Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 07/02/2555 ]
ระวังโรคหน้าหนาว
          บางกอกเกี้ยน
          เมื่อสัปดาห์ก่อนสิ้นเดือนมกราคม อากาศในหลายจังหวัดโดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครปรวนแปร จากฤดูหนาวกลายมาเป็นฤดูฝน ขณะในวันที่มีคลื่นสุริยะกลับร้อนอ้าว
          อากาศหนาวเย็นและแปรปรวนเช่นที่ผ่านมา เป็นเหตุให้เกิดโรคร้ายขึ้นได้หลายโรค  มักจะเกิดขึ้นกับเด็กและผู้สูงวัยแห่งโลกสองวัยทั้งหลาย
          อาการที่เกิดขึ้นเป็นประจำในยามอากาศแปรปรวน เดี๋ยวหนาว เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวฝนโปรยปรายลงมา คือ "หวัด"เล่นงานแน่นอนยิ่งกับ ส.ว.ทั้งหลายที่ไม่ค่อยระวังตัวสักเท่าใดนัก ทั้งยังไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคหวัด อาจได้รับเชื้อไวรัสหวัดได้โดยง่าย
          เช่นเดียวกับโรคร้ายแรงประเภทปอดบวมหรือปอดอักเสบ และไข้หวัดใหญ่
          ความรู้ที่นำเสนอผ่านชุดสื่อเผยแพร่ความรู้ของ "ต้นคิด"มีหลายเรื่องที่น่าสนใจ  อาทิ ส่อง "กองทัพโรคร้าย" แห่งฤดูหนาว ที่นำเสนอโรคปอดอักเสบ หรือโรคปอดบวม ซึ่งมักจะเกิดจากเชื้อไวรัสมากกว่าเชื้อแบคทีเรียซึ่งค่อนข้างร้ายแรงสำหรับเด็ก  องค์การอนามัยโลกระบุว่า โรคนี้เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของเด็กที่มีอายุต่ำกว่า  5 ปี เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มักมีอาการรุนแรง อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน ส่งผลต่อการเจริญเติบโต พิการ หรืออาจถึงขั้นเสียชีวิต
          ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส ผู้ป่วยมักมีไข้สูงปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว  อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนกลุ่มอายุที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงคือเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบเช่นกันกับอีกกลุ่มที่มักป่วยเป็นโรคนี้บ่อยคือกลุ่มวัยทำงาน
          ระหว่างช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคม มักเป็นช่วงเวลาที่โรคไข้หวัดใหญ่ระบาดสูง โดยมีผู้ป่วยเฉลี่ยเดือนละ 1,000-2,000 ราย และมีจำนวนเพิ่มขึ้นสูงถึง15,000-30,000 ราย ในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน ซึ่งเป็นช่วงฤดูฝน
          อีกสองโรคที่น้องหนูต้องระวัง คือ โรคหัดเด็กส่วนใหญ่ต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้ตั้งแต่ช่วงขวบปีแรกและฉีดกระตุ้นในขวบปีที่สอง จะทำให้เด็กในกลุ่มนี้เสี่ยงน้อยกว่าเด็กที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน
          โรคสุกใสหรือที่ชอบเรียกว่า "อีสุกอีใส"เป็นโรคติดต่อค่อนข้างง่าย พบบ่อยในกลุ่มเด็ก กลุ่มที่เป็นโรคนี้มักไม่เคยเป็นโรคนี้มาก่อน และมักมีอาการและภาวะแทรกซ้อนมากกว่าเด็ก แหล่งแพร่ระบาดคือโรงเรียนอนุบาล ชั้นประถมและศูนย์เด็กเล็ก
          โรคสุกใส เกิดจากเชื้อไวรัส ใช้เวลาฟักตัวเฉลี่ย 10-20 วัน ในช่วงต้นฤดูหนาว และเริ่มระบาดมากในช่วงปลายฤดูหนาว เดือนมกราคม-มีนาคม
          การป้องกันโรคดังกล่าว แม้อาจป้องกันได้ยาก แต่ผ่อนหนักให้เบาลงได้ด้วยการรักษาร่างกายให้อบอุ่น ดูแลชีวิตประจำวันให้เป็นไปตามหลักสุขอนามัย สำคัญคือรักษาความสะอาด หลีกเลี่ยงแหล่งเชื้อโรค รับประทานอาหารสุกขณะยังร้อน และออกกำลังกายสม่ำเสมอ
          ส่วนกลุ่ม ส.ว.ที่ต้องใช้ความระมัดระวังในห้องอากาศหนาวเย็น แม้ปกติอากาศในเมืองไทยจะมีอุณหภูมิลดต่ำกว่าปกติ แต่ไม่ถึงขั้นรุนแรงเช่นที่เกิดขึ้นในภูมิภาคอื่น
          จากรายงานการเสียชีวิตเนื่องจากอากาศหนาวในประเทศไทยตั้งแต่เดือนตุลาคม ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2554 พบผู้เสียชีวิต 30 ราย มีเพียง 2 รายที่ยืนยันว่าเสียชีวิตจากอากาศหนาว มีประวัติการดื่มสุราเป็นประจำ และนอนโดยไม่สวมเสื้อผ้าให้หนาเพียงพอในการป้องกันความหนาว
          กลุ่มเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังคือกลุ่มผู้สูงอายุ นอกจากสภาพร่างกายเสื่อมถอยแล้วยังมีโรคประจำตัวร่วมด้วย กลุ่มที่มีสัดส่วนเสียชีวิตมากที่สุดคือกลุ่มที่มีอายุสูงกว่า 60 ปีประมาณร้อยละ 30.1 และอายุระหว่าง 50-59 ปี ร้อยละ20
          ส่วนเหตุอื่นที่ร่วมคร่าชีวิต มีโรคประจำตัว อุบัติเหตุและหนาวตายนอกบ้านเพราะเมาสุรา
 pageview  1205116    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved