างของศพจะถูกนำไปแช่ในอ่าง อะซีโทน สารประกอบไร้สี ไร้กลิ่น ซึ่งเมื่ออยู่ในสภาพเย็นจัดจะดูดเอาน้ำออกจากศพมาจนหมดแล้วเข้าไปแทนที่ อะซีโทนเป็นสารประกอบที่ไม่ค่อยคุ้นเคยกันมากนักและติดไฟง่าย แต่มีคุณสมบัติสำคัญคือ "ไม่เป็นมิตร" ต่อเชื้อโรคและแบคทีเรียทั้งหลายหลังจากที่แช่ศพในอ่างอะซีโทน เพื่อให้อะซีโทนเข้าไปแทนที่น้ำในร่างกายผู้ตายแล้ว ศพดังกล่าวจะถูกนำมาผ่านขั้นตอนที่สอง นั่นคือการแช่ลงไปในอ่างของเหลวที่เป็นพลาสติกสังเคราะห์ จำพวกยางซิลิโคน, โพลีเอสเตอร์ หรือ อีพอกซี่ เรซิน เพิ่มอุณหภูมิจนถึงจุดเดือด จุดประสงค์เพื่อทำให้อะซีโทนที่แทนที่น้ำอยู่ในเซลล์ของศพในขั้นตอนแรกระเหยกลายเป็นไอ แล้วสารประกอบโพลีเมอร์จะเข้าไปแทนที่ อะซีโทนเหล่านั้น
          ขั้นตอนสุดท้ายจะเป็นการอาบศพด้วยแสงอัลตราไวโอเลต เพื่อทำให้โพลีเมอร์แห้งและแข็งคงสภาพเป็นพลาสติก และทำให้ศพคงสภาพอยู่เช่นนั้นตลอดไป
          ถ้าจะถามว่า ความเย็นจัดๆ สามารถรักษาสภาพศพให้คงที่ไว้ได้นานได้หรือไม่? คำตอบยังไม่เป็นที่ชัดเจน เพราะกรรมวิธีดังกล่าวซึ่งเรียกกันว่า "ครายโอพรีเซอร์เวชั่น" ซึ่งใช้อุณหภูมิต่ำกว่าจุดเยือกแข็งมากๆ เพื่อคงสภาพนั้น ยังใหม่และเป็นที่ถกเถียงกันไม่น้อย
          ที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ "ครายโอพรีเซอร์ เวชั่น" ใช้ได้ผลกับสัตว์ขนาดเล็กๆ ที่มีโครงสร้างร่างกายไม่สลับซับซ้อนหรือกลุ่มเซลล์ขนาดเล็กของมนุษย์ อย่างเช่น สเปิร์ม หรือเอมบริโอ (เคยผ่านการพิสูจน์แล้วว่าสามารถเก็บได้นาน 16 ปีแล้วยังนำมาผสมเป็นผลสำเร็จ) แต่ถ้าเป็นทั้งร่างกายคน ที่มีปริมาณเนื้อเยื่อจำนวนมาก "ครายโอพรีเซอร์เวชั่น"ยังไม่ดีพอ และเข้าใจกันมากพอที่จะนำมาใช้ได้
          ปัญหาที่จะเกิดขึ้นมีมากมาย อย่างเช่น กรรมวิธีดังกล่าวอาจทำให้เซลล์กลายเป็นผลึกน้ำแข็ง หรือความเย็นจัดทำให้เนื้อเยื่อแห้ง กรอบ เสียหายได้ง่าย
          แต่ก็ยังคงมีผู้ทำวิจัย เพื่อศึกษาและทำความเข้าใจ "ครายโอพรีเซอร์เวชั่น" นี้อยู่เช่นเดียวกัน

 pageview  1205703    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved