Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 25/10/2555 ]
การเล่นกีฬาในที่สูง

นพ.ธีรวัฒน์ กุลทนันทน์ และคณะ
          คำถามจากอรรถชัย ถามมาว่า กีฬาระดับนานาชาติบางชนิดไม่อนุญาตให้จัดในที่ซึ่งมีความสูงกว่าระดับน้ำทะเลมาก โดยบอกว่าอาจมีผลเสียต่อนักกีฬา ไม่ทราบว่ามีข้อเท็จจริงอย่างไร และนอกจากนี้ผมกลับเคยได้ยินว่าการนำนักกีฬาไปฝึกซ้อมในที่ที่มีระดับความสูงจากน้ำทะเลมากหน่อย จะเพิ่มสมรรถภาพของนักกีฬา เลยไม่รู้ว่าจะเป็นประโยชน์หรือโทษกันแน่
          ผมขอเชิญ ผศ.นพ.พิสิฏฐ์ เลิศวานิช แพทย์ประจำสาขาเวชศาสตร์การกีฬา ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ตอบดังนี้ครับ
          จากที่เล่ามาเป็นประเด็นคำถามที่น่าสนใจครับ โดยการเจ็บป่วยนั้นบางครั้งก็เกิดจากปัจจัยของสิ่งแวดล้อม โดยตัวอย่างที่คุ้นเคยมากกว่าก็เช่น ความร้อนทำให้เป็นลมแดดขณะวิ่ง ความเย็นทำให้เกิดการขาดเลือดของเนื้อเยื่อส่วนปลายทำให้ปลายนิ้วดำ (frostbite) ส่วนระดับความสูงที่มากก็ทำให้เกิดการเจ็บป่วยเช่นเดียวกัน ซึ่งในเรื่องระดับความสูงนี้ในวงการกีฬาก็เริ่มเห็นความสำคัญมาตั้งแต่มีการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในปี ค.ศ.1968 ที่ประเทศเม็กซิโก ซึ่งสูง 2,237 เมตร จากระดับน้ำทะเล (ดอยอินทนนท์สูง 2,565 เมตร จากระดับน้ำทะเล)
          ในที่สูงจะมีความกดอากาศต่ำร่วมกับระดับออกซิเจนในอากาศที่ต้องใช้ในการหายใจเบาบาง การเล่นกีฬาหรือออกกำลังกายที่ต้องใช้ออกซิเจนก็จะทำได้ลำบากกว่าในที่ต่ำ ในนักกีฬาที่ต้องไปอยู่ในที่สูง ในบางรายหากปรับตัวไม่ทันก็จะทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยได้ (altitude sickness) โดยระดับความสูงที่เริ่มมีผลคือประมาณ 2,000-3,000 เมตร จากระดับน้ำทะเล ซึ่งอาการผิดปกติอาจมีแตกต่างกันไป เช่น อาการคล้ายไข้หวัด ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน นอนไม่หลับ สับสน ในรายที่มีความรุนแรงมาก อาจทำให้มีสมองบวมและเสียชีวิตได้
          การป้องกันทำได้โดยให้เวลาในการปรับตัว และเพิ่มระดับความสูงขึ้นทีละไม่มาก เช่น ในนักปีนเขาสูงก็จะมีระยะพักเป็นช่วงๆ ให้ร่างกายได้ปรับตัว ควรดื่มน้ำให้พอเพียง ช่วงที่เพิ่งขึ้นไปอยู่ในที่สูงใหม่ๆ อย่าเพิ่งออกกำลังอย่างหนัก ควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ การดื่มสุรา หรือใช้ยานอนหลับ ถ้าต้องการให้ร่างกายปรับตัวได้เต็มที่อาจต้องใช้เวลาเกือบ 2 สัปดาห์เลยทีเดียว
          สำหรับการฝึกซ้อมในที่สูง (altitude training) เมื่อได้ทำต่อเนื่อง 6-8 สัปดาห์ ร่างกายจะมีการปรับตัวโดยจะมีการสร้างปริมาณเม็ดเลือดแดงที่จะช่วยในการขนส่งออกซิเจนไปยังเนื้อเยื่อต่างๆ มากขึ้น ทำให้ได้เปรียบในการเล่นกีฬาในระดับความสูงปกติ และผลดังกล่าวก็จะคงอยู่ประมาณ 2-3 สัปดาห์ และการฝึกซ้อมในที่สูงก็จะทำให้ไม่สามารถฝึกหนักได้เต็มที่เท่ากับในระดับความสูงปกติ
          หวังว่าคงพอเข้าใจนะครับ ถ้ามีข้อสงสัยหรือคำถามประการใดเกี่ยวกับการออกกำลังกายหรือเล่นกีฬา กรุณาส่งไปที่สาขาเวชศาสตร์การกีฬา ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิ ดิคส์ฯ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล หรือ Email address sisportsmed@hotmail.com

 pageview  1205864    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved