Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 06/08/2555 ]
ห่วงใย ใส่ใจสุขภาพ: กับองค์การเภสัชกรรมต้องตรวจสอบข้อมูลอะไรบ้างก่อนรับยา

 จากช่วงฝนชุกผสมกับพายุแรงขึ้นในพื้นที่ต่างๆหลายคนคงกังวลใจกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงบ่อย บรรยากาศที่ดูมืดครึ้มและความชื้นที่มีมาก จนทำให้รู้สึกว่าหน้าฝนนั้นเป็นฤดูกาลของสารพัดโรค ไม่เพียงแต่การเจ็บป่วยไม่สบาย แต่น้ำฝนที่ตกลงมาอาจนำมาซึ่ง โรคอื่นๆ ได้อีกด้วย ทำให้ร่างกายเจ็บป่วยจาก ไข้หวัด พร้อมโรคแทรกซ้อน ทั้งการติดเชื้อจากคนใกล้ตัว จากสภาพอากาศชื้นที่หลีกเลี่ยงได้ยาก
          ดังนั้นเมื่อเจ็บป่วยไม่สบาย จึงต้องไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการและสั่งยาเพื่อบรรเทาอาการเจ็บป่วย แต่ ทุกครั้งที่แพทย์หรือเภสัชกรจ่ายยาให้ เราอาจละเลยในการตรวจสอบข้อมูลของยาที่ได้รับ วิธีการใช้ยา นำมาซึ่งผลที่ตามมาทั้งอาการแพ้ยา ทานยาไม่ครบตามกำหนด  นำมาซึ่งอันตรายในการใช้ยาที่ไม่ ถูกต้องได้
          นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม  ได้ให้ความรู้เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยาว่าควรมีความรู้ในการตรวจสอบข้อมูลของยาว่าต้องมีอะไรบ้าง ทุกครั้งเวลารับยา จำเป็นต้องตรวจสอบชื่อและนามสกุลหน้าซองยาทุกครั้งและทุกซองว่า ใช่ยาของเราหรือไม่ บางครั้งอาจเกิดเหตุการณ์
          เช่นชื่อเหมือนกันแต่คนละนามสกุล ทำให้รับยาผิดคนได้ อาจเกิดอันตรายตามมา ต้องตรวจสอบชนิดยาและวิธีรับประทานยาโดยเฉพาะผู้ป่วยที่ได้รับยาอย่างต่อเนื่องในโรคเรื้อรัง อาจจำเป็นต้องดูว่ายาที่ได้และวิธีรับประทานเหมือนกับทุกครั้งหรือไม่ หรือถ้าได้รับยาหรือพบว่าวิธีการรับประทานยามีการเปลี่ยนแปลงจากครั้งก่อนหน้านี้ ควรแจ้งเภสัชกรหรือแพทย์ให้ทราบทันที ซึ่งอาจเกิดจากแพทย์เปลี่ยนยาแล้วไม่ได้แจ้งให้ผู้ป่วยทราบ หรืออาจมีการจ่ายยาผิดชนิดได้
          กรณีผู้ป่วยมีประวัติแพ้ยาก็ควรแจ้งให้แพทย์ หรือ เภสัชกรทราบทุกครั้ง เพื่อป้องกันการจ่ายยาหรือกลุ่มยา หรือยาต่างกลุ่มสามารถแพ้ข้ามกันกับยาที่ผู้ป่วยมีอาการแพ้ เพราะหากแพ้ยาซ้ำอาการมักรุนแรงกว่าครั้งแรก
          สิ่งที่พึงปฏิบัติอีกเรื่องหนึ่งคือผู้ป่วยที่ได้ รับยาควรต้องดูจำนวนที่หน้าซองว่าได้รับครบและตรงตามกำหนดการได้รับยา ครั้งหน้าหรือไม่เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับประทานยาได้อย่างต่อเนื่องจนถึงวันนัด และไม่เป็นการเสียเวลาหากยาไม่ครบแล้วต้องมาติดต่อทางโรงพยาบาลอีกครั้งหนึ่ง
          นอกเหนือจากการต้องตรวจสอบความถูกต้องของชื่อ ชนิดของยา วิธีใช้ และจำนวนสอดคล้องกับกำหนดนัดครั้งต่อ
          ไปแล้ว เป็นสิทธิที่ผู้รับบริการทุกรายควรได้รับหรือควรสอบถามเพิ่มเติม คือ ชื่อยา ซึ่งบ่อยครั้งอาจจำไม่ได้ แต่สามารถบันทึกได้ หรือเก็บซองนั้นไว้ หากพบว่าเกิดอาการข้างเคียงรุนแรงจะได้ทราบชื่อยา
          เพื่อลดอาการข้างเคียงจากการใช้ยาสิ่งสำคัญสุดท้ายที่ควรสอบถามอีกเรื่องคือ ข้อควรระวังในการใช้ยานั้นๆ เช่น หลังรับประทานยาลดความดันโลหิตบางประเภทให้นั่งพัก หรือนอนนิ่งสัก 10 นาที เพื่อป้องกันอาการหน้ามืด หรือล้มลงเนื่องจากความดันโลหิตลดต่ำทันที หรือรับประทานยาจิตเวชบางอย่าง ห้ามรับประทานอาหารที่มีนมเนยมาก หรือรับประทานยาขับปัสสาวะฟูโรซีไมด์ แล้วควรรับประทานกล้วย ส้ม แตงโมเพิ่มเติม หรือหากเกิดอาการแพ้จะต้องรีบ หยุดยา และไปพบแพทย์หรือเภสัชกรในทันที
          การตรวจสอบข้อมูลของยาจึงมีความจำเป็นอย่างมาก  เป็นขั้นตอนก่อนที่เราจะนำยานั้นมารับประทาน หากมีปัญหาหรือไม่เข้าใจ ควรขอคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อให้ยาที่เรารับประทานเกิดประสิทธิภาพสูงสุด และทำให้อาการเจ็บป่วยไม่สบายบรรเทาลงและเป็นปกติไม่ลุกลามต่อไป

 pageview  1205847    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved