Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 26/02/2556 ]
เบาหวาน..ภัยร้ายจอประสาทตา

เบาหวาน เป็นโรคที่ก่อให้เกิดความผิดปกติเกี่ยวกับระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงกว่าปกติ จึงทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคตามอวัยวะส่วนอื่นๆ ของร่างกาย
          รวมไปถึงดวงตา เนื่องจากการที่ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นนั้น ได้สร้างความเสียหายให้กับเส้นเลือดขนาดเล็กในทุกส่วนของร่างกายผู้ป่วย โดยเส้นเลือดขนาดเล็กเหล่านี้ บางเส้นจะเปราะแตกทำให้เกิดเลือดออก หรือเส้นเลือดบางเส้นอาจเกิดการรั่วซึม ทำให้จอประสาทตาบวมขณะที่เส้นเลือดบางเส้นจะเกิดการอุดตันทำให้จอประสาทตาขาดเลือดไปหล่อเลี้ยงจึงทำให้เสื่อมสภาพลง หากการรั่วซึมของเส้นเลือด หรือขาดเลือดหล่อเลี้ยง ก็จะทำให้จอประสาทตาบริเวณจุดภาพชัดบวมน้ำ ซึ่งจะส่งผลให้ตามัวลงอย่างรวดเร็ว
          อ.นพ.ณวัฒน์ วัฒนชัย หน่วยจอตาและวุ้นตา ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่กล่าวว่า อาการของผู้ป่วยที่เป็นภาวะจุดภาพชัดบวมน้ำจากเบาหวาน จะมีอาการดังนี้ คือ ตาจะมัวลง อาจเห็นเหมือนมีเงาดำๆ บังอยู่ตรงกลาง เนื่องจากบริเวณจุดภาพชัดที่บวมน้ำรับภาพได้ลดลง เห็นภาพวัตถุในลักษณะบิดเบี้ยวไป เนื่องจากเกิดการบวม และขรุขระของผิวจุดภาพชัด การรับรู้สีบกพร่องไป อาจเป็นไปในลักษณะความผิดเพี้ยนของการรับรู้สี หรือสีซีดจางลง
          ในส่วนของการรักษา ทางจักษุแพทย์จะตรวจตาผู้ป่วยเบาหวานเป็นระยะ เพื่อตรวจหาและประเมินระยะของโรคเบาหวานขึ้นจอประสาทตา และตรวจหาภาวะจุดภาพชัดบวมน้ำจากเบาหวาน เพื่อพิจารณาทางเลือกการรักษา เช่น การฉายเลเซอร์รักษาภาวะจุดรับภาพบวม การฉีดยาเข้าในตาหรือรอบลูกตา และการผ่าตัด
          สำหรับภาวะจุดภาพชัดบวมน้ำจากเบาหวานมีหลายแบบ ซึ่งแต่ละแบบจะตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีการต่างๆ ได้แตกต่างกัน จักษุแพทย์จะประเมินลักษณะของจุดภาพชัดที่บวมน้ำ และเสนอทางเลือกการรักษาที่เหมาะสมที่สุดให้แก่ผู้ป่วย อาจมีการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เพื่อนำไปเป็นข้อมูลประกอบในการวินิจฉัยโรค หรือช่วยตัดสินทางเลือกในการรักษา เช่น การฉีดสีตรวจจอประสาทตา การตรวจจอประสาทตาด้วยเลเซอร์
          1.การรักษาด้วยการฉายเลเซอร์ จะเป็นการใช้แสงเลเซอร์ปิดเส้นเลือดที่รั่วซึมที่จอประสาทตา เพื่อลดการบวมของจุดภาพชัดโดยการฉายเลเซอร์นั้นจะไม่ก่อให้เกิดแผลภายนอก เนื่องจากใช้แค่ยาหยอดขยายม่านตา และยาชาเท่านั้น โดยผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้หลังการรักษา และล้างหน้าได้ตามปกติ ในผู้ป่วยบางรายที่มีการเจ็บปวด ในขณะฉายเลเซอร์นั้น อาจต้องใช้ยาชาชนิดฉีดเพิ่มเติม โดยการฉายเลเซอร์ในผู้ป่วยแต่ละรายนั้น อาจมีจำนวนครั้งในการฉายเลเซอร์ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม
          2.การฉีดเข้าในตา มักใช้ในกรณีผู้ป่วยที่มีจุดรับภาพบวม และไม่ตอบสนองการรักษาด้วยเลเซอร์ หรือบวมในลักษณะที่การรักษาด้วยเลเซอร์ให้ผลในการรักษาน้อย ทั้งนี้การฉีดยาเข้าในตา อาจจะทำเพียงครั้งเดียวหรือต้องทำหลายครั้งก็ได้ ขึ้นอยู่กับการตอบสนองต่อการรักษาของผู้ป่วย ในผู้ป่วยบางรายอาจต้องทำการรักษา ทั้งการฉายเลเซอร์ และการฉีดยาเข้าในตาร่วมกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิผลในการรักษา
          3.การผ่าตัดรักษาจอประสาทตา มักใช้กับภาวะจุดภาพชัดบวมน้ำที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยการฉายเลเซอร์ หรือการฉีดยา หรือมีการบวมน้ำ เนื่องจากมีพังผืดดึงรั้งจุดภาพชัดอยู่ โดยการรักษาแบบนี้ต้องทำในห้องผ่าตัด อาจทำได้โดยการฉีดยาชา หรือดมยาสลบ ทำให้ผู้ป่วยบางรายอาจจำเป็นต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล เพื่อสังเกตอาการ การรักษาด้วยวิธีผ่าตัดนี้ จะทำให้ตาแดง ปวดเคือง น้ำตาไหล และอาจทำให้การมองเห็นมัวลงในระยะ2-3 สัปดาห์แรก แล้วจะค่อยทุเลาลงเรื่อยๆหลังจากนั้นผู้ป่วยจะต้องใช้ยาหยอด และรับประทานยาหลังการผ่าตัดอีกด้วย ในผู้ป่วยบางรายอาจต้องมีการผ่าตัดมากกว่า 1 ครั้ง
          สำหรับวิธีการป้องกันภาวะจุดภาพชัดบวมน้ำจากเบาหวาน คือ
          1.ผู้ป่วยเบาหวานทุกราย ควรได้รับการตรวจกับจักษุแพทย์ เมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวาน แม้จะไม่มีอาการตามัวและตรวจติดตามอย่างสม่ำเสมอตามที่แพทย์แนะนำ
          2.ควรทดสอบการมองเห็นของตาทีละข้าง โดยปิดตาข้างใดข้างหนึ่งแล้วใช้ตาข้างเดียวมอง ทำสลับกันทั้งสองข้าง หากพบว่าตาข้างใดข้างหนึ่งมัวลง ควรไปพบแพทย์ทันที
          3.การควบคุมระดับน้ำตาลและความดันโลหิตให้ดี จะลดโอกาสการเกิดลดความรุนแรงของภาวะจุดภาพชัดบวมน้ำจากเบาหวาน และทำให้โอกาสตอบสนองต่อการรักษากลับมาเห็นชัดสูงขึ้น
          4.งดการสูบบุหรี่ เนื่องจากบุหรี่ทำให้เส้นเลือดขนาดเล็กตีบตันมากขึ้น

 pageview  1205464    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved