Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 05/02/2555 ]
นับแสนฮือแชตซิมซิมิ หลังข่าวถูกแบนสะพัดจิตแพทย์ชี้ข้อดีแก้เหงาเตือนรีบพัฒนาวุฒิภาวะ
          'ซิมซิมิ'เปลี่ยนรูปแบบบริการใหม่จากตอบเป็นภาษาไทยกลายเป็นภาษาอังกฤษ จิตแพทย์แนะเล่นอย่างมีสติ ชี้เป็นโปรแกรมเล่นแก้เบื่อ ลดตึงเครียดได้ดีสอดคล้องกับสังคมที่โดดเดี่ยวอยู่กับตัวเองมากขึ้น
          จิตแพทย์แนะผู้เล่นโปรแกรมซิมซิมิ(simsimi) ให้มีสติในการเล่นตอบโต้ เพราะเป็นของเล่นแก้เบื่อได้ดี และยังช่วยให้เรียนรู้กลไกคอมพิวเตอร์ พร้อมระบุว่า การบล็อกเว็บจะไม่เกิดประโยชน์ แค่ป้องกันได้ระดับหนึ่งเท่านั้น
          ทางออกที่ดีคือ การพัฒนาวุฒิภาวะของคนในสังคมให้ตระหนักถึงประโยชน์ของโปรแกรมเพื่อเป็นการส่งเสริมความรู้มากกว่า
          ทั้งนี้ พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น และผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ถึงโปรแกรมซิมซิมิที่กำลังระบาดในสังคมออนไลน์ของไทย เนื่องจากข้อความที่พิมพ์ตอบโต้จากโรบอต (Chatting Robot) ใช้คำพูดยียวน และหยาบคายรุนแรง เป็นที่ถึงอกถึงใจของกลุ่มเยาวชน กำลังสร้างความวิตกให้กับบรรดาผู้ปกครอง ว่าปัจจุบันคนในสังคมมีความโดดเดี่ยวและใช้ช่วงเวลาอยู่กับตนเองมากขึ้น สถานที่สำหรับทำกิจกรรมน้อยลง เมื่อมีเวลาว่างมักจะอยู่ในห้องแคบๆ สิ่งที่สร้างความเพลิดเพลินได้ดีที่สุดในห้องแคบๆ สิ่งที่สร้างความเพลิดเพลินได้ดีที่สุดย่อมเป็นอุปกรณ์หรือเครื่องมือซึ่งใช้ในการสื่อสารที่ใกล้ตัว เช่น มือถือ ซึ่งแตกต่างจากสมัยก่อนที่ชอบออกไปเล่นข้างนอก วัยรุ่นจึงใช้เทคโนโลยีเป็นการเติมเต็มความรู้สึก
          "โปรแกรมดังกล่าวเป็นสิ่งประดิษฐ์ของมนุษย์จึงมีทั้งประโยชน์และโทษ แต่สิ่งที่หลายคนกังวลคือ เรื่องการใช้ภาษาหยาบคายและอารมณ์
          รุนแรงกระแทกกระทั้นระหว่างผู้เล่นกับโรบอตหากผู้เล่นรู้ขอบเขตในการส่งข้อความตอบโต้รวมถึงมีวุฒิภาวะมากพอในการเล่น โปรแกรมนี้ก็จะเป็นของเล่นแก้เบื่อได้ดีเพื่อลดความตึงเครียด นอกจากนี้ ยังช่วยให้เรียนรู้การใช้กลไกคอมพิวเตอร์เพื่อพัฒนาอารมณ์และความรู้สึก ผู้เล่นควรจะมีสติในการเล่นตอบโต้ไปมา หากเลือกใช้โปรแกรมนี้ในทางที่ถูกที่ควร โดยป้อนข้อมูลเรื่องราวที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ซิมซิมิก็จะกลายเป็นแหล่งความรู้ใหม่ๆ ที่ผู้ใช้สามารถเผยแพร่ได้ในวงกว้าง" พญ.อัมพรกล่าว
          ผู้สื่อข่าวถามว่า การแบนโปรแกรมดังกล่าวเป็นทางออกหรือไม่ พญ.อัมพรกล่าวว่า การแบนไม่ใช่ทางออก แต่เป็นการป้องกันได้แค่ในระดับหนึ่งเท่านั้น จึงควรพัฒนาวุฒิภาวะของคนในสังคมให้ตระหนักถึงประโยชน์ของโปรแกรมเพื่อเป็นการส่งเสริมความรู้มากกว่า หากเลือกเล่นอย่างมีสาระ ซิมซิมิจะกลายเป็นสนามความรู้ที่ดีที่ช่วยกันแบ่งปันสิ่งดีๆ ให้รับรู้ในวงกว้าง แต่หากผู้ใช้มีความคึกคะนองเล่นเพื่อระบายอารมณ์ความรุนแรง โปรแกรมนี้ก็จะถูกใช้ในทางที่ผิด กลายเป็นด้านลบของเทคโนโลยี
          นางสุกุมล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่า ได้รับรายงานว่าขณะนี้โปรแกรมซิมซิมิได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการ จากเดิมที่มีการตอบคำถามเป็นภาษาไทยเปลี่ยนเป็นการตอบเป็นภาษาอังกฤษแทน และบางคำที่เมื่อป้อนข้อมูลเข้าไป ก็จะตอบว่า "I have no response." เรื่องนี้ถือว่าการที่ วธ.ออกมาแสดงความห่วงใยในเรื่องดังกล่าว ส่งผลให้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการในทิศทางที่ดีขึ้น ทั้งยังทำให้เด็กและเยาวชนไม่สามารถนำคำไม่เหมาะสมไปเลียนแบบได้ง่ายๆ
          "เรามีข้อห่วงใยว่า เมื่อมีข่าวซิมซิมิออกไปมากขึ้น ทำให้ผู้ที่ไม่เคยรู้จัก ไม่เคยเล่นโปรแกรมนี้เมื่อได้รับทราบข่าวแล้วก็เกิดความอยากรู้ อยากทดลองใช้ และมีการดาวน์โหลดเพิ่มมากขึ้น ตรงนี้ถือเป็นเรื่องหนึ่งที่ไม่อยากให้เกิดขึ้น แต่เราพยายามที่จะปกป้องสิ่งที่ไม่เหมาะสม และถึงแม้ว่าการเล่นซิมซิมิ บางคนอาจจะบอกว่าเป็นเพียงแฟชั่นที่มาแล้วก็ไป แต่หากเราไม่เร่งแก้ไขสังคมก็ยิ่งบอบช้ำมากขึ้น" นางสุกุมลกล่าว
          น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงยังไม่มีการบล็อกโปรแกรมซิมซิมิ หากมีกรณีการร้องเรียนเข้ามากระทรวงจะสามารถดำเนินการเข้าไปตรวจสอบและดูแลได้ภายใน 3 วัน สำหรับความผิดหากมีการโพสต์ข้อความหยาบคายและมีการร้องทุกข์แจ้งความกับเจ้าหน้าที่จะต้องมีการดำเนินคดีตามกฎหมายอาญาว่าด้วยการหมิ่นประมาทและทำให้เกิดความเสื่อมเสียชื่อเสียงโดยจะต้องเป็นไปตามขั้นตอนการพิจารณาคดีของศาล
          "ที่ผ่านมามีการร้องเรียนเข้ามาเยอะ หากใครได้รับความเสียหายจากเรื่องดังกล่าว สามารถร้องเรียนผ่านโปรแกรม หรือร้องเรียนผ่านไอซีทีได้ ซึ่งจะมีการดำเนินการประสานกับเจ้าของโปรแกรมภายใน 3 วัน ส่วนการเอาผิดขึ้นอยู่กับศาล"น.อ.อนุดิษฐ์กล่าว
          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังโปรแกรมและแอพพลิเคชั่นซิมซิมิได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในหมู่วัยรุ่นไทย โดยวัยรุ่นส่วนใหญ่มักเข้าไปสนทนาตอบโต้กับซิมซิมิ แล้วนำข้อความสนทนานั้นๆ ขึ้นมาโพสต์ทางเฟซบุ๊กของตน พบว่ามีผู้ใช้เฟชบุ๊คแนะนำให้เพื่อนเล่นผ่านwww.simsimi. com ถึง 1.3 แสนราย โดยในจำนวนนี้มีผู้สร้างแฟนเพจ SimSimiAtThailand ขึ้นมาในเว็บไซต์เฟซบุ๊ก โดยให้รายละเอียดบนหน้าเพจว่า "มีอะไรคุยกับไก่ได้นะเว้ยเห้ย!!"ปรากฏว่า ณ วันที่ 4 กุมภาพันธ์ มีผู้ใช้เฟซบุ๊กเข้าไปกดถูกใจ (ไลค์) แฟนเพจดังกล่าวไม่ต่ำกว่า4,200 ราย โดยสมาชิกได้เข้ามาเขียนบนกระดานข้อความหลากหลาย มีทั้งทักทายซิมซิมิ ทั้งให้เหตุผลในการเล่นซิมซิมิว่า เป็นเพราะรู้สึกเก็บกดเบื่อ และเหงา ขณะที่บางส่วนเข้ามาวิจารณ์กระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงไอซีที ที่ส่งสัญญาณแบนซิมซิมิ รวมถึงล่าสุดคือ กรณีที่โปรแกรมไม่ยอมตอบโต้กับผู้ใช้งานเป็นภาษาไทย ผลจากการเปลี่ยนรูปแบบของระบบ ทำให้ประชาชนในโซเชียลมีเดียจัดทำภาพลูกเจี๊ยบสีเหลืองถูกผ้าก๊อซสีเทาปิดปาก และมีเหงื่อตก 1 เม็ด เพื่อเสียดสีและประชดประชันความวิตกกังวลของผู้มีอำนาจและปัญญาชน โดยมีผู้สนใจนำภาพดังกล่าวไปแชร์อย่างมากมายทางเฟซบุ๊กพร้อมวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางในการปิดปากหุ่นกระป๋องตัวนี้
          ขณะที่ผู้สื่อข่าวได้สัมภาษณ์ความคิดเห็นของกลุ่มวัยรุ่นบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.)ท่าพระจันทร์ ที่เคยใช้โปรแกรมซิมซิมิ โดยน.ส.แนน อายุ 18 ปี นักเรียนโรงเรียนแห่งหนึ่งกล่าวถึงเหตุผลที่เลือกเล่นโปรแกรมซิมซิมิว่า เป็นโปรแกรมที่สนุกและตลก ตอบโต้ได้เร็ว ช่วยคลายเครียดได้ เมื่อเห็นคนอื่นเล่นก็อยากเล่นบ้างจะไม่จำกัดเวลาว่าต้องเล่นช่วงเวลาใด และแม้ว่าสังคมจะมองว่าเป็นโปรแกรมที่หยาบคาย แต่ในความเป็นจริงผู้เล่นก็มีส่วนทำให้โปรแกรมนี้หยาบคายด้วย เนื่องจากผู้เล่นสามารถที่จะกดปุ่มTeach เพื่อป้อนคำต่างๆ เข้าไปสู่โปรแกรมทำให้โปรแกรมบันทึกข้อมูลเพื่อนำไปใช้ในการตอบโต้กับผู้เล่นครั้งต่อไปได้
          "การที่หลายฝ่ายแสดงความเป็นห่วงนั้นมองว่าปัญหาอยู่ที่คน คนนั่นแหละที่เสื่อม ไม่ใช่โปรแกรม และอีกไม่นานคนก็จะเบื่อโปรแกรมนี้และหันไปสนใจโปรแกรมใหม่ๆ ต่อไป" น.ส.แนนกล่าว
          ด้านนายป๊อกกี้ อายุ 22 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า โดยส่วนตัวแล้วคิดว่ามันหยาบคาย แต่มันเป็นคำที่ใช้พูดประจำวัน ก็โอเคช่วยแก้เหงาคลายเครียดได้ และมองว่าโปรแกรมนี้เป็นแค่กระแส ต่อไปก็คงไม่ฮิต
          น.ส.นุ้ก นักศึกษาชั้นปีที่ 2 ภาคบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า จะเล่นตอนที่รู้สึกเบื่อ แต่ก็ไม่ได้คิดว่าโปรแกรมดังกล่าวจะช่วยคลายเหงาได้ ส่วนความหยาบคายของโปรแกรมจะขึ้นอยู่กับคำถามที่ผู้เล่นใช้คุย ถ้าผู้เล่นคุยสุภาพโปรแกรมก็จะโต้ตอบกลับมาด้วยความสุภาพ แต่ถ้าคุยหยาบคายโปรแกรมก็จะโต้ตอบด้วยคำหยาบคาย "โปรแกรมนี้อาจจะมีอิทธิพลต่อการใช้ภาษาไทย ทำให้ภาษาผิดเพี้ยนไปบ้าง แต่หากเล่นเพียง 1-2 วัน ผู้เล่นก็จะเบื่อไปเอง"
          ขณะที่ ด.ญ.แบม อายุ 13 ปี นักเรียนร.ร.ราชินี เขตพระนคร กล่าวว่า รู้สึกสนุกเวลาเล่นโปรแกรมนี้ ซึ่งเป็นโปรแกรมใหม่และทันสมัยจะเล่นเมื่อมีเวลาว่างหรือเลิกเรียนแล้วเท่านั้น ซึ่งช่วยแก้เหงาได้ สำหรับเรื่องความหยาบคายนั้นถ้าถามดี โปรแกรมก็จะตอบดี ถ้าถามหยาบคายโปรแกรมก็จะตอบกลับมาหยาบคาย จึงไม่เห็นด้วยที่โปรแกรมนี้ถูกแบน
 pageview  1206115    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved