Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 10/08/2555 ]
เกลือบริโภคเค็มแต่ไอโอดีนต่ำ สุ่มตรวจแผงค้าไม่ผ่านเกณฑ์อื้อ

ผลวิจัยชี้เกลือบริโภคจากเมืองสมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี ค่าไอโอดีนไม่ได้มาตรฐาน แนะผู้ผลิตตรวจสอบคุณภาพก่อนวางจำหน่าย
          เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม นางจิราภา อุณหเลขกะ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ชำนาญการ สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยผลการศึกษาเรื่อง "สถานการณ์ไอโอดีนในเกลือบริโภคในจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม และเพชรบุรี" ในการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ ครั้งที่ 20 ว่า จากการศึกษาปริมาณไอโอดีนในเกลือบริโภคจากแหล่งจำหน่ายและผลิตเกลือที่สำคัญของประเทศ ด้วยการสุ่มเกลือสินเธาว์และเกลือสมุทรที่มีและไม่มีฉลากแจ้งเสริมไอโอดีนจากร้านค้าริมถนนพระราม 2 จำนวน 94 ร้าน จาก 148 ร้าน จำนวน 126 ตัวอย่าง และจากร้านค้าในตลาดที่มีโครงสร้างถาวรใน จ.สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และเพชรบุรี จำนวน 11 ตัวอย่าง ที่มีเครื่องหมายการค้าไม่ซ้ำกัน รวม 137 ตัวอย่าง ดำเนินการเก็บตัวอย่างระหว่างเดือนเมษายนมิถุนายน 2554 แล้วนำมาวิเคราะห์หาปริมาณไอโอดีนด้วยวิธีการไตเตรท ซึ่งเป็นวิธีมาตรฐาน พบว่าเป็นเกลือป่นที่ระบุว่าเสริมไอโอดีน จำนวน 27 ตัวอย่าง และเกลือไม่เสริมไอโอดีน จำนวน 110 ตัวอย่าง
          นางจิราภากล่าวว่า ในส่วนของตัวอย่างที่เก็บจากร้านค้าในตลาดที่มีโครงสร้างถาวรใน 3 จังหวัด จำนวน 11 ตัวอย่าง ผลการศึกษา พบว่าผ่านเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศของ สธ. ที่กำหนดให้มีปริมาณไอโอดีนในเกลือบริโภคไม่น้อยกว่า 20 และไม่เกิน 40 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (มก./กก.) เพียงร้อยละ 27.3 ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานถึงร้อยละ 72.7 สำหรับตัวอย่างจากตลาดที่มีโครงสร้างและร้านค้าแผงลอยริมถนนที่มีฉลากแจ้งว่าเสริมไอโอดีน จำนวน 27 ตัวอย่าง ผ่านเกณฑ์มาตรฐานเพียงร้อยละ 26 ที่เหลือไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน และเกลือสมุทรที่ไม่เสริมไอโอดีนทั้งหมดไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน
          "เกลือบริโภคที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานมีทั้งที่มีปริมาณไอโอดีนเกินและต่ำกว่าค่ามาตรฐาน ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะค่ามาตรฐานของปริมาณไอโอดีนในเกลือบริโภคเดิมกำหนดว่าไม่น้อยกว่า 30 มก./กก. ที่ผ่านมาผู้ผลิตจำนวนมากจึงเติมไอโอดีนลงไปในปริมาณที่มากไว้ก่อน ซึ่งอาจจะเติมถึง 40 หรือ 50 มก./กก. ซึ่งหากผู้บริโภคได้รับไอโอดีนในปริมาณที่น้อยจะไม่เกิดประโยชน์กับร่างกาย แต่หากได้รับในปริมาณมากเกินไปจะทำให้เป็นพิษต่อร่างกายแทน ดังนั้น ผู้ผลิตเกลือบริโภคควรใช้ชุดทดสอบปริมาณไอโอดีนในเกลือบริโภคก่อนที่จะวางจำหน่ายเกลือบริโภค เพื่อให้ทราบปริมาณไอโอดีน โดยปัจจุบันมี 3 หน่วยงานที่สามารถผลิตชุดทดสอบได้ คือ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมอนามัย และมหาวิทยาลัยมหิดล" นางจิราภากล่าว และว่า
          ทั้งเกลือสมุทรและเกลือสินเธาว์มีปริมาณไอโอดีนค่อนข้างน้อยอยู่แล้ว ในเกลือบริโภคจึงต้องมีการกำหนดให้มีการเติมไอโอดีนเพิ่ม ซึ่งเกลือบริโภคส่วนใหญ่นิยมนำเกลือสินเธาว์มาเพิ่มไอโอดีน เพราะเกลือสมุทรผลึกใหญ่นำมาทำเป็นเกลือบริโภคยาก ส่วนเกลือที่จำหน่ายเป็นถุงใหญ่ ส่วนใหญ่เป็นเกลือที่นำไปดองผักไม่จำเป็นต้องเติมไอโอดีน
 

 pageview  1205844    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved