Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 07/08/2555 ]
เปิดแนวปฏิบัติสกัด...พิษสุนัขบ้า

หลังจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้รับแจ้งเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคมที่ผ่านมา ระบุว่าพบเชื้อเรบีส์ หรือเชื้อพิษสุนัขบ้าในกระต่ายที่ซื้อมาจากตลาดนัดจตุจักร และขณะนี้พบผู้ได้รับเชื้อพิษสุนัขเนื่องจากถูกกระต่ายกัดแล้ว 5 ราย โดยทั้งหมดอยู่ในครอบครัวเดียวกันในพื้นที่เขตจอมทอง กรุงเทพมหานครนั้น เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม พญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักอนามัย กทม. กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข สถานเสาวภา สภากาชาดไทย เพื่อติดตามตรวจสอบการกระจายของเชื้อพิษสุนัขบ้า และหาแนวทางสกัดการระบาดของเชื้อดังกล่าว
          พญ.มาลินี เปิดเผยว่า เบื้องต้นได้คัดแยกผู้ป่วยเพื่อตรวจเชื้ออย่างละเอียด และส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่หาสาเหตุการติดเชื้อของกระต่ายตัวดังกล่าว หากพบเชื้อจะทำการล้อมพื้นที่ในรัศมี 3-5 กิโลเมตร และติดตามดูว่ามีสัตว์ในพื้นที่มีอาการผิดปกติหรือไม่ ทั้งนี้ กทม.ได้ประสานกรมปศุสัตว์สุ่มตรวจพื้นที่ที่มีการจำหน่ายสัตว์ โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม พร้อมทั้งให้ความรู้ในการป้องกันตนเองแก่ประชาชน ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และการจัดระเบียบการจำหน่ายสัตว์เลี้ยงในพื้นที่ต่างๆ ให้มากขึ้น
          หากประชาชนพบสัตว์มีอาการผิดปกติให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่อย่างเร่งด่วน และขอความร่วมมือผู้ประกอบการจำหน่ายสัตว์เลี้ยง รวมถึงผู้เลี้ยงควรนำสัตว์ไปฉีดวัคซีน หรือติดต่อหน่วยปศุสัตว์เคลื่อนที่ของ กทม.เพื่อขอรับวัคซีน โทร.0-2248-7417 หรือ 0-2329-0472-3 หรือสายด่วน กทม. 1555
          นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เนื่องจากเป็นโรคที่จะติดต่อถึงคน จึงต้องมีการสืบสวนหาต้นตอการติดเชื้อของกระต่ายว่ามาจากที่ไหน หากรู้สายพันธุ์ย่อยของเชื้อ ก็จะทำให้ทราบได้ว่าติดเชื้อมาจากภาคใดของประเทศไทย เนื่องจากสายพันธุ์ย่อยของเชื้อในแต่ละภาคมีความแตกต่างกัน เบื้องต้นคาดว่ากระต่ายจะติดเชื้อจากสัตว์ฟันแทะเช่น กระรอก กระแต หนู ฯลฯ แต่ถ้าพบว่าไม่ได้ติดเชื้อจากในพื้นที่กรุงเทพฯ ถือว่าเรื่องใหญ่ ดังนั้น ประชาชนในรัศมีรอบบ้านหลังดังกล่าว 5 กิโลเมตร หากถูกกระรอก กระแต หรือหนูกัดหรือสัมผัสน้ำลายสัตว์ ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
          ทั้งนี้ใน 7 เดือนแรกของปี 2555 มีผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว 3 ราย ทั้งหมดอยู่ระหว่างการสอบสวนโรคว่าติดมาจากที่ใด ขณะที่ปี 2554 เสียชีวิต 9 ราย โดย 7 ใน 9 ราย ติดเชื้อจากสัตว์ที่เลี้ยง โดยเฉพาะสุนัข แมว ดังนั้นหากต้องการฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าให้กับสัตว์เลี้ยง สามารถรวมกลุ่มประมาณ 10 ตัว แล้วติดต่อสายด่วน 1422 เข้าไปดำเนินการ
          ด้าน ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา และ ดร. สุภาภรณ์ วัชรพฤษาดี ศูนย์ปฏิบัติการโรคทางสมอง และศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลก ด้านไวรัสสัตว์สู่คน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลว่า คนส่วนใหญ่ทราบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม โดยเฉพาะสุนัขและแมวสามารถติดเชื้อพิษสุนัขบ้าได้ แต่ไม่คิดว่าแม้จะมีอายุเพียง 1 เดือน ก็ติดเชื้อได้เช่นกัน จึงขอให้ทำความเข้าใจใหม่ว่า ไม่ว่าสัตว์จะอายุเท่าใดก็สามารถแพร่เชื้อได้เหมือนกัน โรคนี้เป็นได้ทุกฤดูกาล สัตว์เลี้ยงทุกตัวจึงควรได้รับวัคซีน แต่หากถูกสัตว์เลี้ยงกัดอย่านิ่งนอนใจ ให้ไปฉีดยาป้องกัน และจับสัตว์แยกไว้ดูอาการ หากพบอาการผิดปกติให้ตัดหัวสัตว์ชนิดนั้นนำไปส่งตรวจหาเชื้อทันที แต่ถ้าผ่าน 10 วันไม่พบอาการใดๆ แสดงว่าปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า
          การฉีดวัคซีนในสุนัขหรือแมว ไม่สามารถป้องกันการเกิดโรคพิษสุนัขบ้าได้ 100% ในกรณีที่สัตว์ตัวนั้นติดเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้าแล้ว และอยู่ในระยะฟักตัว ดังนั้นผู้ที่จะเลี้ยงสัตว์ต้องรู้ประวัติพ่อแม่และการเลี้ยงดูที่ผ่านมาอย่างชัดเจน สำหรับประเทศไทย ที่มีโรคพิษสุนัขบ้าชุกชุม สัตว์เลี้ยงต้องรับวัคซีน 2 ครั้ง ในปีแรก และ 1 เข็มต่อปี มิฉะนั้นอาจมีโอกาสเป็นบ้าได้เมื่อได้รับเชื้อ ทั้งนี้หากสัตว์เลี้ยงถูกสัตว์อื่นที่มีเชื้อพิษสุนัขบ้ากัด ควรต้องได้รับการฉีดวัคซีนซ้ำ และกักขังดูอาการอย่างน้อย 45 วัน แต่ถ้าสัตว์เลี้ยงนั้นไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน เมื่อถูกสัตว์ที่มีเชื้อกัด องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ทำลาย เพราะมีโอกาสติดเชื้อสูง แต่ถ้าไม่สามารถปฏิบัติตามได้ ให้ฉีดวัคซีนทันที และกักขังดูอาการ 6 เดือน และฉีดวัคซีนซ้ำ 1 เดือนก่อนปล่อย
          ไม่เพียงแต่สุนัขและแมวที่แพร่เชื้อโรคดังกล่าว แต่สัตว์ป่าและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด เป็นโรคและแพร่โรคได้เช่นกัน แม้แต่ลิง หนู และกระต่าย แต่ในกรณีหนูและกระต่าย เมื่อติดเชื้อและเกิดโรค ความสามารถในการแพร่โรคกระจายในหมู่พวกเดียวกันเองต่ำมาก และไม่ถือว่าเป็นตัวการสำคัญในการแพร่โรค แต่ถ้าคนถูกหนูหรือกระต่ายกัด ให้พิจารณาเป็นรายๆ ไป ทั้งนี้การที่คนถูกสัตว์เลี้ยงข่วนก็ทำให้ติดโรคและตายได้ เพราะเชื้อไวรัสติดอยู่ตามซอกเล็บ อุ้งตีน ดังนั้นเมื่อเป็นแผลที่เกิดจากสัตว์เลี้ยงต้องล้างแผลด้วยน้ำกับสบู่ เป็นเวลา 10 นาที จากนั้นพบแพทย์ทันที เพื่อล้างแผลอีกครั้ง และฆ่าเชื้อด้วยน้ำยาไอโอดีน ควรหลีกเลี่ยงการเย็บแผล ถ้าจำเป็นให้เย็บหลวมๆ เพื่อป้องกันเชื้อเข้าสู่เส้นประสาท คนที่ถูกสัตว์มีเชื้อกัดแล้วมีอาการจะเสียชีวิตทุกรายภายใน 5-11 วัน แต่คนที่รอด ไม่ได้หมายความว่าคาถาดี เพียงแต่ไม่มีไวรัสในน้ำลายตลอดเวลา ซึ่งพบได้ 30-80% หรือเฉลี่ยครึ่งต่อครึ่ง
          ส่วนการฉีดยาป้องกันที่ได้ผลสูงสุดอยู่ในช่วง 48 ชั่วโมงหลังถูกกัด และถ้าแผลมีเลือดออกไม่ว่าตำแหน่งใดของร่างกาย ต้องได้เซรุ่ม (อิมมูโนโกลบูลิน) ชนิดสกัดบริสุทธิ์ ฉีดที่แผล
          จากการประชุมองค์การอนามัยโลกเมื่อเดือนตุลาคม 2547 และเดือนตุลาคม 2553 และการประชุมนานาชาติเดือนตุลาคม และเดือนพฤศจิกายน 2548 มีหลักฐานชัดเจนว่า ถึงแม้จะรักษาทันท่วงที ก็อาจเสียชีวิตได้ แม้ว่าจะเกิดได้น้อยมากก็ตาม ทั้งนี้ในประเทศไทย ศูนย์ปฏิบัติการโรคทางสมอง รพ.จุฬาลงกรณ์ รายงานว่า ในปี 2542 ผู้ป่วยตาย 2 ราย ปี 2552 ผู้ป่วย 1 ราย แม้ได้รับการรักษาด้วยวัคซีนและเซรุ่ม และมีผู้ป่วยตายในประเทศฟิลิปปินส์ และประเทศอื่นๆ ในทำนองเดียวกัน ดังนั้นจึงต้องให้ความสำคัญกับการควบคุมสัตว์นำโรค โดยเฉพาะสุนัขและแมว และคนที่มีโอกาสถูกสุนัขหรือแมวกัดบ่อยๆ ควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันล่วงหน้า 3 เข็ม โดยที่แม้ว่าจะถูกกัดใน 10-20 ปี ก็ตาม เพียงได้รับวัคซีนกระตุ้น 2 เข็ม โดยไม่ต้องฉีดเซรุ่มก็ปลอดภัยแล้ว
          ทั้งนี้โรคพิษสุนัขบ้าในคนมีอาการซับซ้อน ไม่จำเป็นต้องมีอาการกลัวน้ำ กลัวลม หรือมีน้ำลายมาก แต่มีอาการคล้ายโรคทางสมองทั่วไป หรืออาการอัมพาต แขนขาอ่อนแรง
          ศูนย์ปฏิบัติการโรคทางสมองฯ ได้พัฒนาวิธีการวินิจฉัย โดยใช้รูปแบบที่ปรากฏในคอมพิวเตอร์สนามแม่เหล็กไฟฟ้าของสมอง และวิธีทางอณูชีววิทยา ตรวจหาอาร์เอ็นเอ (RNA) ของไวรัสในน้ำลาย น้ำไขสันหลัง ปมรากผม ปัสสาวะ ปัจจุบันได้ทำการตรวจยืนยันให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ตั้งแต่ปี 2544-2553 มากกว่า 60 ราย และวิธีการนี้ได้รับการบรรจุในคู่มือขององค์การอนามัยโลก เพราะแม้ผู้ป่วยจะเสียชีวิตทุกราย แต่การวินิจฉัยยืนยันที่ถูกต้องจะนำไปสู่การค้นหาต้นตอของโรค ซึ่งพุ่งเป้าไปยังกลุ่มสุนัขที่กัดผู้ป่วย เพราะนอกจากจะแพร่โรคให้ผู้ป่วยแล้ว ยังมีโอกาสแพร่โรคไปยังสุนัขใกล้เคียง
          ซึ่งเท่ากับเป็น "ระเบิดเวลาเคลื่อนที่" พร้อมที่จะแพร่โรคต่อไปได้อีก 
 

 pageview  1205838    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved