Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 06/02/2555 ]
ทางแพร่งระบบประกันสุขภาพจากนี้จะเดินไปทางไหน?
          หมายเหตุ -สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัดราชดำเนินเสวนา เรื่อง "ทางแพร่งระบบประกันสุขภาพ ภายใต้รัฐบาลยิ่งลักษณ์"  เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา
          นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ
          ประธานชมรมแพทย์ชนบท
          กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า(บัตรทอง) มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ
          แต่ล่าสุดกองทุนเริ่มส่อเค้าไม่ดี เนื่องจากระบบบริหารมีปัญหา โดยเฉพาะคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.)ที่มีหน้าที่บริหารกองทุน มีความบิดเบี้ยวไปจากเดิม มีกลไกที่ถูกแทรกแซง ไม่เป็นกลาง ดึงพรรคพวก จึงอยากขอรัฐบาลไม่ว่าชุดไหนก็ตาม ขอบิณฑบาตระบบหลักประกันสุขภาพให้ปราศจากผู้แสวงผลกำไร ดังนั้น ขอให้กลไกในระบบบริหารกองทุนมีการคัดเลือกอย่างเป็นธรรม มีสัดส่วนทั้งประชาชน สาขาวิชาชีพและข้าราชการ ในสัดส่วนที่เหมาะสมจริงๆ
          ปัญหาคือ บอร์ด สปสช.ชุดนี้มีการเลือกผู้ทรงคุณวุฒิ โดยเฉพาะด้านการเงินการคลัง
          ด้านการบริหารยุทธศาสตร์ปราศจากการคิดรอบคอบ ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเหมือนในอดีต การทำงานจึงหวั่นว่าจะอิงพวกพ้อง อิงกลุ่มเอกชนมากจนเกินไป ขณะที่ประเด็นการร่วมจ่าย 30 บาทอีกครั้ง ก็น่าคิดว่าจะเป็นการตัดสินใจผ่านบอร์ด สปสช. ที่คิดถึงประโยชน์ของประชาชนจริงหรือไม่ เนื่องจากการเรียกเก็บไม่ได้ช่วยอะไร แต่กลับทำให้ค่าใช้จ่ายของประชาชนเพิ่มขึ้น เพราะคนในต่างจังหวัด เมื่อมาพบแพทย์ต้องมีค่าเดินทาง แถมยังขาดรายได้อีก ดังนั้นไม่ได้เสียแค่ 30 บาทเท่านั้น เรื่องนี้รัฐบาลต้องคำนึงด้วย ไม่ใช่ว่าจะเรียกเก็บ 30 บาท เพื่อพัฒนาคุณภาพอย่างเดียว ต้องคิดประเด็นนี้ด้วย
          อีกทั้งการจะให้กลับมาร่วมจ่ายอีกครั้ง จะมีประเด็นเรื่องการแบ่งแยกศักดิ์ศรีระหว่างคนจนและคนรวย เพราะต้องมีการแบ่งว่าใครจนไม่ต้องจ่าย ตรงนี้จะกลายเป็นระบบอนาถาผิดหลักการของระบบ ซึ่งจะทำหนังสือถึงโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ว่าอย่าเก็บ 30 บาทช่วยกันเพื่อผู้ป่วยดีกว่า
          ที่น่าจับตามองการทำงานของบอร์ดสปสช.ชุดนี้ คือ ในการประชุมบอร์ดวันที่ 6 กุมภาพันธ์ จะมีประเด็นเรื่องแก้ไขมาตรา 41 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ.2545 กรณีขยายวงเงินชดเชยผู้ได้รับผลกระทบจากการบริการสาธารณสุข ให้ครอบคลุมไปยังผู้ประกันตน และสิทธิสวัสดิการข้าราชการ จากเดิมคุ้มครองเพียงผู้มีสิทธิบัตรทองเท่านั้น ตรงนี้ต้องระวังเพราะจะเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือไม่เนื่องจากการแก้ไขมาตรา 41 มีข้อเสนอให้ปรับเพิ่มวงเงินกรณีเสียชีวิตจาก 2 แสนบาท เป็น 2 ล้านบาท โดยห้ามผู้ป่วยฟ้องร้องต่อเด็ดขาด ที่สำคัญการเพิ่มวงเงินตรงนี้จะทำให้จากเดิมกองทุนมีงบชดเชยตามมาตรา 41 ที่ 100 ล้านบาท เพิ่มเป็น 2 พันล้านบาทด้วย
          จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์
          อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
          ปัญหาภายในบอร์ด สปสช. เข้าใจว่าเป็นในเรื่องตัวบุคคลมากกว่า ซึ่งสัดส่วนในการตั้งคณะกรรมการก็มีการระบุชัดเจนอยู่แล้วในกฎหมาย ในช่วงที่ผมเป็นประธานบอร์ด สปสช.ก็ไม่เกิดปัญหาในลักษณะนี้ทั้งยังสามารถเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับประชาชนมาโดยตลอด ดังนั้น ปัญหาที่เกิดขึ้นในบอร์ด สปสช. รัฐมนตรีสธ.จะต้องรีบแก้ไข เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อระบบหลักประกันสุขภาพของประชาชน
          ในส่วนของระบบสุขภาพของไทยมี 3 รูปแบบ คือสิทธิสวัสดิการข้าราชการ ประกันสังคม และบัตรทองซึ่งการจะยุบรวมหรือไม่ อาจต้องพิจารณาจากการส่งสัญญาณของรัฐบาล เห็นได้จากกรณีนายกรัฐมนตรีไปให้นโยบายที่ สธ. ตรงนี้ต้องถามความชัดเจนจากรัฐมนตรี สธ.
          หากจะมีการยุบรวม 3 ระบบ ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ  เนื่องจากแต่ละระบบมีที่มาต่างกัน อย่างสิทธิสวัสดิการข้าราชการ ด้วยเงินเดือนไม่มากเมื่อเทียบกับเอกชน ทำให้ต้องเพิ่มสวัสดิการต่างๆ ส่วนสิทธิประกันสังคม มีการจ่ายเงินสมทบจากนายจ้าง รัฐบาลและผู้ประกันตน ทำให้สิทธิประโยชน์จึงเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง
          ขณะที่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นระบบรักษาฟรี ซึ่งตอนสมัยผมเป็นรัฐมนตรี สธ.ก็มีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ต่างๆ ตลอด รวมทั้งได้ปรับเปลี่ยนจากบัตรทอง เป็นใช้บัตรประชาชนใบเดียวในการรักษาแทน เป็นการเพิ่มความสะดวกในการเข้ารับบริการ
          ดังนั้น ด้วยระบบที่แตกต่างกันของแต่ละกองทุนการจะยุบรวมต้องพิจารณาดีๆ หากผิดพลาดจะพังทั้งระบบ แต่หากไม่ยุบรวมก็ต้องถามว่าจะมีการกำหนดรูปแบบอย่างไรเกี่ยวกับมาตรฐานการรักษาพื้นฐาน ซึ่งต้องเป็นระบบสุขภาพขั้นต่ำที่ทุกระบบต้องได้อย่างเท่าเทียมส่วนระบบใดจะไปเพิ่มเติมก็แล้วแต่กรณี ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลที่ผ่านมาได้ตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพแห่งชาติขึ้น เพื่อศึกษากลไกด้านการเงินการคลังของ 3 ระบบสุขภาพไทย ซึ่งมีระยะเวลา3 ปี ตรงนี้สามารถนำผลการศึกษาไปใช้ประโยชน์ได้
          นพ.วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร
          ผู้ทรงคุณวุฒิด้านเศรษฐศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข
          ระบบหลักประกันเป็นเพียงไพ่ใบเล็ก ที่เชื่อว่าหากรัฐมนตรี สธ.ไม่ใช้คนที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน กรณีนี้ก็จะไม่มีปัญหา ไม่เช่นนั้นจะถูกตั้งคำถามตลอด แต่ไพ่ใบสำคัญคือการจัดการปัญหาสาธารณสุขสำคัญ 2 เรื่องคือ 1.ปัญหาประสิทธิภาพในการลดการเสียชีวิตของผู้ใหญ่ ยังไม่ดีนัก โดยที่ผ่านมาพบว่าเด็กอายุ 15 ปี จะมีอายุถึง 60 ปีเพียง 80 คนหายไป 20 คน ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้ว ตัวเลขที่หายไปพบเพียง 2-3 คนเท่านั้น แต่ไทยผ่านมา 20 ปีแล้ว ก็ยังไม่ดีขึ้น และ 2.ปัญหาผู้สูงอายุ ขณะนี้ยังไม่มีมาตรการรองรับสังคมผู้สูงอายุ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง สธ.และ พม. (กระทรวงการพัฒนสังคมและความมั่นคงของมนุษย์) ต้องมีความชัดเจนเรื่องนี้ด้วย
          นิมิตร์ เทียนอุดม
          กรรมการหลักประกันสุขภาพฯ
          ตลอด 10 ปีที่ผ่านมาระบบหลักประกันสุขภาพมีการพัฒนามาจากฝ่ายการเมืองไม่เคยเข้าไปแทรกแซง ซึ่งรัฐบาลทุกชุดที่ผ่านมาก็ไม่ได้มองว่า สปสช.เป็นรัฐวิสาหกิจ ที่ต้องการกอบโกยผลประโยชน์ แต่มุ่งเลือกบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญจริงๆ ที่สำคัญ ยังกรองด้วยคุณสมบัติที่เน้นคุณธรรม มีศีลธรรมไม่แสวงหาผลประโยชน์ใดๆ เรื่องนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ต้องคำนึงด้วย ยิ่งบอร์ด สปสช.ชุดใหม่บางคนมีความเกี่ยวพันกับการต่อต้านระบบหลักประกันสุขภาพมาก่อน การมานั่งตรงนี้ รัฐมนตรีสธ.อาจไม่ทราบ ก็เกรงว่าจะหลอกท่านได้ จึงอยากให้สร้างความเป็นธรรมจริงๆ และอยากให้รัฐมนตรี สธ.เลือกคบกับนักวิชาการ แพทย์ที่มีคุณธรรม หากยังเลือกผู้ทรงคุณวุฒิชุดนี้ ทางแพร่งของระบบไปสู่เหวแน่ๆ
          วิทยา บุรณศิริ
          รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
          แม้จะเข้ารับตำแหน่งได้เพียง 5 เดือน อาจไม่ได้ทราบทุกเรื่อง ไม่ได้จับเรื่องสาธารณสุขมาก่อน แต่เมื่อมาถึงตรงนี้ผมจะเดินหน้าเพื่อพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และจะเน้นการบริหาร การทำงานเป็นหลัก
          และที่กังวลว่ากรรมการในบอร์ดสปสช.จะหลอกหรือทำงานไม่ได้นั้น ไม่ต้องกังวล ยืนยันว่ากรรมการถูกคัดเลือกมาอย่างถูกต้อง มีความสามารถส่วนปัญหาคณะอนุกรรมการที่บางฝ่ายเห็นว่าไม่เหมาะสมนั้น ความจริงแล้วคณะอนุกรรมการเป็นส่วนหนึ่งในการเสนอเรื่องต่างๆหากบอร์ดใหญ่ไม่เห็นด้วยก็จบ อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าขณะนี้มีความบอบบางเกิดขึ้นจริง แต่เป็นปัญหาภายในซึ่งจะไม่ขอพูดตรงนี้ แต่ขอไปดำเนินการเอง โดยทุกอย่างจะเน้นการทำงานเพื่อประโยชน์ของประชาชนเป็นหลักอย่างแน่นอน
          กรณีความกังวลเรื่องร่วมจ่าย 30 บาท ตอนนี้ยังไม่ได้เรียกเก็บ อยู่ระหว่างการศึกษาว่าหากเก็บแล้วจะมีคุณภาพ มีการบริการหรืออะไรเพิ่มขึ้นบ้าง ไม่ใช่เก็บลอยๆ หรือเก็บเพราะจะช่วยโรงพยาบาลในสังกัด สธ.
          ขาดทุน ไม่ได้มองแค่นั้น  มองการทำงานจริงๆ ประสิทธิภาพของระบบมากกว่า
          เรื่องการประชุมบอร์ด สปสช.จะมีการหารือประเด็นมาตรา 41 ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ไม่ได้ฟันธงว่าจะแก้ไขมาตรานี้เพื่อขยายความคุ้มครองหรือขยายวงเงินชดเชยค่าเสียหายทางสาธารณสุขให้แก่ผู้ประกันตนและข้าราชการ แต่เป็นเพียงการหารือว่าสามารถปรับปรุงได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งการขยายวงเงินถึง 2 ล้านบาท คงเป็นไปไม่ได้อยู่แล้วเรื่องนี้ไม่ใช่แค่วันเดียวจะสรุปได้ ต้องพิจารณาอย่างละเอียด และอยากย้ำว่าการที่มีข่าวออกมาจะมีการล้มระบบบัตรทองด้วยบันได 4 ขั้นนั้น ไม่เป็นความจริง ไม่มีใครล้มหรือทำให้ระบบบัตรทองถอยหลัง มีแต่จะเดินหน้าซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลชุดนี้ย้ำมาตลอด และยังเน้นในเรื่องของการป้องกันโรคด้วย ไม่ใช่มุ่งแต่การรักษาเท่านั้น
 pageview  1205103    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved